การจากไปของสัตว์เลี้ยง ความเศร้าที่ต้องเผชิญ : บทความอุทิศให้แมวน้อยผู้จากไป
บทความโดย สมิทธิ อินทร์พิทักษ์
"เมื่อวานแมวน้อยตัวหนึ่งได้เดินเข้ามาที่บ้าน 🐈มันถูกหมาที่เลี้ยงไว้กัดจนเจ็บหนัก ตอนแรกไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเห็นแต่คราบเลือด พอเจอมันอีกทีมันไปนอนหายใจรวยรินอยู่ใต้ท้องรถหน้าบ้าน ก่อนที่มันจะจากไป ฉันเอาร่างของมันมาใส่กล่องกระดาษ พามาอยู่ข้างๆ ลูบหัวมัน มันไม่มีปลอกคออาจจะเป็นแมวจรหรือแมวคนเลี้ยงไม่ดีนัก"
ฉันรู้ว่ายังไงมันก็ต้องจากไป ฉันเลยเปิดเพลงคลื่นความถี่ 417 Hz ให้มันฟังเพื่อให้มันไปอย่างสงบ ฉันอยู่กับมันในวาระสุดท้ายของชีวิตของมัน ลูบขนแล้วโอบมันไว้ ฉันร้องไห้ให้มัน แม้มันจะไม่ใช่แมวของฉันแต่ในชีวิตของสัตว์ตัวหนึ่งการที่มีใครเสียใจให้กับมัน มันอาจจะได้รู้ว่าครั้งหนึ่งมันก็มีคนรัก และในนาทีที่มันจากไปฉันอยู่ตรงนั้น ความรู้สึกมากมายเกิดขึ้นในตอนนั้น
มีคนบอกว่า ความเชื่อทางตะวันตกนั้นเมื่อสัตว์เลี้ยงจากไปมันจะต้องข้ามสะพานสีรุ้งเพื่อไปในภพใหม่
หลังจากมันจากไป ฉันได้ฝังมันไว้ใต้ต้นมะม่วงในบ้าน วางดอก Daisy สีขาวดอกเล็ก ๆ ที่เพิ่งซื้อมา ไว้บนดินตรงนั้น
หลังจากนั้นฉันก็เริ่มสนใจเกี่ยวกับการจากไปของสัตว์เลี้ยงแล้วก็ไล่ตามหนังสือที่เคยมีทั้งหมดใน Kindle จนได้พบว่า มีงานศึกษามากมายที่ศึกษาเกี่ยวกับการจากไปของสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเชิงจิตวิทยาหรือเชิงจิตวิญญาณโดยฉันตั้งใจตั้งแต่เมื่อวานแล้วว่า จะอ่านให้จบซักหนึ่งเรื่องและเขียนบทความเพื่ออุทิศให้แมวตัวนี้
โดยเพียงแค่วันเดียว ฉันได้หนังสือเกือบ ๔ เล่ม แต่ไม่ได้จบทุกเล่มหรอกนะ มีอยู่เล่มหนึ่งที่ดึงความสนใจและความอดทนของฉันได้จนอ่านจบ เล่มนั้นก็คือ หนังสือเรื่อง When a Family Pet Dies: A Guide to Dealing With Children's Loss เขียนโดย JoAnn Tuzeo-Jarolmen เป็นหนังสือที่พูดถึงการช่วยเด็กจัดการกับการสูญเสียสัตว์เลี้ยงที่รักมาก ๆ ไป โดยฉันจะนำมาแบ่งปันกับทุกคนที่อ่านบทความนี้แบบสรุปมาให้อ่านเป็นบท ๆ แต่ไม่ได้ถึงกับแปลมาคำต่อคำ แต่ก็จะพยายามย่อยให้อ่านง่ายและมีตัวอย่างคร่าว ๆ จากในบท เนื่องด้วยเป็นหนังสือที่ดี แต่ไม่มีแปลเป็นภาษาไทย ฉันจะอยากใช้โอกาสนี้ ถ่ายทอดหนังสือดีให้ทุกคนได้อ่าน หวังว่าความสามารถของครูภาษาไทยด้านภาษาอังกฤษอันน้อยนิดจะเป็นประโยชน์แก่คนอ่าน และเป็นบุญที่อุทิศให้เจ้าแมวน้อยที่จากไปด้วย
ในบทนำ ผู้เขียนคำนำ คือ ลินดา (Linda Tintle) ได้เล่าประสบการณ์ส่วนตัวของเธอเกี่ยวกับการสูญเสียสัตว์เลี้ยงตั้งแต่วัยเด็กและอธิบายว่าการสูญเสียสัตว์เลี้ยงนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก โดยเธอบอกว่า การช่วยให้เด็กเข้าใจความสูญเสียอย่างเปิดเผยและซื่อสัตย์จะช่วยให้เด็กสามารถก้าวผ่านกระบวนการโศกเศร้าได้ง่ายขึ้น
"As a young child, I was devastated when my beloved Cocker Spaniel, 'Toots,' was killed by a speeding car. I cried for days, and it took me many years before I could remember her with a smile instead of tears."
"ตอนที่ฉันยังเป็นเด็ก ฉันรู้สึกเสียใจอย่างมากเมื่อสนุขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล (Cocker Spaniel) ที่เธอรักชื่อว่า 'Toots' ถูกรถที่ขับมาด้วยความเร็วชนตาย เธอร้องไห้เป็นเวลาหลายวัน และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่เธอจะสามารถระลึกถึงมันด้วยรอยยิ้มแทนน้ำตาได้")
ลินดาได้แสดงให้เห็นว่า ความเศร้าโศก ที่เกิดจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยงนั้นเป็นสิ่งที่เจ็บปวดอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อจิตใจในระยะยาวสำหรับเด็กหลายคน เธอกล่าวว่า "การเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความรู้สึกออกมาอย่างตรงไปตรงมาเป็นวิธีที่ช่วยให้พวกเขาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น"
"As a veterinarian, I have seen children deeply affected by the loss of a pet, sometimes even more so than the loss of a human family member. Pets are often viewed as trusted confidants and companions, making their death a profound and unique type of loss for children."
"ในฐานะสัตวแพทย์ ฉันได้เห็นเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้งจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยง บางครั้งถึงขนาดรู้สึกเสียใจมากกว่าการสูญเสียสมาชิกครอบครัวที่เป็นคนด้วยซ้ำ เพราะสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนที่เชื่อใจ และไว้ใจได้ และเป็นเพื่อนคู่หูที่ใกล้ชิด ทำให้การตายของพวกเขาเป็นการสูญเสียที่ลึกซึ้งและไม่เหมือนใครสำหรับเด็ก ๆ"
ภาพสนุขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล จาก Pinterest
คำพูดนี้สะท้อนถึงความสำคัญของสัตว์เลี้ยงในชีวิตของเด็ก ซึ่งทำให้การสูญเสียสัตว์เลี้ยงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ไม่แพ้กับการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว เธอเน้นย้ำว่า การสูญเสียสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกมองข้ามเพราะผลกระทบทางอารมณ์นั้นสามารถลึกซึ้งมากกว่าที่ผู้ใหญ่หลายคนคาดคิด
ในสังคมที่เร่งรีบและการใช้ชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เธอได้ชี้ให้เห็นว่า
สัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในสิ่งที่คงอยู่ในชีวิตของเด็กอย่างมั่นคง
ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและสัตว์เลี้ยงมักจะไม่มีความซับซ้อนและมีความชัดเจนกว่าความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันเอง ดังนั้น การสูญเสียสัตว์เลี้ยงจึงสามารถสร้างความรู้สึกเศร้าโศกอย่างลึกซึ้งได้มากกว่าการสูญเสียบุคคลบางคน
โดยในบทนี้มีการเสนอนิยามของความเศร้าโศกและความโศกเศร้าไว้ด้วยดังนี้
Bereavement คือการตอบสนองทางจิตวิทยาและทางกายภาพทั้งหมดของบุคคลหลังการสูญเสียสิ่งที่สำคัญไปGrief เป็นส่วนหนึ่งของการเศร้าโศกที่เน้นความรู้สึกทางอารมณ์ที่เกิดจากการสูญเสีย ซึ่งกระบวนการนี้มีหลายขั้นตอน
เธอยังได้ยกตัวอย่างความโศกเศร้าทางกายภาพ เช่น อาการปวดหัว ปวดท้อง
หรือการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น ความไม่สงบ ความรู้สึกผิด
หรือการหมกมุ่นกับภาพของสัตว์เลี้ยงที่ตายไป
นอกจากนี้ JoAnn Tuzeo-Jarolmen (ต่อไปขอใช้สั้น ๆ ว่า โจแอน) ยังมีคำถามสำคัญที่หยิบยกขึ้นมาว่า "เราสามารถมีความโศกเศร้าโดยไม่มีความผูกพันได้หรือไม่" (เหมือนกับตัวฉันเองที่เศร้าที่แมวน้อยตัวนี้ตาย โดยที่ฉันไม่ได้เป็นเจ้าของมัน) โดยคำตอบ คือ ความผูกพันที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตต่าง ๆ นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับความเศร้าโศก
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในบทนี้โจแอนได้เสนอ เกณฑ์ในการประเมินความผูกพันของเด็กต่อสัตว์เลี้ยง
ด้วย คือ
๒. การแสดงออกทางความรักและความสนใจที่เด็กมีต่อสัตว์เลี้ยง
๓. ความรู้ของเด็กเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง
๔. พฤติกรรมของเด็กต่อสัตว์เลี้ยง
ยิ่งเด็กใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงมากและมีความรู้สึกผูกพันที่แน่นแฟ้นมากเท่าไร เด็กก็จะมีความรู้สึกสูญเสียที่มากขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงจากไป ความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเป็นความสูญเสียที่สำคัญและควรได้รับความสนใจ พ่อแม่และผู้ใหญ่ต้องตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์เลี้ยงในชีวิตของเด็ก เพื่อให้สามารถช่วยให้เด็กก้าวผ่านความโศกเศร้าได้
ในบทที่ ๒ ใช้ชื่อบทว่าสัญญาณและอาการของความเศร้าโศกในเด็ก
(Signs and Symptoms of Grief in Children)
ในบทนี้พูดถึงสัญญาณและอาการของความเศร้าโศกที่ปรากฏในเด็กเมื่อพวกเขาสูญเสียสัตว์เลี้ยง
ซึ่งอาการเหล่านี้อาจแสดงออกมาในลักษณะที่แตกต่างจากผู้ใหญ่
โดยเฉพาะในแง่ของการแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรม
โจแอนได้อธิบายว่า "เด็กมักไม่แสดงความรู้สึกเศร้าโศกในแบบที่ผู้ใหญ่คาดหวัง และบางครั้งอาจไม่แสดงออกมาอย่างเปิดเผยเนื่องจากพวกเขายังไม่สามารถจัดการหรือเข้าใจความรู้สึกที่ซับซ้อนเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน"
เด็กต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและการสนับสนุนเพื่อให้สามารถแสดงความรู้สึกออกมาได้ เขาอาจรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจที่จะพูดถึงความรู้สึกของพวกเขาหากพวกเขารู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่พร้อมที่จะรับฟัง
โดยโจแอนได้ยกตัวอย่างเรื่องราวของ เกลน หรือ เจลน (ไม่แน่ใจ 😝) (ภาษาอังกฤษ คือ Glen) เด็กชายวัย 6
ขวบ ซึ่งรู้สึกผิดหลังจากที่สุนัขของครอบครัววิ่งออกไปถูกรถชนจนเสียชีวิต
Glen เป็นคนเปิดประตูให้สุนัขออกไป
แต่ครอบครัวไม่เคยรู้ว่าเขารู้สึกผิดในเรื่องนี้ จนกระทั่งมีพูดคุยกันในภายหลัง ทำให้เรารู้ว่า เด็กมักจะซ่อนความรู้สึกผิดหรือความรู้สึกแย่ ๆ ไว้ภายใน
ทำให้ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้
นอกจากนี้โจแอนยัง อธิบายว่า เด็กแสดงความเศร้าโศกผ่านอาการทางร่างกายและพฤติกรรมที่หลากหลาย เช่น
การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการกิน เด็กบางคนอาจกินมากเกินไปเนื่องจากความวิตกกังวล หรือกินน้อยลงเนื่องจากความเศร้าโศก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสัญญาณของความเจ็บปวดทางอารมณ์
การแยกตัวจากสังคม เด็กที่กำลังโศกเศร้าอาจเลือกที่จะเก็บตัว ไม่ต้องการเล่นหรือทำกิจกรรมที่เคยสนุกสนานก่อนหน้านี้
เธออธิบายเพิ่มเติมว่าเด็กบางคน "ไม่อยากเคลื่อนย้ายสิ่งของของสัตว์เลี้ยง"
เช่น ชาม อาหาร ที่นอน หรือของเล่น
เนื่องจากพวกเขายังไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่าสัตว์เลี้ยงได้จากไปแล้ว
สิ่งเหล่านี้ให้ความรู้สึกเหมือนว่าสัตว์เลี้ยงยังคงอยู่ในชีวิตพวกเขา
การปล่อยให้เด็กเก็บสิ่งของเหล่านี้ไว้จนกว่าพวกเขาจะพร้อมจะเป็นวิธีหนึ่งในการช่วยให้เด็กค่อย ๆ ทำใจกับการสูญเสีย
โจแอนได้เพิ่มเติมตัวอย่างเรื่องราวของ เซทธ์ (Seth) เด็กชายวัย ๑๐ ขวบ ที่สูญเสียสุนัขของเขา เอ็ดก้าร์ (Edgar) เด็กชายกลับบ้านจากโรงเรียนและพบว่าสุนัขตัวนี้ไม่อยู่ที่บ้านอีกแล้ว ความโศกเศร้าของเขาแสดงออกมาผ่านการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เขารู้สึกผิด คิดว่าการกระทำไม่ดีของเขาในโรงเรียนเป็นสาเหตุที่ทำให้สุนัขเสียชีวิต นอกจากนี้เขายังบอกว่าเขาได้ยินเสียงเห่าของ Edgar และเห็นรอยเท้าของมันในพรม เป็นตัวอย่างของการที่เด็กยังไม่สามารถปล่อยวางความผูกพันที่มีต่อสัตว์เลี้ยงได้
โจแอนได้บอกว่าการตอบสนองทางอารมณ์ที่พบบ่อยในเด็กที่โศกเศร้ามีหลายแบบดังนี้
ความเศร้า (Sadness) เด็กหลายคนรู้สึกเศร้าอย่างลึกซึ้งหลังการสูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนคนสำคัญในชีวิต อาการเศร้านี้สามารถแสดงออกมาเป็นความรู้สึกว่างเปล่า ขาดความสนุกสนานในสิ่งที่เคยทำ
ความโกรธ (Anger) ความโกรธเป็นอารมณ์ที่พบได้น้อย ในกรณีที่เด็กสูญเสียสัตว์เลี้ยง แต่หากเกิดขึ้นมักเป็นความรู้สึกโกรธที่สัตว์เลี้ยงจากไปและปล่อยให้เด็กต้องเผชิญความเหงา
ความรู้สึกผิด (Guilt) ความรู้สึกผิด เป็นอีกหนึ่งปฏิกิริยาที่ไม่มีเหตุผลที่เกิดขึ้นกับเด็ก เด็กอาจรู้สึกว่าคำพูดหรือการกระทำบางอย่างของเขาทำให้สัตว์เลี้ยงต้องจากไป ตัวอย่างในกรณีของมากาเร็ต (Margaret) ที่บอกให้แมวของเธอไปให้พ้นก่อนที่มันจะหนีออกจากบ้านและถูกรถชนตาย
โจแอนแนะนำว่าการให้เด็กได้มีโอกาสพูดถึงสัตว์เลี้ยงที่จากไป หรือแสดงออกถึงความรู้สึกในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การวาดภาพหรือเขียนจดหมายถึงสัตว์เลี้ยง เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กสามารถจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ได้ และช่วยให้พวกเขาก้าวผ่านกระบวนการโศกเศร้าได้
โดยอาจเข้าใจได้ว่า เด็กต้องการการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในการจัดการกับความเศร้าโศก
ผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กแสดงความรู้สึกและช่วยให้พวกเขารับรู้ว่าความเศร้าเป็นเรื่องปกติเมื่อเกิดการสูญเสีย
ในบทที่ ๓ ใช้ชื่อบทว่ากระบวนการโศกเศร้าในเด็ก (The Grief Process in Children) ในบทนี้โจแอนได้อธิบายถึง กระบวนการในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้า ของเด็กเมื่อเผชิญกับการสูญเสียสัตว์เลี้ยงว่า มันจะไม่เป็นเส้นตรงแบบแน่นอนตายตัวแต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามลักษณะของการสูญเสียและลักษณะส่วนตัวของเด็กแต่ละคน นอกจากนี้ความโศกเศร้านั้นยังขึ้นอยู่กับความผูกพันที่เด็กมีต่อสัตว์เลี้ยงด้วย ซึ่งความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างเด็กและสัตว์เลี้ยงจะส่งผลให้กระบวนการนี้ใช้เวลายาวนานและซับซ้อนยิ่งขึ้น
โจแอนยกตัวอย่างจากเรื่องราวของ อาร์เธอร์ ชิวล์ (Arthur Chill) ที่เลี้ยงแมวชื่อ Looie ซึ่งเป็นแมวป่าที่เขาช่วยเหลือมาจากการใช้ชีวิตในธรรมชาติ Looie อาศัยอยู่กับเขาเป็นเวลานานกว่า ๑๒ ปี ก่อนที่จะมันจะตายจากโรคไทรอยด์ หลังจากที่เขาพา Looie ไปหาสัตวแพทย์ และพบว่ามีก้อนเนื้ออยู่ในท้องของแมว เขาต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากว่าจะให้สัตวแพทย์ช่วยชีวิตแมวหรือจะปล่อยให้มันจากไปอย่างสงบ
โดยเขาเลือกที่จะให้สัตวแพทย์ "ทำการุณยฆาตเพื่อยุติความเจ็บปวด"
"I greatly miss my good friend but I have the memories of 12 years of a dear, sweet (once wild) kitty that would have suffered in the wild and would have died an agonizing death a long time ago if I didn’t make the effort to give her a better life."
(ฉันคิดถึงเพื่อนที่ดีของฉันมาก แต่ฉันยังคงมีความทรงจำถึงช่วงเวลา ๑๒ ปีที่ฉันมีแมวแสนรัก ซึ่งเคยเป็นแมวป่าที่อาจจะต้องทนทุกข์และตายอย่างทรมานหากฉันไม่ช่วยเหลือมัน)
"การสูญเสียสัตว์เลี้ยงสำหรับเด็กไม่ใช่แค่การตายของสัตว์ แต่เป็นการสูญเสียความรักและการผูกพันที่มีความหมายอย่างลึกซึ้ง" โจแอนกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและสัตว์เลี้ยงนั้นมักจะมีความซื่อสัตย์และแนบแน่นมากกว่าความสัมพันธ์กับมนุษย์ ทำให้เด็กสามารถเผชิญกับความเศร้าโศกที่รุนแรงกว่าที่คาดไว้ โดยอารมณ์และความรู้สึกที่เด็กอาจเผชิญในกระบวนการโศกเศร้าคือ
นอกจากนี้โจแอนยังเพิ่มเติมอีกคือ ความโล่งใจ (Relief) ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงที่ป่วยหนักตาย เด็กอาจรู้สึกโล่งใจเมื่อรู้ว่าสัตว์เลี้ยงของพวกเขาไม่ต้องทนทุกข์กับความเจ็บปวดอีกต่อไป
เช่น ในกรณีของ จอห์นนี่ (Johnny) ที่บอกว่าเขารู้สึก "happy"
(มีความสุข) เมื่อสุนัขของเขาตายจากโรคมะเร็งสมอง
เนื่องจากสุนัขได้หลุดพ้นจากความทรมานที่ต้องเผชิญกับอาการไม่สามารถเดินได้
ความวิตกกังวล (Anxiety) เป็นอีกหนึ่งอารมณ์ที่เด็กมักจะแสดงออกหลังการสูญเสียสัตว์เลี้ยง
พวกเขาอาจมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่คนหรือสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ
จะตายเช่นกัน
ความกลัวนี้อาจนำไปสู่ความกังวลที่มากเกินไปในเรื่องความตายของตนเองหรือคนที่พวกเขารัก
โจนแอนกล่าวว่า "เด็กมักแสดงออกถึงความเศร้าโศกผ่านพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป"
เช่น การนอนหลับที่ยากลำบาก ฝันร้าย การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการกิน
(อาจกินมากเกินไปหรือกินน้อยลง) และการถอนตัวจากสังคม (social withdrawal) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณของความทุกข์ทางจิตใจที่เด็กกำลังประสบ
โจแอนยกตัวอย่างกรณีของชารอน (Sharon) เด็กหญิงวัย ๘ ขวบ ที่สูญเสียสุนัขชื่อเร็ค Rex ที่ถูกรถชนตายในวันที่หิมะตกก่อนวันคริสต์มาส พ่อของเธอฝังเร็ค ก่อนที่ชารอนจะกลับจากโรงเรียน โดยหวังว่าจะปกป้องลูกสาวจากความเจ็บปวด แต่ทำให้ "ชารอนรู้สึกสับสนและเศร้าใจที่ไม่ได้บอกลาสุนัขของเธอเป็นครั้งสุดท้าย" และเมื่อพ่อของเธอพาลูกสุนัขตัวใหม่มาแทนที่ในวันถัดไป เธอรู้สึกเหมือนจะต้องเลือกระหว่างความรักที่มีต่อเร็คกับลูกสุนัขใหม่ ความรู้สึกนี้ทำให้เธอติดอยู่ในความเศร้าและรู้สึกว่าการรักลูกสุนัขใหม่จะเป็นการทรยศต่อเร็ค ซึ่งแสดงถึง "การโศกเศร้าที่เกิดจากการไม่สามารถก้าวข้ามความผูกพันเดิมได้"
ในบทที่ ๔ ใช้ชื่อบทว่า การสูญเสียเกิดขึ้นในรูปแบบ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่หลากหลาย (Loss Occurs in Different Ways, Giving Rise to Varying Feelings) ในบทนี้ โจแอน ได้อธิบายว่า การสูญเสียสัตว์เลี้ยงสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบมีผลกระทบที่แตกต่างกันต่อความรู้สึกและการตอบสนองของเด็ก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของการสูญเสียเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความผูกพันและอารมณ์ที่เด็กมีต่อสัตว์เลี้ยง ด้วย
โจแอนเล่าถึงเรื่องราวของสก็อต (Scott Stekler) ซึ่งเลี้ยงหมาชื่อแบนดิท (Bandit) สุนัขตัวนี้เป็นเพื่อนรักของเขา ตลอดชีวิต แบนดิทต้องถูกทำการุณยฆาตเนื่องจากเป็นโรคร้าย ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เขาและครอบครัวต้องเผชิญความยากลำบากในการยอมรับ สก๊อตเล่าว่า เขารู้สึกว่า "My life
was so much better with him in it" (ชีวิตของฉันดีขึ้นมากเมื่อมีเขา(แบนดิท)อยู่ในชีวิต)
การสูญเสียนี้สร้างความเจ็บปวดอย่างมากให้กับเขา เนื่องจากความผูกพันที่แน่นแฟ้นระหว่างเขากับแบนดิท
นอกจากนี้โจแอนยังกล่าวถึงการสูญเสียแบบคาดการณ์ได้และการสูญเสียแบบฉับพลัน โดยอธิบายความแตกต่างนี้ว่า
การสูญเสียแบบคาดการณ์ได้ คือ เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วยหนักและครอบครัวรู้ว่าสัตว์เลี้ยงกำลังจะจากไป การสูญเสียดังกล่าวสามารถช่วยให้เด็กมีเวลาทำใจล่วงหน้าและเตรียมตัวสำหรับการสูญเสีย โจแอนกล่าวว่าการทำการุณยฆาตสัตว์เลี้ยง (euthanasia) มักจะเป็นตัวเลือกที่ยากลำบาก แต่บางครั้งก็เป็นวิธีที่เมตตาที่สุดในการยุติความทุกข์ทรมานของสัตว์ เธอกล่าวว่า
"Euthanasia can also be one of the most difficult farewells to accept and is a frequent source of guilt that should be discussed openly"
"การทำการุณยฆาตเป็นการบอกลาที่รับได้ยากที่สุดอย่างหนึ่งและมักทำให้เกิดความรู้สึกผิด ซึ่งควรได้รับการพูดถึงอย่างเปิดเผย"
การสูญเสียแบบฉับพลัน คือ เมื่อสัตว์เลี้ยงตายอย่างกะทันหัน เช่น ถูกรถชนหรือตายในเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ความเจ็บปวดจากการสูญเสียแบบนี้มักจะรุนแรงกว่า เนื่องจากเด็กไม่มีเวลาทำใจล่วงหน้าและอาจรู้สึกช็อกอย่างมาก การสูญเสียแบบฉับพลันยังอาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกผิดหรือสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะหากเด็กมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงตาย
ซึ่งการสูญเสียในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดอารมณ์ที่หลากหลาย โจแอนอธิบายว่า การสูญเสียในรูปแบบที่แตกต่างกันส่งผลให้เกิดความรู้สึกหลากหลายที่แตกต่างกันไป เด็กอาจแสดงอารมณ์ในหลายรูปแบบ เช่น
ความโศกเศร้าอย่างรุนแรง เด็กอาจรู้สึกเศร้าอย่างมากจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสัตว์เลี้ยงนั้นมีบทบาทสำคัญในชีวิตของพวกเขา
ความรู้สึกผิด (Guilt) บางครั้งเด็กอาจรู้สึกผิดเกี่ยวกับการสูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกเขารู้สึกว่าการกระทำของพวกเขามีส่วนทำให้สัตว์เลี้ยงต้องตาย ตัวอย่างเช่น หากเด็กเป็นคนเปิดประตูให้สัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้านและสัตว์เลี้ยงถูกรถชน
ความโล่งใจ (Relief) ในบางกรณี หากสัตว์เลี้ยงป่วยหนักหรือทรมานจากโรคร้าย เด็กอาจรู้สึกโล่งใจเมื่อสัตว์เลี้ยงตายเพราะรู้ว่าสัตว์เลี้ยงไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป การรู้สึกโล่งใจนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูจิตใจที่ช่วยให้เด็กก้าวข้ามความโศกเศร้าได้
นอกจากนี้ในบทนี้ยังกล่าวถึงการตัดสินใจว่าจะ นำสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มาแทนที่สัตว์เลี้ยงที่จากไปหรือไม่
โจแอนเน้นว่า การหาสัตว์เลี้ยงตัวใหม่อาจเป็นการช่วยเยียวยาความเจ็บปวดได้
แต่ไม่ควรใช้เป็นวิธีการปิดบังหรือแทนที่ความรักที่เด็กมีต่อสัตว์เลี้ยงตัวเก่า
การเปิดใจให้สัตว์เลี้ยงใหม่ไม่ใช่การลืมหรือแทนที่สัตว์เลี้ยงตัวเดิม
แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้สร้างความผูกพันใหม่
ซึ่งจากที่อ่านทำให้เรารู้ว่า การสูญเสียสัตว์เลี้ยงมีหลายรูปแบบ
และแต่ละรูปแบบสามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์และการจัดการกับความเศร้าโศกของเด็กในลักษณะที่แตกต่างกันไป
ผู้ใหญ่ก็ควรตระหนักถึงความแตกต่างเหล่านี้และช่วยเด็กให้เข้าใจและจัดการกับความรู้สึกของตน
ในบทที่ ๕ ใช้ชื่อบทว่าการหาสัตว์ตัวใหม่มาเลี้ยงแทนกัน (Pet Replacement?)
ในบทนี้ โจแอนพยายามตอบคำถามที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนว่า "การหาสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มาทดแทนสัตว์เลี้ยงที่ตายไปนั้นเป็นทางเลือกที่ดีหรือไม่" โดยมีการกล่าวถึงผลกระทบต่ออารมณ์ของเด็ก เมื่อมีการนำสัตว์เลี้ยงใหม่เข้ามาหลังจากที่สัตว์เลี้ยงเดิมตายไป โจแอนได้ลงลึกไปในประเด็นเรื่องของ ความรู้สึกหลากหลาย ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงความรู้สึกที่เด็ก (อาจจะ) มีต่อสัตว์เลี้ยงตัวใหม่และสัตว์เลี้ยงตัวเดิมนั้น ๆ
โจแอนเริ่มต้นด้วยการพูดถึง คำถามที่พบบ่อย หลังการสูญเสียสัตว์เลี้ยงว่า ควรนำสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มาเมื่อใด บางครอบครัวอาจรู้สึกว่าการนำสัตว์เลี้ยงใหม่เข้ามาในทันทีจะช่วยเติมเต็มช่องว่างและทำให้บรรยากาศในบ้านกลับมาสดใสอีกครั้ง แต่สำหรับบางครอบครัว การนำสัตว์เลี้ยงใหม่เข้ามาอาจถูกมองว่าเป็นการ ทรยศ (ไม่รู้จะใช้คำไหนแทนคำนี้ 555 ) หรือไม่ให้ความเคารพต่อความทรงจำของสัตว์เลี้ยงตัวเก่า นี่เป็นสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ
โจนแอนกล่าวว่า การนำสัตว์เลี้ยงใหม่เข้ามา "ไม่ควรถือเป็นการทดแทนความผูกพันที่มีต่อสัตว์เลี้ยงตัวเก่า"
ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสัตว์เลี้ยงตัวเก่าไม่สามารถแทนที่ได้
การนำสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้ามาเป็นเพียงการเติมเต็มส่วนหนึ่งของชีวิตที่สูญเสียไป
แต่ไม่ใช่การลืมหรือทิ้งความทรงจำที่เคยมีต่อสัตว์เลี้ยงที่ตายไป
โจแอนได้สะท้อนถึงคำถามว่า ความรักสามารถซื้อได้หรือไม่ (จริง ๆ นะ ผู้ใหญ่บางคนชอบมองว่าสัตว์ตายก็ซื้อใหม่ โดยเฉพาะสัตว์ตัวเล็ก ๆ) โดยอธิบายว่าความรักระหว่างเด็กกับสัตว์เลี้ยงไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทันที แม้ว่าการนำสัตว์เลี้ยงใหม่เข้ามาในครอบครัวอาจช่วยให้เด็กรู้สึกดีขึ้นจากความเศร้าโศกได้ในบางกรณี แต่ความรักที่แท้จริงต้องเกิดจากการใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ความรักที่มีต่อสัตว์เลี้ยงไม่ได้สามารถถูกซื้อได้โดยการนำสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มาแทนที่สัตว์เลี้ยงตัวเก่า
นอกจากนี้เธอยังกล่าวถึง ความรู้สึกขัดแย้ง ที่เด็กอาจเผชิญ หากนำสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้ามาแทน เด็กบางคนอาจรู้สึก "ผิด" ที่ต้องรักสัตว์เลี้ยงตัวใหม่และคิดว่าตนกำลังทรยศสัตว์เลี้ยงตัวเดิม
เช่น ในกรณีของชาลอน (Sharon) ในบทก่อนหน้า
ที่พ่อของเธอนำลูกสุนัขตัวใหม่มาให้หลังจากสุนัขตัวเก่าของเธอตาย เธอรู้สึกว่าเธอไม่สามารถรักลูกสุนัขตัวใหม่ได้อย่างเต็มที่
เพราะยังคงคิดถึงสุนัขตัวเก่าของเธออยู่
โจแอนพยายามจะบอกว่า การเปรียบเทียบระหว่างสัตว์เลี้ยงตัวเก่าและตัวใหม่นั้นอาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา
"เด็กอาจรู้สึกว่าสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างที่สัตว์เลี้ยงตัวเก่าทิ้งไว้ได้
หรือบางครั้งเด็กอาจพยายามทำให้สัตว์เลี้ยงตัวใหม่เป็นเหมือนตัวเก่าโดยไม่รู้ตัว
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติของการปรับตัวต่อการสูญเสีย"
ส่วนกระบวนการที่เด็กต้องการหลังการนำสัตว์เลี้ยงใหม่เข้ามา โจแอนแนะนำว่า ครอบครัวควรคำนึงถึงเวลาที่เหมาะสมในการนำสัตว์เลี้ยงใหม่เข้ามา โดยต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการทำใจและเวลาในการทำใจของเด็ก ไม่ควรเร่งรีบ เด็กต้องมีเวลาเพียงพอในการมำใจกับความโศกเศร้าและยอมรับการจากไปของสัตว์เลี้ยงตัวเดิมก่อนจะเปิดใจให้กับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ โจแอนเตือนว่า "การนำสัตว์เลี้ยงใหม่มาเร็วเกินไปอาจทำให้เด็กยังไม่สามารถปล่อยวางจากความเศร้า ความรู้สึกเศร้าโศกอาจไม่ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้น"
ดังนั้นการช่วยให้เด็กเปิดใจรับสัตว์เลี้ยงใหม่ โจแอนได้กล่าวถึงวิธีที่พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถช่วยให้เด็ก "เปิดใจรับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่" ได้ โดยเน้นที่การสร้างบรรยากาศของความรัก การทำให้เด็กเข้าใจว่า "ความรักที่มีต่อสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ไม่ได้เป็นการลืมหรือทิ้งความรักที่มีต่อสัตว์เลี้ยงตัวเก่า" แต่เป็นการเริ่มต้นใหม่ในลักษณะที่ต่างกัน เป็นกระบวนการที่เด็กจะได้เรียนรู้ที่จะรักและผูกพันกับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ในแบบที่ไม่เหมือนเดิม
โจแอนได้เล่าเรื่องราวของไมเคิล (Michael Ardizzone) ที่มีประสบการณ์ในการดูแลแมวชื่อซอนนี่ (Sonny) ซึ่งเขาได้รับมาดูแลหลังจากการสูญเสียแมวตัวเก่าไป แม้ว่าในช่วงแรกเขาจะรู้สึกไม่สามารถรักแมวตัวใหม่ได้เหมือนตัวเก่า
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาค่อย ๆผูกพันกับซอนนี่ และได้พบว่า "ความรักที่เขามีต่อสัตว์เลี้ยงตัวเก่านั้นไม่เคยถูกแทนที่
แต่เขาสามารถรักสัตว์เลี้ยงใหม่ได้ในแบบของมันเอง"
สิ่งที่ประเด็นสำคัญที่ตัวฉันเองได้จากการอ่านตรงนี้คือ ความรักและการสูญเสียไม่ใช่สิ่งที่แทนที่กันได้
โดยบทนี้อาจจะสรุปได้ว่า "ความรักที่เด็กมีต่อสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่งไม่สามารถถูกแทนที่ได้ แต่สัตว์เลี้ยงตัวใหม่สามารถเข้ามาเติมเต็มและช่วยให้เด็กกลับมามีความสุขอีกครั้งได้" การนำสัตว์เลี้ยงใหม่เข้ามาควรเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ในแบบที่ไม่เหมือนเดิม และพ่อแม่ควรสนับสนุนให้เด็กแสดงความรู้สึกออกมา ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะเป็นความเศร้า ความสับสน หรือแม้แต่ความรู้สึกผิด
ในบทที่ ๖ ใช้ชื่อบทว่า การเดินทางกลับสู่ชีวิตที่ปกติ
(The Journey Back)
ในบทนี้ โจแอนเน้นถึง "กระบวนการฟื้นตัว" หลังจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยง
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะต้องค่อย ๆ กลับมาปรับตัวเข้าสู่ชีวิตปกติ
โดยอธิบายถึงการที่เด็กและครอบครัวสามารถเผชิญกับความโศกเศร้าและความสูญเสีย วิธีการช่วยให้เด็กกลับมามีความสุขอีกครั้งหลังจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยงไป
โจแอนกล่าวว่า การฟื้นตัวจากความโศกเศร้านั้นเป็น "กระบวนการที่ใช้เวลา"
และความอดทน
เด็กอาจมีความรู้สึกที่หลากหลายเกี่ยวกับการกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ
บางครั้งเด็กอาจรู้สึกว่าการกลับไปทำสิ่งเดิม ๆ
นั้นเหมือนเป็นการทรยศต่อสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิตไปแล้ว
หรือพวกเขาอาจยังรู้สึกว่าตนเองยังไม่พร้อมที่จะลืมหรือก้าวข้ามความโศกเศร้า
การจัดการกับความรู้สึกต่าง ๆ
โจแอนได้ชี้ให้เห็นว่า การจัดการกับความรู้สึกหลังการสูญเสียนั้นมีความซับซ้อน
บางครั้งเด็กอาจไม่สามารถแยกแยะระหว่างความรู้สึกเศร้าและความรู้สึกโล่งใจเมื่อสัตว์เลี้ยงที่ป่วยหรือทุกข์ทรมานจากโรคเรื้อรังได้ตายไป เธอบอกว่า แต่ละคนจะมีวิธีการแสดงออกถึงความสูญเสียที่แตกต่างกัน
ในกรณีของไมเคิล ซึ่งเล่าเรื่องของเขาในการดูแลซอนนี่ แมวของเขาที่เขาได้ดูแลหลังจากที่สัตว์เลี้ยงตัวเก่าของเขาตาย ไมเคิลเฝ้าดูแลซอนนี่และการใช้เวลากับแมวตัวนี้ในการฟื้นฟูจิตใจและการกลับมารู้สึกมีความสุขอีกครั้ง
ความสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงใหม่อาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยในการฟื้นตัวจากการสูญเสีย
ในเรื่องของวิธีการช่วยให้เด็กกลับมาใช้ชีวิตปกตินั้น โจแอนแนะนำวิธีการหลายวิธีที่พ่อแม่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยให้เด็กกลับเข้าสู่ชีวิตปกติหลังจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยง ได้ โดยจะยกมาคร่าว ๆ ดังนี้
สนับสนุนให้เด็กแสดงความรู้สึกออกมา พูดคุยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและความรู้สึกที่มีต่อการสูญเสียเป็นสิ่งสำคัญ ครอบครัวควรเปิดโอกาสให้เด็กพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของพวกเขาโดยไม่เร่งรีบหรือบังคับ
การทำกิจกรรมที่สร้างความทรงจำ โจแอนแนะนำให้ครอบครัวสร้างพิธีเล็ก ๆ เพื่อรำลึกถึงสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิต เช่น การทำสมุดภาพหรือเขียนจดหมายถึงสัตว์เลี้ยง นี่เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เด็กได้แสดงออกถึงความรู้สึกและยอมรับการสูญเสีย
การทำกิจกรรมที่เด็กชอบ การช่วยให้เด็กกลับมาทำกิจกรรมที่พวกเขาเคยชื่นชอบก่อนการสูญเสีย เช่น การเล่นกีฬา หรือการพบเพื่อนฝูง เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เด็กกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง
การสร้างความทรงจำใหม่ การสร้างความทรงจำใหม่กับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่หรือแม้กระทั่งการทำสิ่งที่เด็กสนใจและชอบเป็นสิ่งสำคัญ เธอได้กล่าวว่า "การเปิดใจให้สัตว์เลี้ยงตัวใหม่ไม่ควรถูกมองว่าเป็นการลืมหรือทิ้งสัตว์เลี้ยงตัวเก่า" แต่ควรมองว่าเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ในชีวิตของเด็ก การสร้างความทรงจำใหม่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นตัวที่ช่วยให้เด็กสามารถก้าวข้ามความเศร้าและความรู้สึกสูญเสียได้
จากการอ่านบทนี้อาจคิดได้ว่า การที่จะให้เด็กกลับเข้าสู่ชีวิตปกติหลังจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยงนั้นไม่เร่งรีบ แต่ต้องให้เวลาแก่เด็กในการปรับตัว
การสนับสนุนและการเข้าใจจากผู้ใหญ่ในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้เด็กกลับมามีความสุขและสามารถรับมือกับความสูญเสียได้
ในบทสุดท้ายของหนังสือซึ่งเป็นบทสรุป โจแอนกล่าวถึง "ความสำคัญของการยอมรับการสูญเสีย" และการให้ความช่วยเหลือเด็กในการจัดการกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยง โดยเธอได้รวบรวมแนวทางปฏิบัติและคำแนะนำจากบทก่อนหน้านี้มาสรุปเป็นหัวข้อสำคัญที่ควรให้ความสำคัญเพื่อช่วยเหลือเด็กในการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้
โจแอนย้ำว่า "การสูญเสียสัตว์เลี้ยงเป็นประสบการณ์ที่ยากลำบากสำหรับเด็ก"
ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กจะรู้สึกเศร้าและต้องการการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในครอบครัวเพื่อผ่านพ้นความโศกเศร้านั้นไป
การยอมรับความรู้สึกของเด็กและการเปิดโอกาสให้พวกเขาแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมานั้นเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้เด็กฟื้นตัวจากการสูญเสีย
เธอยังอีกว่า "พ่อแม่และผู้ปกครองไม่ควรปฏิเสธหรือละเลยความรู้สึกของเด็ก" หรือพยายามทำให้การสูญเสียนั้นดูเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้เด็กไม่สามารถเผชิญหน้ากับความสูญเสียได้อย่างถูกต้อง การที่พ่อแม่หรือครอบครัวบอกว่า
“It’s just a pet” (มันก็แค่สัตว์เลี้ยงตัวหนึ่ง)
หรือ “You can get a new one” (เดี๋ยวเธอก็หาตัวใหม่ได้)
อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าความรู้สึกของพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งอาจส่งผลให้ความเศร้าโศกของเด็กยืดเยื้อออกไปและไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์
โจแอนได้กล่าวว่า กระบวนการฟื้นฟูทางจิตใจและอารมณ์ของเด็กหลังจากที่สัตว์เลี้ยงตายไม่ควรถูกเร่งรัด ครอบครัวควรสนับสนุนให้เด็กพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของพวกเขาและสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ในบางครั้งเด็กอาจยังไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของตนเองได้อย่างชัดเจน ดังนั้นผู้ใหญ่ควรให้การสนับสนุนอดทนและเปิดกว้าง โดยไม่เร่งเร้าให้เด็กต้องลืมความสูญเสียอย่างรวดเร็ว
โจแอนยังแนะนำให้ครอบครัวช่วยให้เด็กได้ทำพิธีรำลึกถึงสัตว์เลี้ยงที่ตายไป
เช่น การจัดพิธีเล็ก ๆ เพื่อรำลึกถึงสัตว์เลี้ยง
หรือการทำอัลบั้มภาพเพื่อเก็บรักษาความทรงจำที่มีร่วมกัน
การทำเช่นนี้ช่วยให้เด็กสามารถจัดการกับความรู้สึกของพวกเขาได้ดีขึ้นและช่วยให้เด็กมีโอกาสพูดคำลาสุดท้ายกับสัตว์เลี้ยง (เห็นบ่อยมากในหนังฝรั่ง)
โจแอนยกตัวอย่างเรื่องราวของจอห์นนี่ และสุนัขของเขาที่ตายด้วยโรคมะเร็งสมอง เขาและครอบครัวของเขาได้จัดพิธีรำลึกถึงสุนัขตัวนี้ โดยเขาได้พูดถึงช่วงเวลาที่เขาได้เล่นและใช้ชีวิตร่วมกับสุนัขของเขา
การพูดถึงความทรงจำดี ๆ ที่เคยมีร่วมกันช่วยให้จอห์นนี่รู้สึกว่าความผูกพันระหว่างเขากับสุนัขยังคงอยู่
แม้ว่าสุนัขจะจากไปแล้วก็ตาม
ครอบครัวมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยเด็กฟื้นฟูจากความโศกเศร้า ความรักและการสนับสนุนที่อบอุ่นจากพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้เด็กกลับมารู้สึกดีขึ้น ทั้งนี้ต้องใช้เวลาในการรับฟังเด็ก และไม่พยายามบังคับให้เด็กฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่สำคัญ เด็กบางคนอาจต้องใช้เวลานานกว่าเด็กคนอื่น ๆ ในการยอมรับการสูญเสียและกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
ในส่วนสุดท้ายของบทสรุปนี้ โจแอนกล่าวถึงการ "มองหาความหวังใหม่" และการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีประสบการณ์ใหม่
ๆ ที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถก้าวข้ามความสูญเสียได้ เช่น
การนำสัตว์เลี้ยงใหม่เข้ามาในครอบครัว
หรือการทำกิจกรรมที่สร้างความสุขและความทรงจำใหม่ ๆ
การเปิดใจให้กับประสบการณ์ใหม่ไม่ใช่การลืมสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่เป็นการให้เด็กมีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ใหม่
ๆ ในชีวิต
จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คิดว่าเนื้อหาเป็นประโยชน์มากต่อความเข้าใจในการดูแลความรู้สึกของเด็กเมื่อต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยง การสูญเสียสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นบ่อนในชีวิตประจำวัน และเกิดขึ้นกับเด็กจำนวนมาก แนวทางในหนังสือเล่มนี้ที่ได้เอามาเล่าให้ทุกคนฟัง หวังว่าจะเป็นประโยชน์และสามารถสร้างบุญสร้างกุศลน้อย ๆ เพื่ออุทิศให้เจ้าแมวน้อยที่ได้จากไป
สมิทธิ อินทร์พิทักษ์
วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๗
พุทมณฑลสาย ๔
ปล. จริง ๆ ตอนอ่านมีอีกเล่มที่พูดถึงแมว สุนัข และสัตว์เลี้ยงที่กลับชาติมาเกิดเพื่อกลับมาพบเจ้าของด้วย ว่าจะเขียนต่อไปบทความถัดไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น