วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2567

Life After Death ในวรรณกรรมสำหรับเด็ก (1)


ชีวิตหลังความตาย ?? Life After Death...
วันนี้ระหว่างอ่านอะไรไปเรื่อย ก็เกิดเบื่อ ๆ อยากดูสารคดีขึ้นมา จังหวะนั้นก็อยากดูอะไรที่ท้าทายหน่อย ก็เลยเปิดสารคดีเรื่องชีวิตหลังความตายและการระลึกชาติซึ่งเป็นสารคดีที่ฝรั่งเป็นคนทำ เนื้อหาน่าสนใจในตัวอยู่แล้ว ยิ่งฝรั่งที่มีความเชื่อว่าชีวิตเกิดมาชาติเดียว มาศึกษาเรื่องชีวิตหลังความตายและการกลับชาติมาเกิดยิ่งทำให้น่าสนใจขึ้นไปอีก 

ปกติหนังสือและสารคดีลักษณะนี้มักพูดถึงแนวทางการสะกดจิตเพื่อระลึกถึงชาติก่อนเพื่อการบำบัดและการคลายปม "รอยจำในอดีตชาติ" หรือแม้กระทั่งการศึกษาเชิงปรจิตวิทยา(ซึ่งตรงนี้เกินความสามารถของเราที่จะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง)  เนื่องด้วยเรียนมาด้านวรรณกรรมสำหรับเด็ก ก็เลยคิดว่า ในฐานะคนศึกษาวรรณกรรม เราสามารถนำมาคิดอะไรเกี่ยวกับวรรณกรรมสำหรับเด็กและเชื่อมโยงประเด็นเหล่านี้ได้ไหม 

ทำให้ลองคิดเล่น ๆ ดูถึงการศึกษาแนวคิดเรื่องชีวิตหลังความตายในวรรณกรรมสำหรับเด็กซึ่งเล่นกับความเชื่อทางวัฒนธรรม บทเรียนทางศีลธรรม และแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังความตาย ก็เลยลองทบทวนดูว่าวรรณกรรมเด็กที่อ่านมีอะไรทำนองนี้ไหม (เท่าที่คิดได้ตอนนี้) เรื่องแรกที่แวบเข้ามาคือ  
นาร์เนีย เล่มตู้พิศวง (The Lion, the Witch and the Wardrobe) ซึ่งเล่าถึง พี่น้องสี่คนตระกูลพรีเวนซี่ ค้นพบดินแดนมหัศจรรย์ที่เรียกว่านาร์เนียที่ซึ่งเด็ก ๆ ได้พบกับอัสลาน (สิงโตตัวใหญ่กว่าปกติ) (ตำราวิเคราะห์วรรณกรรมสำหรับเด็กมักบอกว่าเป็นตัวแทนของพระคริสต์)  โดยในเรื่องนี้ชีวิตหลังความตายได้เสนอในประเด็นของของการเสียสละ การไถ่บาป และการฟื้นคืนชีพ  

ซึ่งบรรดาตำราที่วิเคราะห์วรรณกรรมสำหรับเด็กก็มักจะมุ่งเน้นไปที่สัญลักษณ์เปรียบเทียบของคริสเตียน โดยมักเสนอว่าลูอิส (คนเขียนนาร์เนีย) ใช้สัญลักษณ์และจินตภาพเพื่อถ่ายทอดแนวคิดทางจิตวิญญาณผ่านตัวละครในเรื่อง 
เรื่องที่ 2 แน่นอนคือเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ วรรณกรรมเล่มโปรด ซึ่งตรงนี้จะพูดถึงภาค 7 คือตอนเครื่องรางยมทูต (Harry Potter and the Deathly Hallows) แต่งโดย JK Rowling: (จริงๆถ้าจะให้พูดถึงเรื่อง Harry Potter นี่ยาว 555 เลยเพราะมีวีรกรรมฝังใจกับเรื่องนี้อยู่มากเลยทีเดียว) เรื่องย่อคร่าว ๆ (คร่าวมากสำหรับคนไม่เคยอ่านหรือดู)  ในภาคนี้เล่าถึงการเดินทางตามหา ฮอร์ครักซ์ (ชิ้นส่วนเศษเสี้ยววิญญาณของโวลเดอมอร์ที่ฝากเอาไว้ในวัตถุต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ตนเองตาย ) แฮร์รี่ได้เผชิญชะตากรรมของเขา แน่นอนว่าไม่ได้ในรั้วของฮอกวอตส์อีกแล้ว และต่อสู้กับพ่อมดแห่งความมืดโวลเดอมอร์ ในตอนที่แฮรี่ทำการสู้กับโวลเดอมอร์ และถูกคาถาพิฆาต ทำให้เขาไปปรากฏในชานชลาแห่งหนึ่ง และที่นั่นเขาได้พบกับดัมเบิลดอร์ ซึ่งตายไปแล้ว 

การให้ภาพของโลกหลังความตายในตอนนี้ให้ภาพเป็นชานชาลารถไฟ แม้จะไม่ปรากฏตัวรถไฟก็ตามแต่ภาพของชานชลาสีขาวนั่นอาจหมายถึงการเดินทางเริ่มต้นใหม่ ซึ่งในแง่มุมนี้อาจมองได้ว่าชีวิตหลังความตายเป็นเพียงเส้นทางหนึ่งที่จะนำดวงจิตไปสู่ภพภูมิอื่น ดัมเบิลดอร์เองซึ่งถูกให้ภาพว่าเป็นบุคคลที่เก่งและเฉลียวฉลาดที่สุดในโลกเวทมนต์ ก็เกิดคำถามกับตนเองว่าสถานที่แห่งนี้ที่เขาอยู่เป็นที่ใดกันแน่ 
อีกเล่มหนึ่งคือ "Bridge to Terabithia  โดย Katherine Paterson เหมือนเคยเห็นว่ามีแปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า  สะพานมหัศจรรย์ เรื่องนี้เล่าถึง Jess และ Leslie เพื่อนสาวสองคนที่สร้างอาณาจักรมหัศจรรย์ชื่อ Terabithia เมื่อเกิดโศกนาฏกรรม เจสต้องรับมือกับความสูญเสีย   และต้องมีความคิดเกี่ยวพันกับโลกหลังความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
อีกเรื่องหนึ่งคือ ผจญภัยในสุสาน แปลมาจาก The Graveyard Book โดย Neil Gaiman: เล่าถึงเด็กน้อยที่ชื่อ Bod ซึ่งถูกเลี้ยงดูมาโดยผีในสุสานหลังจากครอบครัวของเขาถูกฆาตกรรม ชีวิตหลังความตายถูกนำเสนอเป็นดินแดนลึกลับและบางครั้งก็น่าสบายใจซึ่งอยู่ร่วมกับโลกที่มีชีวิต  Gaiman เล่นกับแนวคิดเรื่องชีวิตหลังความตายในรูปแบบที่มืดมนและแปลกประหลาด แต่ก็ดึงดูดทั้งเด็กและผู้ใหญ่แต่จริง ๆ มีหลายเรื่องกว่านี้มาก ก็ยังทำให้เห็นว่ามุมมองเกี่ยวกับโลกหลังความตายมีหลากหลายมาก  
วรรณกรรมสำหรับเด็กเหล่านี้ได้เสนอภาพว่าชีวิตหลังความตายถูกพรรณนาไว้อย่างไร ถ้าเด็กๆได้อ่านก็น่าสนใจว่านักเขียนและนักแปลเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกความสนใจและกระตุ้นให้อยากค้นหาคำตอบในสิ่งที่ยังหาคำตอบไม่ได้ซึ่งท้ายที่สุดก็จะเชื่อมโยงความคิดไปสู่หลักทางปรัชญาที่ลึกซึ้งขึ้นชวนให้ตั้งคำถามและเกิดการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด  

สมิทธิ  อินทร์พิทักษ์
22/3/2567
พุทธมณฑลสาย 4

ปล. ภาพไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียน 55555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น