วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

หรือความเป็นเด็กจะถูกกลืนหาย ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก

หรือความเป็นเด็กจะถูกกลืนหาย

ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก : ความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก

                                                                                        โดย  สมิทธิ อินทร์พิทักษ์





มีเมืองแห่งหนึ่ง
ที่ซึ่งอบอุ่น วัยเด็กของเราอยู่ที่นั่น
นานเหลือเกิน
นานมาแล้ว
ที่พัดผ่านเราไป...
คืนนี้ฉันรีบเดินออกจากบ้าน
ไปสถานีรถไฟ
เข้าแถวซื้อตั๋ว
ครั้งแรกในหนึ่งพันปี
อาจเป็นอย่างนั้น
ขอตั๋วใบหนึ่ง
กลับไปสู่วัยเด็ก


นี่เป็นส่วนหนึ่งของบทกวี เมืองแห่งวัยเด็ก เขียนโดย กวีชาวรัสเซีย รอเบิร์ต รอจเดสเวนกี ซึ่งถูกยกมาปิดท้ายเรื่อง ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก วรรณกรรมรางวัลซีไรต์ปี ๒๐๑๐ จากประเทศเวียดนาม แต่งโดย เหงวียน เหญิต อั๋นห์ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของผู้เขียน(หมุ่ย)และพ้องเพื่อน(ยัยตี๋ฟันหลอ เจ้าฮายแคระ และยัยตุ่น)ในวัยเด็กซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวนิดมุมมองของพวกเด็กๆ และเหล่าบรรดาผู้ใหญ่ที่เด็กๆ ในเรื่องได้พบเจอด้วย

ประเด็นเรื่องความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กถูกยกมากล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งในเรื่อง ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็กก็เช่นกัน เนื้อหาทั้งเรื่องถึงแม้จะถูกเล่าผ่านเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตเด็กแต่ในเนื้อหาก็ได้ทิ้งประเด็นไว้ให้ชวนคิดมากมาย
จากบทกวีที่ยกมาข้างต้นเราจะเห็นได้ว่า มีเมืองแห่งหนึ่งที่อบอุ่นและวัยเด็กของเราอยู่ที่นั่น คืนนี้ฉันซื้อตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก น่าแปลกใจและน่าตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดกันผู้เขียน (ผู้ใหญ่) ถึงอยากกลับไปสู่วัยเด็ก

วัยผู้ใหญ่นั้นมันไม่น่าชื่นชมอภิรมย์ขนาดนั้นเชียวหรือถึงกับขนาดอยากซื้อตั๋วสักใบเพื่อกลับไปสู่วัยเด็ก
เด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ในทางกลับกันผู้ใหญ่ในวันนี้ล้วนแต่เคยเป็นเด็กมาก่อนทั้งสิ้นไม่มีใครลืมตาดูโลกแล้วโตเป็นผู้ใหญ่เลย สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ใหญ่ทุกวันนี้ทำไมถึงลืมความเป็นเด็กที่ตัวเองเคยเป็น มุมมองความคิดทัศนคติต่อโลกในยามที่ตนเองเป็นเด็กหายไปไหนหมดทั้งๆ ที่ผู้ใหญ่ล้วนแต่เคยเป็นเด็กน่าจะจำภาพความเป็นเด็กได้ กลับกันผู้ใหญ่ทุกวันนี้ล้วนแต่เป็นผุ้ใหญ่ที่ไม่มีความเป็นเด็กหลงเหลืออยู่เลยราวกับลืมตาดูโลกแล้วกลายเป็นผู้ใหญ่ทันทีฉันใดฉันนั้น

ที่กล่าวมาข้างต้นมิใช่ต้องการให้ผู้ใหญ่ทุกคนละทิ้งความเป็นผู้ใหญ่และแสวงหาตัวตนความเป็นเด็กกลับคืนมาแต่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีมุมมองแบบผู้ใหญ่และมีมุมมองของเด็กรวมอยู่ด้วยนั้นย่อมมีประโยชน์มากมายอย่างน้อยที่สุดก็เพื่อประสานรอยร้าวหรือความไม่เข้าใจกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ซึ่งเป็นปัญหาที่มักเกินอยู่บ่อยครั้งในปัจจุบันเท่านั้นเอง ถึงอย่างไรก็อดคิดไม่ได้ว่าในบางครั้งเมื่อผู้ใหญ่เจอกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ความคิดหรือมุมมองของเด็กออกมาใช้ให้ “กาล” ถูกก็น่าสนุกไม่น้อย เพราะบางเหตุการณ์ประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้เกิดขึ้นอาจตอบคำถามบางคำถามที่สายตาของความเป็นผู้ใหญ่มืดบอดจนมองไม่เห็น

จากคำนำสำนักพิมพ์ได้มีย่อหน้าหนึ่งกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กไว้ว่า


“ น่าเสียดายที่เมื่อล่วงเข้าสู่วัยผู้ใหญ่บ้าง คุณกลับลืมเลือนประสบการณ์ในวัยเด็กเหล่านั้น
เหมือนรถไฟที่ค่อยๆ แล่นห่างออกไป จนมองไม่เห็นสถานีต้นทาง
เมื่อนึกไม่ออกว่าวันเวลาในวัยเด็กเคยสนุกอย่างไร ผู้ใหญ่ก็เลยทำ
ตัวแบบผู้ใหญ่ มีกรอบความคิดที่ขีดเส้นด้วยหน้าที่ ศีลธรรม กฎเกณฑ์ 
และตำแหน่งทางสังคม
แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มองพฤติกรรม “สร้างสรรค์” ของเด็กว่า
นอกลู่นอกทาง”

                                                           (สำนักพิมพ์เอโนเวล, ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก, หน้า ๕)

จากคำนำนี้จะเห็นว่าผู้ใหญ่มักลืมเลือนประสบการณ์ในวัยเด็กทำให้มองภาพไม่ออกว่าเด็กที่ตัวเองพบเจอนั้นคิดอะไรหรือทำอย่างนั้นได้อย่างไรเช่นตอนที่ตอนที่หมุ่ยชอบกินน้ำจากขวดแทนที่จะกินจากแก้วอย่างที่แม่บอกและหมุ่ยคิดว่าการทำอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่นในบางอย่างนั้นก็เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์และจินตนาการไม่เหมือนใครจากที่เนื้อเรื่องบรรยายไว้ว่า


“ผมยังสังเกตเห็นเด็กหลายคนชอบใช้ปากกามาทำเป็นมีดดาบและพับสมุดแบบฝึกหัดเป็นเรือ มากกว่าใช้ปากกาเขียนลงบนกระดาษสมุดตามปกติเสียอีก ถ้ามีเวลาสำรวจอย่างจริงจัง
ผมเชื่อว่ายังมีเด็กอีกหลายคนชอบกินน้ำจากขวดและกินข้าวจากกะละมัง เรื่องนี้ผมแน่ใจ”

                                                        (เหงวียน เหญิต อั๋นห์, ขอตั๋วใบหนึ่งกลับไปสู่วัยเด็ก, หน้า ๖๓ )


จากตัวอย่างเนื้อเรื่องที่ยกมานั้นก็สนับสนุนการที่ผู้ใหญ่มักมีกรอบความคิดและชอบมาเห็นความสร้างสรรค์ของเด็กเป็นเรื่องนอกลู่นอกทาง ทั้งทีทั้งนั้นตามทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ของ Malcome S. Knowles (1973) ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะชอบการชี้นำด้วยตัวเอง (Self-direction) มักจะให้การตระหนักรู้ถึงเรื่องราวเฉพาะที่มาจากชีวิตจริง ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่นอกเหนือความเป็นจริงในสังคมนั้นเป็นการยากมากที่ผู้ใหญ่จะเข้าใจได้แม้กระทั่งความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ

นอกจากนั้นในการเล่นพ่อแม่ลูกของหมุ่ยนั้นเป็นไปด้วยความสนุกสนานในขณะเดียวกันเด็กๆ ทุกคน
ในช่วงเวลานั้นก็หาความสนุกสนานกับการสมมุตบทบาทความเป็นพ่อแม่ลูกได้เช่นกัน แต่พอโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่กลับเห็นว่าเรื่องพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องสนุกอีกต่อไป จะเห็นได้ว่าผู้ใหญ่ได้ลืมความสนุกในการเล่นแบบเด็กไปแล้วเพราะด้วยเหตุผลกรอบความคิดต่างนานาที่หล่อหล่อมให้คนๆหนึ่งกลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้นั่นเอง ในมุมมองกลับกันจากการสมมุตบทบาทในครั้งนี้ของเด็กๆ ที่เล่นกันคือสมมุตเพียงบทบาทเพียงด้านเดียวในด้านการมีอำนาจและการกระทำระหว่างกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วการเป็นพ่อแม่ล้วนมีหน้าที่ตามมามากมายดังที่ทฤษฎีบทบาทของ Parsons (as cited in Eshleman, 2003) ได้อธิบายบทบาทของครอบครัวไว้ว่า ผู้เป็นบิดา เป็นบุคคลในครอบครัวที่อยู่ในฐานะของผู้ตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ด้วย บทบาทพ่อเป็นบทบาทแบบเป็นเครื่องมือ (instrumental role) เป็นบทบาทเพื่อการยังชีพ บทบาทในการหาเลี้ยงครอบครัว และการจัดการเพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกในครอบครัว และเป็นผู้นำครอบครัว มีอำนาจออกกฎเกณฑ์ ควบคุมระเบียบวินัยภายในครอบครัว และเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจปัญหาสำคัญ ๆ ในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสังคมภายนอกครอบครัว การเป็นตัวแทนทางสังคมภายในครอบครัวและเป็นตัวแทนของครอบครัวในสังคม สำหรับในส่วนมารดามีบทบาทการแสดงออก (expressive role) เป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการแสดงของอารมณ์และจิตใจ การอบรมเลี้ยงดูลูก การแสดงพฤติกรรมที่สนับสนุนให้กำลังใจผู้อื่น เป็นผู้ให้ความอบอุ่นแก่สมาชิกครอบครัว การหัวเราะ การเล่น และการผ่อนคลายอารมณ์ความตึงเครียด บทบาทของมารดาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมภายในบ้านมากกว่า มารดาจึงเป็นศูนย์รวมของระบบครอบครัว ดังนี้ยกทฤษฎีมานี้ก็เพื่อจะให้เข้าใจความเป็นผู้ใหญ่เช่นกันว่า นอกเหนือบทบาทที่แสดงความเป็นพ่อเป็นแม่หรือเป็นลูกที่เด็กๆ เล่นกันนั้น ยังมีหน้าที่และภาระต่างๆ ตามมาด้วยเช่นกัน

นอกจากกรอบความคิดเรื่องความเป็นจริงที่ตัดทอนจินตนาการของเด็กในบางส่วนแล้ว จากเรื่องยังมีการสอดแทรกค่านิยมบางประการให้เด็กการเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็กและที่เครื่องมือรองรับความคาดหวังต่างๆ จากพ่อแม่อีกด้วยจากตอนที่น้องสาวของหมุ่ยถูกแม่สอนให้ทำงานบ้านต่างๆ ตามที่เนื้อเรื่องได้บรรยายไว้ว่า


"ตอนแปดขวบน้องสาวผมหุงข้าวเป็น ทำปลาต้มเค็มได้ กวาดบ้าน ล้างจานและยัง
หัดทำงานบ้านอื่นๆ อีกมากมาย แม่ผมบอกว่า “ลูกผู้หญิงต้องทำเป็นทุกอย่าง
พอโตขึ้น แต่งงานไป คนเขาเห็นว่าลูกทำงานบ้านเก่งหรือทำอะไรไม่เป็นเลย
เขาก็จะรู้ได้เองว่าแม่สอนลูกมาอย่างไร”

                                                               (เหงวียน เหญิต อั๋นห์, ขอตั๋วใบหนึ่งกลับไปสู่วัยเด็ก, หน้า ๔๑)

ถึงแม้ถ้าดูเผินๆ จะเห็นว่าเป็นการดีที่แม่สอนให้ทำงานบ้านและการงานเป็น แต่จุดมุ่งหมายของแม่คือ พอโตขึ้นแต่งงานไป ซึ่งตรงนี้เป็นการคาดหวังที่แม่อยากให้ลูกโตขึ้นไปแต่งงานและเป็นเมียที่ดีซึ่งยังไม่ถึงเวลาที่แม่ควรจะเอ่ยคำพูดเช่นนี้กับเด็กอายุเพียงแปดขวบ ทั้งที่ทั้งนั้นเพราะมุมมองของผู้ใหญ่คือการมองอนาคตล่วงหน้าโดยไม่ได้ใส่ใจว่าตรงกับธรรมชาติและความต้องการของเด็กในวัยนั้นหรือไม่ เพราะถึงแม้เด็ก ๘ ขวบจะเริ่มมีความคิดหาเหตุผลจากนามธรรม รู้จักปัญหาทางสังคมได้บ้าง (David H. Russell, Children Learn to Read, p 51) แต่ก็ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องคู่ครองแต่อย่างใดนอกจากความแตกต่างทางความคิดแล้วภาพอุดมคติในฝันของเด็กและผู้ใหญ่ก็ไม่เหมือนกันอีกด้วย จากเนื้อเรื่องตอนที่หมุ่ยเป็นตัวเองเป็นคนละคนจากที่กลายเป็นคนตั้งอกตั้งใจอ่านหนังสือกลับมาเป็นเป็นหมุ่ยคนเดิมที่เล่นสนุกแบบเด็กทั่วไป จากที่บรรยายเอาไว้ว่า

"จะมีเพียงแต่เจ้าฮายแคระ ยัยตุ่น และยัยตี๋ฟันหลอ ที่ดีใจกับการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือ
เป็นหลังเท้าของผมในครั้งนี้ ในสายตาของพวกมัน การที่ผมตัดสินใจละทิ้งจุดสูงสุดที่เต็ม
ไปด้วยชื่อเสียงเกียรติยศ เพื่อย้อนคืนสู่วันเก่าๆ อันแสนจะมืดมิดนั้น เป็นเรื่องที่กล้าหาญและน่าภูมิใจไม่น้อยไปกว่าขุนนางราชสำนักในอดีต ที่ตัดสินใจบะทิ้งอำนาจราชศักดิ์
เพื่อหวนคืนสู่ชีวิตสามัญทีเดียว ในกรณีนี้ วีรบุรุษในอุดมคติของเด็กคงไม่เหมือนวีรบุรษในความคิดของผู้ใหญ่เสมอไป"

                                                               (เหงวียน เหญิต อั๋นห์, ขอตั๋วใบหนึ่งกลับไปสู่วัยเด็ก, หน้า ๗๖ )

ดังนั้นจึงเห็นว่าการที่หมุ่ยตั้งอกตั้งใจอ่านหนังสือเอาเป็นเอาตาย วันๆ เอาแต่ท่องหนังสือ และได้คะแนนสิบเต็มแทบทุกครั้ง แต่ชีวิตของเขาต้องเวียนวนอยู่กับความน่าเบื่อเช่นนั้นถึงแม้จะเป็นภาพลูกในอุดมคติของพ่อแม่(ผู้ใหญ่)หลายๆ คน แต่สำหรับเด็กด้วยกันแล้วนั้นกลับไม่ได้เป็นภาพในอุดมคติของเขาเลยเพราะธรรมชาติและความต้องการของเด็กคือการได้เล่นสนุกตามวัยไม่ใช่อยู่แต่ในกรอบของความเครียดและตำราเรียนเช่นนี้

การมองเห็นความเป็นไปของโลกของผู้ใหญ่และเด็กนั้นก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากตอนที่เจ้าฮายแคระและยัยตุ่นต่างไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนอายุแปดขวบ แสดงให้เห็นถึงการเข้าหาโลกที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ผู้ใหญ่มักเข้าหาโลกด้วยสมอง แต่เด็กสัมผัสโลกด้วยสัญชาตญาณ (เหงวียน เหญิต อั๋นห์, ขอตั๋วใบหนึ่งกลับไปสู่วัยเด็ก,หน้า ๑๐๐ ) กล่าวคือผู้ใหญ่มีความคิดเสริมเติมแต่งอยู่ตลอดเช่นจะต้องทำให้ตัวเองดูดี น่าเชื่อถือ อาจเป็นเพราะหน้าที่ หรือ ตำแหน่งใดๆ ก็ตามที่มาพร้อมกับความเป็นผู้ใหญ่ ในขนาดเดียวกันเด็กๆ ปฎิสัมพันธ์ต่อโลกตามความเป็นไปของโลกและธรรมชาติของวัยจริงๆ แต่ก็มักโดนขัดขวางจากผู้ใหญ่เสียร่ำไปความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กนั้นถึงแม้จะเป็นเหมือนคู่ขนานโดยยากที่จะมาบรรจบกันก็ตาม แต่ผู้ใหญ่ที่ยังมีความเป็นเด็กก็ยังคงหลงเหลืออยู่บนโลกดวงนี้ไม่น้อย ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการดีที่จะกระเทาะเปลือกของความเป็นผู้ใหญ่ที่ปิดกั้นตัวเองออกจากโลกของเด็กอยู่เสมอได้แตกออกและให้จิตวิญญาณของความเป็นเด็กที่ยังคงจับเกาะแน่นอยู่ภายนอกจิตใจไม่มากก็น้อยได้กลับคืนสู่ที่อยู่เดิมของมัน

เมื่อได้อ่านหนังสือเรื่อง ขอตั๋วใบหนึ่งกลับไปสู่วัยเด็ก จบแล้วก็ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นตั๋วนำทางชั้นดีสำหรับผู้ที่โหยหาความเป็นเด็กอีกครั้ง ไม่ใช่เพียงหนังสือเล่มนี้เป็นเปรียบเสมือนตั๋ว ความทรงจำหรือเพียงสิ่งของบางอย่างอาจนำคุณกลับไปสู่วัยเด็กได้ ของชิ้นนั้นอาจจะเป็น หมอนเปื้อนฝุ่นที่อยู่ในตะกร้ามานาน หรือตุ๊กตาหมีที่อยู่ในตู้เสื้อผ้าที่คุณไม่ได้นำมาเล่นเกือบยี่สิบปีแล้ว ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ขอให้ลองหยิบมันหรือระลึกถึงมันเพื่อที่ว่ามันจะได้พาคุณกับไปสู่ความทรงจำแสนงดงามในวัยเยาว์ได้ก่อนที่จะสายเกินไปดังบทกวี Good Questions. Bad Answers เขียนโดย Wes Magee

Where’s the rattle I shook When I was 1?
Vanished
Where’s the TeddyI hugged When I was 2?
Lost
Where’s the sand boxI played in when I was 3?
Broken up
Where’s the beach ballI kicked when I was 4?
Burst
Where’s the fortI built when I was 5?
Destroyed
Where’s the box of comicsI collected when I was 6?
Missing
Where’s the tin of marbles I had when I was 9?
Swopped
Where’s the bicycle I rode when I was 10?
Sold
What, gone? Everything
Yes, all gone,
all gone . . . .



บรรณานุกรม

พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิพงษ์. (2547). การจัดระเบียบทางสังคม: ความคิดพื้นฐานทางสังคมวิทยา.
กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เหงวียน เหญิต อั๋นห์. (2554). ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก.(แปลโดย มนธิรา ราโท).
กรุงเทพมหานคร : เอโนเวล.

David H. Russell. (1961). Children Learn to Read. New York : Ginn and Company.

Edmunds, C., K. Lowe, M. Murray, and A. Symour (1999). “The Ultimate Educator”, Excerption from the NVAA specialized offering.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น