เราศึกษาอะไรกันในเทพนิยาย

เราศึกษาอะไรกันในเทพนิยาย ?

บทความโดย  สมิทธิ  อินทร์พิทักษ์







คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดว่า เทพนิยายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนิทานพื้นบ้านนั้นเป็นเรื่องสำหรับเด็ก (แน่นอนว่าถ้าจะถามว่านิทานพื้นบ้านต่างจากเทพนิยายอย่างไร การจะอธิบายในบทความนี้คงจะทำให้เป็นบทความที่ยาวไม่น้อย) ความเข้าใจผิดข้อใหญ่ของคนทั่วไปนี้ ไม่แตกต่างจากนักวิชาการรุ่นแรก ๆ ที่มักเขียนประวัติศาสตร์ของเรื่องสำหรับเด็ก (วรรณกรรมสำหรับเด็ก) โดยการเริ่มด้วยเทพนิยาย ทั้งที่ในความจริงแล้วเทพนิยายถูกเล่ามานานก่อนที่จะมีนิยามของคำว่า เด็ก (Child) และวัยเด็ก (Childhood
จากงานศึกษาเรื่อง Centuries of Childhood  เขียนโดย Philippe Ariès   เรื่อง The Image of Childhood เขียนโดย Peter Coveney และ The History of Childhood เขียนโดย Lloyd de Mause ---- พบว่าสมัยก่อนนั้นเด็กไม่ได้มีวัยเฉพาะของตนเอง เด็กถูกมองว่าเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็ก จึงต้องทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ตามศักยภาพของผู้ใหญ่ตัวเล็ก  โดยใส่ชุดแบบผู้ใหญ่ ทำงานแบบผู้ใหญ่ ไม่มีวัฒนธรรมหรือวรรณกรรมเฉพาะกลุ่มของตนเอง จากนั้น      เมื่อย่างเข้ายุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 นักปรัชญาชาวอังกฤษคนสำคัญ คือ จอห์น ล็อค (John Locke) ก็ได้ให้นิยามเกี่ยวกับเด็กว่า --- “children are born as blank slates” หรือ ตามที่คนไทยคุ้นหู คือ เด็กเปรียบดัง ผ้าขาว (แปลตามศัพท์เดิม คือ เด็กเปรียบดังกระดานที่ว่างเปล่า) จะเขียนหรือแต่งเติมอะไรก็ได้  อีกทั้ง  ฌ็อง ฌัก รูสโซ (Jean-Jacques Rousseau)  นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสก็ได้ให้นิยามของเด็กไว้เช่นกันว่า เด็กเปรียบดังเมล็ดพันธ์ที่จะเติบโตมาเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการดูแลที่เหมาะสม ซึ่งทำให้นิยามความเป็นเด็ก        ค่อย ๆ สร้างวาทกรรมของตัวเองและเกิดเป็นวัยเด็กที่แตกต่างจากวัยผู้ใหญ่ในปัจจุบัน

ภาพประกอบนิทานเรื่อง The Juniper Tree รวบรวมโดยสองพี่น้องกริมม์  วาดภาพประกอบโดย Tracy Arah Dockray


เดิมทีเทพนิยายไม่เคยสร้างขึ้นให้กลุ่มผู้อ่านวัยเด็ก ผู้ที่ชอบอ่านเทพนิยายหลายคนทราบดีว่า เรื่องราวเหล่านั้นเต็มไปด้วยความหยาบโลน ความรุนแรง หรือเสนอแง่มุมทางศาสนาค่อนข้างชัดเจน เช่น แม่เลี้ยงที่วางแผนฆ่าลูกเลี้ยงตนเอง นกที่จิกตาพี่เลี้ยงใจร้ายจนตาบอด แม่เลี้ยงที่หับหัวลูกชายจนขาดกระเด็นลงไปในหีบผลไม้ พ่อที่กินเนื้อลูกตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือสามีที่เชือดและแขวนคอภรรยาตัวเองไว้ในห้องลับ จากประเด็นดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่าเทพนิยายเหล่านี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างขึ้นมาเพื่อให้เด็กอ่าน แต่อย่างที่ทราบกันว่าปัจจุบันเทพนิยายได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเด็กไปแล้ว คำถามคืออะไรกันที่เป็นจุดเปลี่ยนนั้น

จากคำถามดังกล่าวทำให้เราต้องย้อนกลับไปที่ผู้รวบรวมนิทานพื้นบ้านคนสำคัญ (เทพนิยายเป็นส่วนหนึ่งในนิทานพื้นบ้านด้วย) นั่นคือ สองพี่น้องตระกูลกริมม์ --- จาคอบ กริมม์ (Jacob Grimm) และ วิลเฮล์ม กริมม์ (Wilhelm Grimm) เดิมที่เราเข้าใจกันว่าทั้งสองออกเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลเพื่อรวบรวมนิทานพื้นบ้านจากชาวบ้านในชนบทเพื่อหวังว่าจะได้ข้อมูลคติชนที่ดั้งเดิมที่สุด แต่ในความจริงแล้วนิทานส่วนมากที่สองพี่น้องกริมม์บันทึกนั้นมาจากห้องครัวของครอบครัวชนชั้นกลางที่พวกเขานับถือ โดยกริมม์ขอให้พวกเขาเล่านิทานเหล่านั้นให้ฟังซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือสำนวนที่ถูกบันทึกนั้นย่อมถูกเกลาด้านภาษาด้วยกลไกวัฒนธรรมของชนชั้นกลางแล้วส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ถูกปรับเปลี่ยนโดยสองพี่น้องตระกูลกริมม์ (ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นพวกพิวริตันหรือพวกเคร่งครัดเรื่องศีลธรรม) ทำให้เรื่องราวในนิทานที่พวกเขารวบรวมนั้นมีเนื้อหาเบาลงมากจากสำนวนดั้งเดิม
อย่างไรก็ดีไม่ได้หมายความว่านิทานพื้นบ้านทุกเรื่องและทุกประเภทจะไม่เหมาะสมแก่เด็กเลย หลายปีผ่านมานี้มีงานศึกษาที่น่าสนใจที่พยายามอธิบายความสำคัญและหาวิถีทางในการใช้นิทานพื้นบ้านกับเด็กโดยเฉพาะนิทานพื้นบ้านประเภทนิทานมหัศจรรย์หรือเทพนิยาย (Fairy tales) (จากตรงนี้พอเข้าใจได้บางแล้วว่าเทพนิยายคือประเภทย่อย ๆ ของนิทานพื้นบ้านนั่นเอง) นักวิชาการสองคนแรกที่มีชื่อเสียงและได้รับผลตอบรับที่ยอดเยี่ยมจากการศึกษาด้านนิทานพื้นบ้านและเทพนิยายคือ บรูโน เบธเธลไฮม์ (Bruno Bettelheim) และแจ็ค ไซปส์ (Jack Zipes)

ภาพหน้าปกหนังสือเรื่อง The Uses of Enchantment: The Meaning and Importance of Fairy Tales ฉบับพิมพ์ซ้ำปัจจุบันปกอ่อน           
ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แพนกวิน
        คนแรกที่จะกล่าวถึง คือ บรูโน เบธเธลไฮม์ เป็นนักจิตวิเคราะห์ที่ใช้ทฤษฎีของซิกมันด์ ฟรอยด์ เขียนหนังสือเรื่อง  The Use of Enchantment : The Meaning and Importance of Fairy Tales ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1976   ในเมืองนิวยอร์ก สำนักพิมพ์ Random House และ Vintage Books โดยในหนังสือเล่มนี้ เบธเธลไฮม์  มุ่งประเด็นไปที่สาระสำคัญของเทพนิยายที่ส่งผลต่อจิตใจของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปมเอดิปัส หรือวิเคราะห์สัญลักษณ์ต่าง ๆ  ที่ปรากฏอยู่ในนิทานที่สะท้อนถึงอามรณ์ จิตใจ และความคับข้องใจของเด็ก โดยเบธเธลไฮม์เชื่อว่า นิทานพื้นบ้านและเทพนิยายเป็นเครื่องมือที่เด็กๆ ใช้รับมือกับโลกที่ไม่เป็นไปตามที่พวกเขาคาดหวัง ซึ่งนิทานเหล่านี้ได้ช่วยพวกเด็ก ๆ ให้ได้ระบายความคับข้องใจและทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในโลกที่ครอบครองโดยผู้ใหญ่ 

      ส่วนด้านแจ็ค ไซปส์ ได้ใช้แนวคิดด้านประวัติศาสตร์สังคมในการวิเคราะห์นิทานตามบริบทของความเป็นชาติและความค่านิยมของสังคม เช่นในหนังสือเรื่อง  Fairy Tales and the Art of Subversion  : The Classical Genre for Children and the Process of Civilization ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1983 โดยไซปส์พบว่านิทานเหล่านี้เป็นตัวชี้นำและสนับสนุนแนวคิดของชนชั้นกลางและฉายซ้ำภาพอุดมคติ (Ideology) เกี่ยวกับเรื่องเพศ หนังสืออีกเรื่องคือ  Don't Bet on the Prince: Contemporary Feminist Fairy Tales in North America and England ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1986 ซึ่งไซปส์ได้รวบรวมบทความและนิทานแนวสตรีนิยมที่เสนอภาพทางเลือกอื่นของเพศหญิงที่มีลักษณะเป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ที่อ่อนแอและอยู่ภายใต้ระบบปิตาธิปไตยในแบบเดิมๆ นอกจากนี้ไซปส์ยังเขียนและเป็นบรรณาธิการหนังสือด้านนิทานพื้นบ้านและเทพนิยายอีกหลายเล่ม เช่น เรื่อง Why Fairy Tales Stick: The Evolution and Relevance of a Genre ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2006 โดยไซปส์ใช้แนวคิดเรื่องมีม (meme) ที่กล่าวถึงในหนังสือเรื่อง ยีนเห็นแก่ตัว  (The Selfish Gene) เขียนโดย ริชาร์ด ดอว์กินส์  (Richard Dawkins) นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังสาขาวิวัฒนาการชาวอังกฤษ โดยดอว์กินส์กล่าวว่า มีมเป็นรูปแบบของความคิดทางวัฒนธรรม สัญลักษณ์ หรือการปฏิบัติที่สามารถส่งผ่านจากจิตใจและสมองของมนุษย์คนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ผ่านการเขียน การพูด ท่าทาง พิธีกรรม หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเหมือนกับยีนที่พยายามวิวัฒน์ตัวเองให้อยู่รอด ถ้ายีนวิวัฒน์ตัวเองให้อยู่รอดได้แล้วนั้น มีม (meme) ก็เช่นกัน เมื่อนิทานถูกเล่าออกมา มีมของนิทานเรื่องนั้นก็จะคงอยู่ในสมองมนุษย์ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย เรื่องราวดังกล่าวก็จะฝังอยู่ในความคิดมนุษย์และส่งผ่านไปยังรุ่นต่าง ๆ ต่อไปไม่สิ้นสุด

Why Fairy Tales Stick: The Evolution and Relevance of a Genre เขียนโดย Jack Zipes
       ในหนังสือเรื่อง Trials and Tribulations of Little Red Riding Hood: Versions of the Tale in Sociocultural Context ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1983   ไซปส์ได้รวบรวมนิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดงสำนวน    ( version) ที่สำคัญ ๆ และวิเคราะห์ชะตากรรมของหนูน้อยหมวกแดงในสำนวนต่าง ๆ ที่กินเวลายาวนานมาหลายศตวรรษตั้งแต่นิทานเรื่องนี้กำเนิดขึ้น  โดยไซปส์ได้ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา และรายละเอียดของนิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดงตั้งแต่ยุคที่เล่าต่อกันด้วยปาก (oral tradition) จนบันทึกเป็นลายลักษณ์  กระทั่งการแปรรูปไปของนิทานเรื่องนี้ในยุคอุตสาหกรรม (industrial culture) จากหนูน้อยที่ต้องนำขนมไปให้คุณยายในป่า กลายเป็นหนูน้อยสุดฮอตในวัฒนธรรมกระแสนิยม (popular culture) เช่น หนูน้อยสุดเซ็กซี่ในผ้าคลุมแดง หรือสาวขายลิปสติกสีแดงแรงฤทธิ์ที่พร้อมกระชากใจฝูงหมาป่าเป็นต้น


หนังสือเรื่อง Trials and Tribulations of Little Red Riding Hood: Versions of the Tale in Sociocultural Context 
เขียนโดย Jack Zipes ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สอง

      
หนังสือเล่มสำคัญอีกเล่มของ Jack Zipes ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ  Don't Bet on the Prince: Contemporary Feminist Fairy Tales in North America and England  โดย แจ๊ค ไซปส์ (Jack Zipes) เป็นบรรณาธิการ เขาได้รวบรวมบทความวิชาการและนิทานสมัยใหม่ที่แต่งขึ้นโดยให้ผู้หญิงมีลักษณะนิสัยที่เป็นผู้นำ มีความกล้า ตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งแตกต่างจากภาพลักษณ์ของ  ตัวละครเพศหญิงแบบเดิม ๆ 




หนังสือ Don't Bet on the Prince: Contemporary Feminist Fairy Tales in North America and England

      หนึ่งในบทความที่ Jack Zipes นำมารวมไว้ในหนังสือคือ บทความของ Marcia Lieberman  เรื่อง Some Day my Prince Will Come: Female Acculturation Through the Fairy Tale  ซึ่งอธิบายถึงสารที่เด็ก ๆ ได้รับจากการอ่านนิทานและเทพนิยาย เช่น บทบาททางเพศ หรือคุณค่าที่แต่ละเพศถูกกำหนด นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังซึมซับค่านิยมทางเพศของสังคมโดยไม่รู้ตัว คำว่า “Some Day my Prince Will Come” ซึ่งเป็นชื่อบทความมีความหมายว่า “สักวันเจ้าชายของฉันจะมา” ซึ่งคำ ๆ นี้ มีนัยถึงการรีรอ ไม่ทำอะไร หวังเพียงแต่รอให้ใครสักคน (ผู้ชาย) พาชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งให้ดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ Marcia Lieberman เห็นสารเหล่านี้ในนิทานจึงได้ตีพิมพ์บทความเรื่องนี้เพื่อเตือนสติพ่อแม่และผู้ใกล้ชิดกับเด็ก โดยแนวคิดของ Marcia Lieberman ได้รับแนวคิดจากแนววิจารณ์สตรีนิยม ซึ่งพัฒนาขึ้นจากประเด็นทางการเมืองเมื่อประมาณสองร้อยปีที่ผ่านมา โดยผู้หญิงหลาย ๆ คนเริ่มตระหนักว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้รับโอกาสเช่นเดียวกับผู้ชาย อีกทั้งสังคมโดยรวมมองว่าผู้หญิงมีสถานะที่ด้อยกว่าผู้ชาย และความแตกต่างของผู้หญิงและผู้ชายเป็นเรื่องตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงได้มีการก่อขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีและเริ่มเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงความเชื่อตลอดจนสภาพแห่งความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย

            เมื่อนำแนวคิดนี้มาศึกษาในตัวบทนิทานหรือวรรณกรรมนั้น จึงมีขอบเขตในประเด็น เช่น ผู้เขียนหรือผู้เรียบเรียงตัวบทนำเสนอภาพผู้หญิงในนิทานหรือวรรณกรรมอย่างไร แนวคิดในตัวบทเสนอวาทกรรมใดกับเพศหญิง ผู้ชายและผู้หญิงเมื่อสร้างตัวบทแล้ว สร้างเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร เป็นต้นในส่วนนี้จะยกตัวอย่างนิทานที่ไซปส์รวบรวมมาหนึ่งเรื่อง สั้น ๆ ดังต่อไปนี้
            นิทานเรื่อง ...And Then the Prince Knelt Down and Tried to Put the Glass Slipper on Cinderella’s Foot โดย Judith Viorst แปลโดยผู้เขียนบทความ
            เรื่อง ...และแล้วเจ้าชายก็คุกเข่าลงและพยายามใส่รองเท้าแก้วให้ซินเดอเรลลา
            ฉันไม่ได้สังเกตจริง ๆ นะว่าเขาจะมีจมูกที่ตลกแบบนี้
            และเขาก็ดูดีจริง ๆ นะ เอ่อฉันหมายถึงตอนที่เขาใส่ชุดแฟนซีน่ะ
            แต่ตอนนี้เขาไม่ได้ดูมีเสน่ห์อะไรเลย เรียกว่าขี้เหร่ด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับคืนอื่น ๆ
            โอ๊ย งั้นฉันจะแกล้งทำเป็นว่ารองเท้าแก้วข้างนี้คับใส่ไม่ได้ก็แล้วกัน
              ไม่เพียง บรูโน เบธเธลไฮม์ และแจ็ค ไซปส์ เท่านั้นที่นำนิทานพื้นบ้านและเทพนิยายมาศึกษาใน มิติต่าง ๆ  ปัจจุบันมีนักวิขาการอีกมากมายที่พยายามนำแง่มุมใหม่ ๆ เข้ามาศึกษาตัวบทพื้นบ้านหรือที่มาเรีย ทาทาร์ ( Maria Tatar) นักวิชาการด้านเทพนิยายคนสำคัญอีกคนเรียกว่า “เรื่องเล่าแห่งวัฒนธรรม” (cultural Stories) จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะพบว่า มีมุมมองมากมายที่สามารถนำมาวิเคราะห์ หาคุณค่าของตัวบทเหล่านี้ ดังที่จะกล่าวต่อไปในส่วนของเนื้อหาเช่น การศึกษาโครงสร้างของนิทาน การศึกษาแบบฉบับทางจิตวิทยาของนิทาน การนำนิทานมา สหบท หรือแม้กระทั่งการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมสมัยใหม่โดยใช้พื้นฐานแนวเรื่องมาจากนิทานที่คุ้นเคย เช่น หนูน้อยหมวกแดง เจ้าชายกบ  ซินเดอเรลลา สโนวไวท์  เจ้าหญิงนิทรา  เป็นต้น

        นักวิชาการอีกคนหนึ่งที่สำคัญ คือ เชลดอน แคสช์แดน (Sheldon Cashdan) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Witch Must Die : The Hidden Meaning of Fairy Tales (แม่มดต้องตาย ความหมายซ่อนเร้นในเทพนิยาย) ซึ่งฉบับพิมพ์ครั้งแรกปกแข็งนั้น เคยใช้ชื่อว่า The Witch Must Die: How Fairy Tales Shape Our Lives (แม่มดต้องตาย เทพนิยายก่อร่างสร้างชีวิตเราได้อย่างไร ) ในหนังสือเล่มนี้ แคสช์แดน กล่าวว่าเทพนิยายต่าง ๆ นั้นช่วยให้ผู้อ่านหรือเด็ก ๆ ได้เผชิญกับความสู้ฝ่าฟันระหว่างความดีกับความชั่วผ่านตัวละครต่าง ๆ ในนิทาน ซึ่งเมื่อเราได้อ่านนิทาน เราจะได้พบกับบาปทั้ง 7 ที่อยู่ในตัวเรา คือ ความเย่อหยิ่ง (Vanity) ความตะกละ (Gluttony) ความอิจฉาริษยา (Envy) ความหลอกลวง (Deceit) ราคะ (Lust) ความโลภ (Greed) และความเฉื่อยชา (Sloth)
           ทั้งนี้แคสช์แดนเสนอว่า นิทานในแต่ละเรื่องมักมีตัวละครที่ชั่วร้าย หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พาให้ตัวละครเอกไปสู่ความยุ่งยากสับสัน ซึ่งตัวละครหรือเหตุการณ์เหล่านี้เองที่เผยให้ผู้อ่านพบกับบาปทั้ง 7 ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของผู้อ่านอยู่แล้ว หน้าที่ของนิทานเหล่านี้คือ ทำให้ผู้อ่านหรือเด็กค้นพบบาปที่อยู่ในตัวเองนและขจัดออกไปเพื่อที่จะใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ เหมือนกับแม่มดที่ต้องตายเพื่อให้ตัวละครเอกมีชีวิต บั่นปลายอย่างความสุข


The Witch Must Die : The Hidden Meaning of Fairy Tales เขียนโดย Sheldon Cashden

            นิทานพื้นบ้านเป็นเรื่องเล่าที่เรียบง่าย และเป็นเรื่องเล่าแรก ๆ ที่เด็กทุกคนได้ฟังจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย    แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงคุณค่าและสิ่งที่ซ้อนเร้นอยู่ในนั้น ถึงแม้ปัจจุบันนักวิชาการหลายคนพยายามถอดความลับ รหัส ที่แฝงอยู่ในนิทานแต่ละเรื่อง แต่จากงานศึกษาที่พิมพ์ออกมาทุกปีเป็นประจักษ์พยานแล้วว่า นิทานเหล่านี้ 

มีความหมาย มีคุณค่าและตีความได้ไม่รู้จักจบสิ้น นิทานเป็นเหมือนของล้ำค่า ที่ต้องคงอยู่คู่กับมนุษย์สืบไป ดังนั้นจึงขอจบบทนำนี้ด้วยคำกล่าวของ Marina Warner ที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง Once Upon a Time: A Short History of Fairy Tale ว่า “We are walking through the dark forest, trying to spot the breadcrumbs and follow the path. But the birds have eaten them, and we are on our own. Fairy tales give us something to go on. It’s not much, but it’ll have to do. It’s something to start with’’

 หนังสือเรื่อง Once Upon a Time: A Short History of Fairy Tale เขียนโดย Marina Warner  
(เรากำลังเดินผ่านป่าอันมืดมิด พยายามมองหาเศษขนมปังเพื่อหาทางกลับบ้าน แต่ฝูงนกจิกกินไปหมดแล้ว และเราจะต้องหาทางเดินด้วยตนเอง เทพนิยายให้บางสิ่งกับเรา ให้เราได้เดินต่อไป แม้จะเป็นอะไรที่ไม่มากนักแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี – แปลโดยผู้เขียนบทความ)

สมิทธิ อินทร์พิทักษ์
31 มีนาคม 2563
เมื่อโควิด19 บุกโลก เราก็ต้องกลับไปหาเทพนิยาย



























ความคิดเห็น