วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562

Sense of Wonder สิ่งเล็กที่ยิ่งใหญ่ในวรรณกรรมสำหรับเด็ก

Sense of Wonder สิ่งเล็กที่ยิ่งใหญ่ในวรรณกรรมสำหรับเด็ก


บทความโดย   สมิทธิ  อินทร์พิทักษ์



  

  ดอกไม้ที่อยู่ตามทางเท้า ดอกไม้ธรรมดาที่ไร้คุณค่าในสายตาของผู้ใหญ่หลาย ๆ คน อาจเป็นสิ่งมหัศจรรย์เล็ก ๆ ของเด็กผู้หญิงตัวน้อยในหนังสือภาพเรื่อง Sidewalk Flowers เขียนและวาดภาพประกอบโดย JonArno Lawson และ Sydney Smith


      Sidewalk Flowers ดำเนินเรื่องผ่านเด็กหญิงตัวน้อยที่เห็นความงดงามของความธรรมดาจากดอกไม้ที่ขึ้นอยู่ริมทางเท้า  ดอกไม้เหล่านี้ได้สร้างคุณค่ามากมายผ่านสายตาของเด็กน้อย ภาพของเมืองสีทึมเทากลับกระจ่างสดใสด้วยสีสันที่สวยสดงดงามซึ่งเป็นการย้ำเตือนและสร้างความหมายที่พิเศษของดอกไม้จ้อย ๆ เหล่านี้  

        ผ้าคลุมสีแดงของหนูน้อยราวกับจงใจที่จะแสดงสหบทกับนิทานพื้นบ้านเก่าแก่อย่างหนูน้อยหมวกแดง (Little Red Riding Hood) แต่คราวนี้กลับไร้วี่แววของหมาป่าร้าย อย่างไรก็ตามหนูน้อยยังต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ มากมายในชีวิตจริงของสังคมสมัยใหม่ที่อาจอันตรายกว่าเดิม แต่เนื่องด้วยการเน้นภาพความสวยงามของดอกไม้ข้างทาง ปมขัดแย้งหรือสถานการณ์ที่หนูน้อยต้องเจอกลับเรื่องสามัญในชีวิตระหว่างการเดินทางตามรอยเท้าคุณพ่อที่ไม่ชวนให้ขนลุกมากนัก




          ภาพแห่งความประทับใจแต่กลับสะเทือนใจในขณะเดียวกัน คือภาพของความสวยงามขัดกับประเด็นต้องห้ามและอ่อนไหวในวรรณกรรมสำหรับเด็กคือความตายและการสูญเสีย เมื่อเด็กน้อยเจอซากนกนอนแน่นิ่งอยู่ตรงหน้า 


               การสูญเสียมักมาในลักษณะของสีทึมเทาเพื่อสร้างอารมณ์เหงา เศร้า แต่ดอกไม้เล็ก ๆ จากมือเด็กน้อยกลับสร้างความสวยงามแห่งสีสันให้กลับมาสดใสอีกครั้ง ราวกับว่าสิ่งมหัศจรรย์เล็ก ๆ ได้เกิดขึ้นและขับความหม่นหมองออกไปได้ การมองโลกผ่านสายตาของเด็กน้อยนี้ แม้เป็นการกระทำเล็ก ๆ แต่กลับสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ จากดอกไม้ไร้ค่ากลายเป็นสิ่งแสดงความอาลัยที่สร้างความสว่างไสวในโลกน้อย ๆ ของเด็กหญิง

           การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความมหัศจรรย์และการเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ในโลกที่อาจดูเหี่ยวเฉาในมุมมองของใครหลาย ๆ คน  การศึกษาเกี่ยวกับเด็กและวัยเด็กได้ยืนยันถึงสิ่งที่เด็กมีแตกต่างจากผู้ใหญ่คือ SENSE OF WONDER  หรือในภาษาไทย อาจถอดความหมายได้ว่า ความรู้สึกถึงความมหัศจรรย์ในโลกรอบตัว  หากจะลองยกตัวอย่างง่าย ๆ อาจอธิบายได้ว่า เมื่อตอนเราเป็นเด็ก เราอาจจินจนาการว่า ในพุ่มไม้หน้าบ้านอาจจะมีเสือกระโจนออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เมื่อโตขึ้น สายตาของผู้ใหญ่ทำให้เราคิดว่าไม่มีทางที่เสือจะโผล่มาจากพุ่มไม้งี่เง่านั้นแน่ ซึ่งการมองโลกในมุมมองที่คิดถึงความเป็นไปได้เป็นหลักบวกกับการยึดยงหลักทางตรรกะที่ปราศจาก Sense of Wonder นั้น อาจทำให้เราพลาดโอกาสทางนวัตกรรมไปอย่างน่าเสียดาย  จะเกิดอะไรขึ้นหากสองพี่น้องตระกูลไรต์คิดตามตรรกะที่ว่า นกมีปีกบินได้  มนุษย์ไม่มีปีก  = มนุษย์บินไม่ได้  อาจกล่าวได้ว่าการคิดในกรอบของเหตุผลที่ขาดความเชื่อและจินตนาการอาจไม่ใช่คำตอบของความจริงทั้งหมด



        ในหนังสือภาพเรื่อง Not a Box เขียนและวาดภาพประกอบโดย Antoinette Portis  เล่าถึงกระต่ายตัวหนึ่งที่ยืนอยู่ข้างวัตถุสี่เหลี่ยมซึ่งตามชื่อเรื่องแล้วน่าจะเป็นกล่อง หากแต่ชื่อเรื่องได้ปฏิเสธผู้อ่านตั้งแต่วินาทีแรกคือ "มันไม่ใช่กล่อง" (Not a box) เมื่อเปิดอ่านไปเรื่อย ๆ จะเห็นความมหัศจรรย์ของจินตนาการของเด็ก  จากรูปทรงสี่เหลี่ยมที่ผู้ใหญ่คิดว่ามันคือกล่องนั้น สามารถกลายเป็นอย่างอื่นได้มากมาย เช่น ตึก  รถ  เรือ  ภูเขา  หุ่นยนต์  ฯลฯ   สำหรับเด็กนั้นเป็นเรื่องตื่นเต้นมาก แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่ไร้ Sense of Wonder  ก็คงไม่ต่างอะไรกับเรื่องธรรมดา ๆ เรื่องหนึ่ง







       Sense of Wonder นั้นไม่ได้ยึดยงกับเรื่องของจินตนาการเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อและพลังของความเชื่อด้วย อาจจะกล่าวได้ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับ Amendment เรื่อง the concept of fate and destiny กล่าวคือ ความเชื่อและความศรัทธาในการทำบางสิ่งบางอย่างที่คิดอยู่บนพื้นฐานว่า "ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้หากเรามีความพยายามมากพอ ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้" ซึ่งความคิดดังกล่าวมักสะท้อนอยู่ในธรรมชาติของเด็ก นั่นคือความศรัทธาและไม่กลัวในสิ่งที่ตัวเองทำว่าจะล้มเหลว  ดังที่  Ruth Krauss ได้เขียนอยู่ในหนังสือของเขาโดยมี Crockett Johnson  วาดภาพประกอบ คือ เรื่อง The Carrot Seed (มีแปลเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อว่า เมล็ดแครอต)




      The Carrot Seed เล่าถึงเด็กชายตัวน้อยที่หยอดเมล็ดแครอตลงไปในดิน โดยที่พ่อ แม่ และพี่ของเขาบอกอยู่เสมอว่า "ปลูกไปก็ไม่ขึ้นหรอก" สภาวการณ์ดูจะเป็นไปเช่นนั้น แต่เด็กชายไม่เคยท้อถอย เขายังคงคอยรดน้ำและพรวนดินอยู่เสมอโดยไม่มีท่าทีลังเลและสงสัยในสิ่งที่ตัวเองทำ จนในที่สุดต้นแครอตก็งอกงามขึ้นมา อย่างที่เด็กชายเชื่อมาตลอด "Just as the little boy had known it would."





     หนังสือภาพที่วางอยู่บนชั้นหนังสือสำหรับเด็กที่ดูไม่ได้สลักสำคัญอะไร อาจสะท้อนสิ่งเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งหลายคนอาจมองข้าม หนังสือเล่มน้อยเหล่านั้น อาจเป็นขุมคลังของพลัง ความฝัน ความหวัง ที่หลายคนอาจจะสูญเสียไปเพื่อแลกกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่  วันนี้อาจจะยังไม่สายเกินไป หากเราจะเดินทางย้อนกลับไปในฐานะผู้ใหญ่ แต่ใช้หัวใจและสายตาของเด็ก หยิบหนังสือเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่เหล่านี้มาเปิดอ่านเพื่อค้นพบแง่มุมที่ซ่อนอยู่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อปลอบประโลมใจ เพื่อลุกขึ้นสู้กับโลกอันวุ่นวายที่เรากำลังเผชิญอยู่  




๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒
สมิทธิ  อินทร์พิทักษ์
พุทธมณฑลสายสี่ กรุงเทพมหานคร








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น