การสะกดจิตย้อนอดีตชาติ เรื่องน่าสนใจที่ฉันกำลังศึกษาช่วงนี้

การสะกดจิตย้อนอดีตชาติ  เรื่องน่าสนใจที่ฉันกำลังศึกษาช่วงนี้

โดย สมิทธิ  อินทร์พิทักษ์



หลังจากกอดแมวตัวนี้ที่ร้านตัดผม ก็เกิดนึกอยากเขียนบทความนี้ขึ้นมา

 พอดีว่าช่วงนี้ได้อ่านหนังสือแนวระลึกชาติและการสะกดจิตบำบัดแบบย้อนอดีตชาติมา ๓ ถึง ๔ เล่ม ก็เลยอยากจะมาเล่าให้ฟัง (เล่าให้อ่าน) เผื่อว่ามีคนสนใจและอยากเรียนรู้ ทั้งนี้ขอบอกก่อนว่า ข้อมูลที่จะนำมาแลกเปลี่ยนต่อไปนี้ รวบรวมและสรุปมาจากหนังสือที่อ่าน ซึ่งเป็นงานแปลจากภาษาอังกฤษ และอ่านจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเลยทั้งหมด "ไม่ได้คิดเอง หรือแต่งขึ้นมาเองแต่อย่างใด" แม้ส่วนตัวอยากจะลองบำบัดด้วยวิธีการนี้ดูบ้างก็ตาม 555 

     การบำบัดย้อนอดีตชาติ (Past Life Regression Therapy) เป็นวิธีการบำบัดทางจิตวิทยาที่ใช้เพื่อเชื่อมโยงกับความทรงจำจากชีวิตในอดีตชาติ โดยมักใช้ในการค้นหาสาเหตุของความกลัว ความเจ็บปวด หรือปัญหาที่ส่งผลต่อชีวิตปัจจุบัน หลักการสำคัญของการบำบัดนี้คือเชื่อว่าจิตวิญญาณของคนเรานั้น ผ่านการกลับชาติมาเกิดหลายครั้ง และเหตุการณ์ในอดีตชาติที่ดวงจิตนั้นเคยประสบอาจมีผลต่อการใช้ชีวิตในชาตินี้

 ในการบำบัดนั้นผู้ที่จะเข้ารับการบำบัดจะได้รับการเตรียมตัวให้พร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยนักบำบัดมักเริ่มต้นด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับความคาดหวัง ปัญหาที่ต้องการแก้ไข และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการบำบัด เพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดผ่อนคลายและเปิดใจที่จะเผชิญกับประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยส่วนมากเกี่ยวทุกเคสจะเริ่มจากการทำสมาธิหรือการสะกดจิตอ่อน ๆ เพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดเข้าสู่สภาวะที่ผ่อนคลายลึก เพื่อช่วยให้จิตใจสามารถเข้าถึงชั้นลึกของความทรงจำที่อาจถูกลืมไปในชีวิตประจำวัน (ว่ากันว่าเป็นการดำดิ่งลงไปในจิตใต้สำนึก ซึ่งเท่าที่อ่านเข้าใจว่าจิตตัวนี้แหละที่สั่งสมความทรงจำจากอดีตชาติไว้)

   เมื่อผู้เข้ารับการบำบัดอยู่ในสภาวะผ่อนคลายลึก นักบำบัดจะนำพาให้พวกเขาเริ่มเดินทางไปยังอดีตชาติ โดยมักจะเริ่มด้วยการกลับไปในวัยเด็กของชาติปัจจุบันก่อน ใช้คำถามที่ช่วยกระตุ้นให้ความทรงจำจากชีวิตในอดีตปรากฏขึ้น เช่น "ลองมองไปรอบๆ คุณเห็นอะไร" หรือ "คุณรู้สึกว่าคุณอยู่ที่ไหน" ขั้นตอนนี้ช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดเริ่มเชื่อมโยงกับภาพหรือความรู้สึกจากอดีตชาติของตน

    ในระหว่างการบำบัด ผู้เข้ารับการบำบัดอาจพบเหตุการณ์หรือประสบการณ์จากอดีตชาติที่เกี่ยวข้องกับความกลัวหรือปัญหาในชีวิตปัจจุบัน เช่น การรู้สึกกลัวความสูงที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาจมาจากประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตชาติเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความสูง (ตกตึก ตกเครื่องบิน หรืออะไรก็ตามที่ความสูงกระทบจิตใจมาก ๆ ในชาติก่อน) การเผชิญหน้าและระลึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้สามารถนำไปสู่การปลดปล่อยบาดแผลและความรู้สึกเจ็บปวดที่เก็บกดไว้มานาน

  เมื่อได้ระลึกถึงประสบการณ์จากอดีตชาติ นักบำบัดจะช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดทำความเข้าใจกับเหตุการณ์และหาวิธีที่จะเยียวยา เช่น การปล่อยวางความกลัว การให้อภัยตนเองหรือผู้อื่น และการเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่เป็นอุปสรรคในชีวิต การบำบัดจุดนี้จะเน้นการผนวกข้อมูลที่ได้รับจากอดีตชาติเพื่อใช้ในการเยียวยาตนเองในชีวิตปัจจุบัน

       เมื่อการบำบัดเสร็จสิ้น นักบำบัดจะนำพาผู้เข้ารับการบำบัดกลับสู่สภาวะตื่น โดยค่อย ๆ พาพวกเขากลับมาจากอดีตชาติและตื่นจากสภาวะสะกดจิต การพูดคุยหลังการบำบัดเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดสามารถสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ได้รับและพิจารณาวิธีที่จะนำข้อมูลที่ได้เหล่านั้นไปใช้ในชีวิตชาติปัจจุบัน

    จากประสบการณ์ของผู้ที่ประสบกับความกลัวที่ไม่มีสาเหตุ หรือความเจ็บปวดทางอารมณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ พบว่าการบำบัดย้อนอดีตชาติสามารถช่วยให้พวกเขาเข้าใจรากเหง้าของปัญหานั้น และช่วยปลดปล่อยความกลัวหรือบาดแผลได้ บางครั้งการบำบัดนี้ช่วยให้คนเราสามารถค้นหาความสัมพันธ์กับคนในชีวิตปัจจุบันที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตชาติ เช่น เพื่อน คู่รัก หรือศัตรู การรู้เรื่องราวจากอดีตชาติอาจช่วยให้คุณเข้าใจและเยียวยาความสัมพันธ์ในปัจจุบันได้ดีขึ้น

 ต่อไปจะเล่าถึงหนังสือที่อ่านซึ่งพูดถึงการสะกดจิตและการระลึกชาติ เรื่องแรกคือ Many Lives, Many Masters เขียนโดย Dr. Brian Weiss

     โดยหนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวของ Dr. Brian Weiss ซึ่งเป็นจิตแพทย์ที่ค้นพบการบำบัดย้อนอดีตชาติผ่านประสบการณ์การบำบัดผู้ป่วยที่ชื่อว่า แคทเธอรี ผู้ป่วยรายนี้มีปัญหาทางจิตใจอย่างรุนแรงและเข้ารับการบำบัดจาก Dr. Weiss หลังจากที่เทคนิคการรักษาทั่วไปไม่ประสบความสำเร็จ เขา (ดร.ไบร์อัน) จึงตัดสินใจทดลองใช้การสะกดจิตเพื่อช่วยเธอย้อนกลับไปยังอดีตชาติ (เกิดขึ้นโดยบังเอิญตอนแรกแค่ย้อนวัยเด็ก แต่แคทเธอรีดันไปถึงอดีตชาติ) และสิ่งที่ได้คือการระลึกถึงชีวิตหลายชาติที่แคทเธอรีนเคยเกิดเป็น รวมถึงการพบกับ "มาสเตอร์" (จิตวิญญาณขั้นสูง ไร้รูป)  เรื่องมาสเตอร์นี้จะมาพูดถึงในอีกบทความหนึ่งเพราะละเอียดมากซึ่งจะเป็นข้อมูลมาจากหนังสืออีกเล่มคือ Messages From the Masters Tapping into the Power of Love เขียนโดย Dr. Brian Weiss เหมือนกัน (มีแปลไทย ชื่แ ความหมายของการมีชีวิต สำนักพิมพ์ OMG) ซึ่งเป็นผู้ที่คอยให้คำแนะนำจากอดีตชาติ


    หนังสือเล่มนี้ (Many Lives, Many Masters) เป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจเรื่องการระลึกชาติในโลกการบำบัด ซึ่ง Dr. Weiss ได้ใช้วิทยาศาสตร์ทางจิตวิทยามาผสานกับแนวคิดทางจิตวิญญาณ โดยสาระสำคัญจากหนังสือคือการที่การระลึกชาติสามารถช่วยเยียวยาบาดแผลทางจิตใจที่สั่งสมมาจากอดีตชาติได้ และยังช่วยให้ผู้ป่วยปล่อยวางความกลัวและความทุกข์ในชีวิตปัจจุบัน กรณีของแคทเธอรีนคือเธอเคยประสบกับเหตุการณ์เสียชีวิตในอดีตชาติที่เธอจมน้ำ (คลื่นยักษ์พัดถล่มเมืองในชาติก่อน) และในชีวิตปัจจุบันเธอมีความกลัวน้ำโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน การระลึกถึงอดีตชาตินี้ช่วยให้เธอสามารถปลดปล่อยความกลัวได้ และภายหลังเธอสามารถเอาชนะความกลัวน้ำในชีวิตจริงได้

      หนังสือเล่มต่อมาคือเรื่อง Journey of Souls เขียนโดย Dr. Michael Newton หนังสือเล่มนี้เน้นเรื่องการระลึกถึง "ช่วงเวลาระหว่างชาติ" (ช่วงเวลาที่จิตวิญญาณของจากร่างเก่าแล้วยังไม่เข้าสู่ร่างใหม่) 

     Dr. Michael Newton ได้พัฒนาวิธีการสะกดจิตเพื่อนำผู้ป่วยย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่จิตวิญญาณของพวกเขายังไม่มาเกิดใหม่ แต่เป็นช่วงที่พวกเขาอยู่ในโลกวิญญาณ ซึ่งเน้นไปที่การเดินทางของจิตวิญญาณระหว่างชาติ และการวางแผนสำหรับการเกิดใหม่ (Soul Plan) รวมถึงการเลือกครอบครัวและบทเรียนที่จิตวิญญาณต้องการเรียนรู้ในชาติถัดไป ถือว่าเป็นเล่มบุกเบิกในเรื่องการระลึกถึงการเดินทางของจิตวิญญาณที่ลึกกว่าเพียงแค่การย้อนอดีตชาติ โดยเน้นถึงบทเรียนที่จิตวิญญาณต้องการเรียนรู้ในแต่ละชาติ ทำให้เข้าใจเรื่องของการพัฒนาทางจิตวิญญาณได้ดียิ่งขึ้น และชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของชาติต่าง ๆ ในแง่ของการเติบโตทางจิตวิญญาณ

     หนึ่งในเคสที่ Dr. Newton นำมาเล่าคือ ผู้ป่วยรายหนึ่งที่สามารถระลึกถึงช่วงเวลาหลังจากที่เขาเสียชีวิตในอดีตชาติ เขาอธิบายว่าจิตวิญญาณของเขาได้พบกับ "ที่ปรึกษาทางวิญญาณ" (หรืออาจเรียกว่า มาสเตอร์ Master) ซึ่งช่วยนำทางเขาไปยังโลกวิญญาณและเตรียมเขาสำหรับการกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง


    เล่มต่อมาคือเรื่อง The Search for Past Lives เขียนโดย Bryan Jameison ในเล่มนี้มีการเล่าถึงผู้ป่วยที่มีความกลัวการถูกทอดทิ้งอย่างรุนแรงในชีวิตปัจจุบันสามารถระลึกถึงอดีตชาติที่เขาเคยเป็นทาสที่ถูกทิ้งให้ตายอยู่ในสถานที่ที่ห่างไกล การระลึกถึงเหตุการณ์นั้นทำให้เขาสามารถปล่อยวางความกลัวจากอดีตชาติ และสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ในชีวิตปัจจุบันได้ดีขึ้น
    อีกเล่มหนึ่งที่เป็นเล่มแรกที่เราได้อ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้คือเรื่อง เมื่อลูกน้อยพูดถึงชาติก่อน (อ่านฉบับภาษาไทยเพราะตอนนั้นทักษะภาษาอังกฤษยังต่ำเตี้ยเรี่ยดิน) แปลจาก Children’s Past Lives: How Past Life Memories Affect Your Child" เขียนโดย Carol Bowman ซึ่งเล่าถึงการศึกษาความทรงจำของเด็กที่เกี่ยวข้องกับอดีตชาติ 

    เธอเริ่มศึกษาพฤติกรรมที่ไม่ปกติในตัวลูก ๆ ของเธอ เธอมิได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามค้นคว้าหาสาเหตุที่ทำให้ลูกๆ เป็นเช่นนี้และด้วยความเอาใจใส่อย่างเข้าใจและเปี่ยมด้วยความรักของแม่ เธอได้ช่วยให้ลูกๆ ของเธอหลุดพ้นจาก "รอยทรงจำ" จากอดีตชาติ และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติชนที่มีความสุขและเป็นคนดีนอกจากนี้เธอยังได้ช่วยพ่อแม่คู่อื่นๆ ให้เข้าใจและช่วยลูกๆ ของพวกเขาอีกมาก เธอได้เขียนบันทึกประสบการณ์เหล่านี้ รวมทั้งให้ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่มีลูกหรือเด็กในปกครอง ซึ่งอาจยังมีความทรงจำในอดีตชาติตกค้างอยู่ให้สามารถตอบสนองเด็กๆ ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง รอยทรงจำในอดีตชาติ


    หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นจากการที่ผู้เขียนค้นพบว่า ลูกชายของเธอเองระลึกถึงความทรงจำจากอดีตชาติได้ในขณะที่เขายังเป็นเด็กเล็ก หลังจากที่ลูกของเธอประสบกับความเจ็บปวดทางอารมณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ผ่านเหตุการณ์ในชีวิตปัจจุบัน Carol Bowman จึงเริ่มศึกษาเรื่องของความทรงจำจากอดีตชาติในเด็ก และพบว่าเด็กหลายคนมีความสามารถในการระลึกถึงชีวิตในอดีตชาติ หนังสือเล่มนี้จึงนำเสนอเรื่องราวของเด็กหลายคนที่สามารถระลึกถึงอดีตชาติ และอธิบายว่าความทรงจำเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อพฤติกรรมและความรู้สึกของเด็กในชีวิตปัจจุบัน

      Carol Bowman กล่าวว่า เด็กมักระลึกถึงอดีตชาติได้ง่ายกว่า เพราะจิตของพวกเขายังเปิดรับและยังไม่ถูกปิดกั้นโดยประสบการณ์ชีวิตในปัจจุบัน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต เช่น ความเจ็บป่วยหรือความทรงจำที่สดใสอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กนึกถึงชีวิตในอดีต เด็กบางคนอาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่สามารถอธิบายได้ เช่น ความกลัวที่ไม่มีสาเหตุ ความฝันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตที่พวกเขาไม่เคยประสบมาก่อน หรือความเจ็บป่วยที่ไม่สามารถหาสาเหตุในทางการแพทย์ การระลึกถึงอดีตชาติสามารถช่วยให้เด็กเหล่านี้เยียวยาจากบาดแผลทางจิตใจและร่างกายได้

      เธอได้เล่าถึงเรื่องของเด็กผู้ชายที่มีความกลัวเครื่องบินอย่างรุนแรง เขามักมีฝันร้ายเกี่ยวกับเครื่องบินที่ตกอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อนำตัวเด็กเข้าสู่การบำบัดและเขาสามารถระลึกถึงอดีตชาติได้ เด็กชายพบว่าตัวเองเคยเป็นนักบินที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การที่เขาได้ระลึกถึงเหตุการณ์นี้ช่วยให้เขาสามารถปลดปล่อยความกลัว และลดความฝันร้ายที่เคยประสบมาได้อย่างมาก

      อีกตัวอย่างหนึ่งคือกรณีของเด็กหญิงที่มีความกลัวน้ำและฝันร้ายเกี่ยวกับการจมน้ำ เมื่อนำเธอเข้าสู่การบำบัดย้อนอดีตชาติ เธอสามารถระลึกถึงชีวิตที่เธอเคยจมน้ำตายในอดีตชาติได้ ซึ่งการระลึกชาตินี้ช่วยให้เธอสามารถเอาชนะความกลัวน้ำในชีวิตปัจจุบัน

   เรื่องที่ตกเรา (ทำให้อ่านเล่มนี้จนจบ) คือ เรื่องของเชส (Chase) เป็นหนึ่งในกรณีที่ Carol Bowman ยกมาในหนังสือ (เรื่องแรกเลย) โดย เชสเป็นเด็กชายอายุ 5 ขวบ ที่เริ่มแสดงพฤติกรรมแปลก ๆ ที่ทำให้พ่อแม่ของเขากังวล โดยเฉพาะเมื่อเชสมีความกลัวอย่างรุนแรงเกี่ยวกับเสียงฟ้าร้องและฟ้าผ่า ซึ่งดูเหมือนเป็นปฏิกิริยาที่เกินกว่าที่เด็กทั่วไปจะมีต่อเสียงฟ้าผ่า นอกจากนี้เขายังมีความฝันและการเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตที่เขาเคยเป็น "ทหาร" และเล่าถึงรายละเอียดของการเสียชีวิตในสนามรบอย่างชัดเจน

 ในระหว่างที่พ่อแม่ของเขาเริ่มสังเกตเห็นว่าเชสพูดถึงเรื่องราวที่ไม่สมเหตุสมผลสำหรับเด็กวัยนี้ เขาพูดถึงการใช้ปืนใหญ่ในสงคราม พ่อแม่ของเชสได้ทำการปรึกษาและขอความช่วยเหลือจาก Carol Bowman พวกเขาพบว่าการให้เชสได้เล่าเรื่องราวและระลึกถึงอดีตชาติเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้เขาปลดปล่อยความกลัวที่ติดมากับเขา เชสได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตในอดีตชาติที่เขาเป็นทหารและตายในสนามรบที่มีเสียงระเบิดดังกึงก้องอยู่เสนอ

   หลังจากที่เขาสามารถระลึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเสียชีวิตในอดีตชาติได้ ความกลัวที่เกี่ยวกับฟ้าร้องฟ้าผ่าของเชสก็เริ่มลดลง พฤติกรรมที่แสดงความกลัวต่อเสียงฟ้าผ่า และเสียงดังต่าง ๆก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการระลึกชาติช่วยให้เชสปล่อยวางบาดแผลทางจิตใจที่ส่งผลต่อเขาในชีวิตปัจจุบัน

     ในกรณีของ เชส ยังมีประเด็นเกี่ยวกับ รอยแผล (บ้างก็เป็นปานแดง ปานดำ) เป็นที่เชื่อมโยงกับความทรงจำจากอดีตชาติ โดยมีเด็กหลายคนที่สามารถระลึกถึงอดีตชาติและแสดงออกทางกายภาพผ่านรอยแผลเป็นหรืออาการป่วยที่ไม่สามารถอธิบายได้ทางการแพทย์ ซึ่งมีความเชื่อว่ารอยแผลเป็นบางครั้งเป็นผลพวงจากการบาดเจ็บหรือเหตุการณ์ในอดีตชาติ เมื่อเชสระลึกชาติได้ แผลเป็นนั้นปกติเคยเป็นผืนแดงและแสบร้อนก็หายเป็นปกติ (รอยแผลของเชสคือรอยที่ถูกยิง หรือ ระเบิดนี่แหละในชาติที่เกิดเป็นทหาร)

   อีกเคสคือ เด็กที่ระลึกถึงอดีตชาติซึ่งเขาเคยถูกแทงที่ท้อง และในชีวิตปัจจุบันเด็กคนนั้นมี รอยแผลเป็นบนร่างกายตรงตำแหน่งเดียวกัน กับตำแหน่งที่เขาระลึกถึงว่าเคยถูกแทงในอดีตชาติ นอกจากนี้เด็กยังรู้สึกเจ็บปวดในบริเวณนั้นอยู่บ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การบาดเจ็บหรือการผ่าตัดในชีวิตปัจจุบัน

  หลังจากที่เด็กได้เล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตชาติและเข้าใจถึงสาเหตุของความเจ็บปวดในปัจจุบัน ความเจ็บปวดที่บริเวณนั้นก็เริ่มหายไป และรอยแผลเป็นนั้นก็ลดความสำคัญลงในด้านจิตใจและอารมณ์

    Carol Bowman อธิบายว่า รอยแผลเป็นและความเจ็บปวดทางกายอาจเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่สั่งสมมาจากอดีตชาติ เมื่อเหตุการณ์นั้นมีผลกระทบอย่างรุนแรงจนจิตวิญญาณไม่สามารถปลดปล่อยหรือเยียวยาได้ การระลึกชาติและการเผชิญหน้ากับบาดแผลทางอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยปลดปล่อยบาดแผลทางกายที่มีผลต่อชีวิตปัจจุบันได้


ในหนังสือเรื่อง Old Soul เขียนโดย Tom Shroder ซึ่งตีพิมพ์ในภาษาไทยเรื่อง กี่ภพกี่ชาติ ? แปลโดย อรทัย  เจริญชาติ เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวการระลึกชาติของเด็กๆ ที่สามารถบอกเล่าความเป็นไปในชาติก่อนได้อย่างชัดเจน มีการค้นหาหลักฐานต่างๆ ทั้งบุคคลสถานที่ และวัตถุ สืบค้นเหตุการณ์ที่เด็กเหล่านั้นได้กล่าวอ้างว่าเคยเกิดขึ้นจริง เล่าถึงเรื่องราวที่มนุษยชาติค้างคาใจมาเนิ่นนาน ทั้งการเกิด การตาย มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน และรอยแผลเป็นหรือรอยตำหนิบนร่างกายในปัจจุบันนั้นเป็นเครื่องบ่งบอกว่าเขาคือใคร และเกี่ยวพันกันอย่างไรเมื่อในอดีต เช่น ปาน แผลเป็น ต่าง ๆ ตัวอย่างการระลึกชาติในหนังสือเล่มนี้คือ เรื่องราวของชูชัน ญะนัม เด็กหญิงคนหนึ่งขณะเป็นเด็กทารกราวปี 1973 ชูชันพูดถึงความทรงจำเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่เสียชีวิตหลังการผ่าตัดหัวใจในโรงพยาบาลเวอร์จีเนีย พ่อแม่ของซูชันบอกว่า ตั้งแต่พูดคำแรกได้ ชูซันจะยกหูโทรศัพท์และขอพูดกับ"ลัยลา" อย่างรีบร้อน ต่อมาจึงรู้ว่าลัยลาคือบุตรสาวของหญิงที่เสียชีวิตผู้นั้น บุคคลในครอบครัวบอกว่า หญิงผู้นั้นพยายามโทรศัพท์หาลัยลาก่อนจะเสียชีวิตเล็กน้อย แต่เธอต่อโทรศัพท์ไม่ติด 


ในหนังสือเรื่อง ชีวิตระหว่างภพ (Life between Life) เขียนโดย ดร.โจน เอล วิตตัน และ โจ ฟิชเชอร์ ได้ศึกษาถึงช่วงเวลาดังกล่าว (ชีวิตระหว่างภพ) คือช่วงพักระหว่างชาติภพไว้ว่า เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกวิเศษมาก เป็นความเบิกบานและผ่องแผ้ว แสงอันแสนเจิดจ้าอย่างไม่มีร่างสังขารอย่างที่อยู่บนโลก มีแต่ร่างเป็นเงาๆ เป็นกายทิพย์ ไม่ได้เดินอยู่บนอะไรเลย ที่นี่ไม่มีพื้นดิน ไม่มีท้องฟ้า ไม่มีชอบเขต ทุกอย่างเปิดโล่ง มีบุคคลอื่นอยู่ด้วย เมื่อจะสื่อสารกัน เราไม่มีความจำเป็นต้องฟัง ไม่มีความจำเป็นต้องพูด ซึ่งสภาวะที่เปี่ยมด้วยพรอันประเสริฐนี้        

     ดร.วิตตันเรียกว่า "อภิจิต" สามารถให้คำจำกัดความได้ว่า เป็นการเห็นความจริงที่อยู่เหนือภาวะความเป็นอยู่ที่เรารู้จัก เป็นภาวะที่ต่างกับการฝันต่างจากประสบการณ์ที่คนถอดกายทิพย์ออกจากร่างสังขาร ต่างจากการระลึกชาติ และต่างจากสภาวะของจิตที่เปลี่ยนไปจากปกติทุกสภาวะ การมีอภิจิตคือการเข้าไปรวมอยู่กับความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์แบบ คือการยินยอมให้ความเป็นตัวของตัวเองหมดไปเพื่อที่จะได้รับความรู้สึกที่ตระหนักในความเป็นตัวของตัวเองยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งดูจะเป็นการพูดที่ขัดแย้งกัน แต่ก็เป็นความจริง

   การมีอภิจิตคือการเป็นอิสระจากความผูกพันกับกายสังขาร มีความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล กลายเป็นเมฆก้อนหนึ่งที่เป็นส่วนของเมฆที่ไม่มีชอบเขต  เหมือนกับว่าชีวิตของดินแดนระหว่างภพอยู่ในบรรยากาศของการล่องลอย ของความว่างเปล่าที่เบาดุจปุยฝ้าย แต่ชีวิตระหว่างภพไม่ใช่โลกในเทพนิยาย ผู้ที่เคยลิ้มรสความรุ่มรวยของที่นั่นรู้ว่าพวกเขาได้เข้าไปพบกับความจริงสูงสุด สถานที่ของจิตวิญญาณที่เราได้จากมาเพื่อปฏิสนธิ และที่เราจะกลับไปหลังความตายของกายสังขาร

จากคำอธิบายจากหนังสือเรื่อง ชีวิตระหว่างภพ พบว่าสภาวะที่ดวงจิตแยกออกจากร่าง มีภาวะการพักรอ หรือใช้คำศัพท์ตามหนังสือเล่มนี้คือ ภาวะอภิจิต ซึ่งเ

จากการกล่าวถึงภาวะอภิจิตนี้ มีความใกล้เคียงกับแนวคิดในหนังสืออุปนิษัทของอินเดียที่เขียนขึ้นประมาณศตวรรษที่หกก่อนคริสตกาล โดยมีใจความว่า อัตตาไม่ตายเมื่อร่างสังขารได้ตายไป อัตตาจะซ่อนอยู่ในหัวใจของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงคืออาตมัน จิตและอัตตาเป็นสิ่งที่เล็กที่สุด เล็กยิ่งกว่าอะตอม และใหญ่ยิ่งกว่าบริเวณที่กว้างใหญ่ที่สุดทั้งหมด 

       จากหนังสือที่นำมาเล่าให้ฟัง (ให้อ่าน) ในบทความความนี้ ทำให้เราเห็นว่า มีเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้เราศึกษา ส่วนตัวมาศึกษาเรื่องราวพวกนี้จากหนังสือสารตั้งต้นเล่มแรกคือ เมื่อลูกน้อยพูดถึงชาติก่อน ซึ่งจำได้เลยว่าอ่านเล่มนี้ตอนเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งล่วงเลยมานานมากก่อนจะเขียนบทความในวันนี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจและเป็นความรู้ใหม่สำหรับคนที่เริ่ม "จะ" หันมาสนใจเรื่องราวเหล่านี้ครั้งแรก


สมิทธิ  อินทร์พิทักษ์

20 ตุลาคม 2567

วันที่อยากกินหมาล่าเป็นอาหารกลางวันแต่ร้านดันเปิด 4 โมงเย็น


ความคิดเห็น