วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

The First Journey กับศักยภาพของหนังสือภาพสำหรับเด็ก

The First Journey ศักยภาพของหนังสือภาพสำหรับเด็ก

บทความโดย สมิทธิ อินทร์พิทักษ์


                     หนังสือภาพมีไว้ทำไม หลายคนเข้าใจว่าหนังสือภาพ (ขอใช้ในความหมายเดียวกับ นิทานภาพ หนังสือนิทานภาพ นิทาน ซึ่งมีธรรมชาติและรูปลักษณ์ของการดำเนินเรื่องด้วยการสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างคำและภาพ หรือภาพอย่างเดียวในกรณีของ Wordless Picture book) มีไว้สอนเรื่องราวง่าย ๆ สำหรับเด็ก การนับเลขผ่านตัวละครที่เป็นสัตว์ เช่น เลข ๑ มีนก ๑ ตัว เลข ๒ มีแมว ๒ ตัว หรือสอนเกี่ยวกับสี รูปทรงต่าง ๆ เวลา สิ่งของที่เป็นหมวดหมู่ ซึ่งก็อาจจะนับว่าถูกส่วนหนึ่ง แต่หนังสือภาพลักษณะนี้ เราจะเรียกว่า Concept book ที่นำเสนอความคิดรวบยอดให้กับเด็กเล็ก ๆ ในวัยอนุบาล แต่ในบทความนี้จะพูดถึงหนังสือภาพที่มีความซับซ้อนในระดับของเรื่องเล่า (Narrative) ซึ่งแตกต่างจากวรรณกรรมทั่ว ๆ ไปที่อาศัยแต่ตัวอักษรในการสื่อสาร กล่าวคือ หนังสือภาพใช้ทั้งภาพและคำ

                     หนังสือภาพเรื่อง The First Journey เขียนและวาดภาพประกอบโดยศิลปินชาวเวียดนามคือ  Phung Nguyen Quang และ Huynh Kim Lien  หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล Scholastic Picture Book Award ในปี ๒๐๑๕




       จากภาพหน้าปกคือ ภาพของเด็กชายคนหนึ่งที่กำลังพายเรืออยู่กลางลำน้ำพร้อมทั้งชื่อเรื่องคือ The First Journey (การเดินทางครั้งแรก หรืออยากจะแปลว่า การผจญภัยครั้งแรก ก็ไม่น่าจะผิดอะไร ) อาจชวนทำให้คิดว่าเป็นการเดินทางไปในโลกมหัศจรรย์หรือดินแดนเหนือจริง (Fantasy World) อีกทั้งสีของผืนน้ำที่มีสีดำอมเขียวชวนให้นึกถึงภัยอันตรายที่แอบแฝงอยู่เบื้องล่าง อย่างไรก็ดีภาพของดอกบัวสีชมพูที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ๕ ดอกนั้น ช่วยขับความรู้สึกน่ากลัวออกไปได้บ้าง ทำให้ภาพที่เห็นคงไว้ซึ่งธรรมชาติที่งดงามของลำน้ำ หากไม่มีดอกบัว ๕ ดอกนี้ อารมณ์ของภาพก็ย่อมแตกต่างออกไป แสดงถึงกลวิธีทางศิลปะที่จะช่วยสร้างอารมณ์ให้แก่ภาพและเรื่อง

        ถึงแม้การผจญภัยครั้งแรกครั้งนี้จะดูเหมือนว่าเป็นการผจญภัยไปในโลกเหนือจริง แต่ความจริงแล้ว  The First Journey  เล่าถึงการเดินทางไปในโลกของเรา โดยระบุชัดเจนไว้ท้ายเรื่องว่า ฉากในเรื่องคือดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนามในฤดูน้ำหลาก (Floating Season) ช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ช่วงเวลานี้บ้านเรือนและทุ่งนาจะจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด เด็ก ๆ จำเป็นต้องไปโรงเรียนโดยใช้เรือ พ่อแม่บางคนอาจจ้างคนแจวเรือพาลูกตนไปส่งถึงโรงเรียน แต่ก็มีเด็ก ๆ บางคนที่ต้องพายเรือไปโดยลำพัง แอน (An) ตัวละครเอกของเรื่องคือหนึ่งในนั้น

       
  

"I row lightly through my village, past tree tops and roof tops"


            ภาพของหมู่บ้านจมอยู่ใต้น้ำปรากฏแก่สายตาของแอนและผู้อ่าน แผ่นน้ำอันเวิงว้างจนสุดขอบฟ้าแสดงถึงหนทางข้างหน้าที่ตัวละครจะต้องเดินทางไป แน่นอนว่าผู้อ่านก็จะติดตามตัวละครไปด้วยเช่นกัน สำหรับเด็กหลาย ๆ คนแล้ว ภาพที่ปรากฏตรงหน้าอาจเป็นเรื่องแปลกใหม่ เด็กไทยเองหลายคนอาจจะชินกับภาพดังกล่าวบ้างเนื่องจากวิกฤตทางอุทกภัยในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ธรรมชาติที่คุมไม่ได้กับเด็กที่ยังไม่พร้อมจะช่วยเหลือตัวเอง เป็นความท้าทายที่ผู้อ่านและตัวละครจะต้องฟันฝ่าไป เมื่อธรรมชาติรอบตัวสร้างความขัดแย้งกับสภาพความเป็นอยู่ แต่ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป เด็กน้อยคนหนึ่งจึงคว้าพายพร้อมผจญโลกเบื้องหน้า 




"...to the paddy fields where the rain pours down."

           บางครั้งโชคชะตามักเล่นตลก แม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดก็ยังมีอุปสรรคเข้ามาซ้ำเติม นี่คือความจริงซึ่งทุกชีวิตต้องเจอ สำหรับแอนแล้ว แม้ฝนจะตกกระหน่ำลงมา แต่เขาก็สู้ รับมือ และไม่ท้อถอย เขาเด็ดใบบัวแถวนั้นเพื่อนำมาใช้วิดน้ำออกจากเรือ หลายครั้งที่ความช่วยเหลือจะมาหาผู้ที่สมควรได้รับ เพียงแต่ว่าเราต้องมองหาแล้วลงมือช่วยเหลือตัวเองด้วย
              
           


"The sun has yet to rise, darkness surrounds me. 
What lurks in the water ? What if I fall out of my boat ?  
The deeper I go, the more afraid I am... But I can't turn back."

              แม้ธรรมชาติหรือศัตรูภายนอกจะน่ากลัวแค่ไหน ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่าจิตใจของตัวเราเอง ท้ายที่สุดแล้วหลังจากต่อสู้กับภัยอันตราย ศัตรูคู่แค้น หรือฝนที่กระหน่ำ เราจะพบกับสิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่ไม่ได้อยู่ในถ้ำอันมืดมิดหรือสุสานอันสยองพองเกล้า หากแต่เป็นสิ่งที่อยู่กับเรามาโดยตลอด  นั่นคือความคิดของตัวเราเอง จิตใจที่ปรุงแต่ง มโนคิดที่ท้อถอยซึ่งมักสร้างพลังด้านลบแก่เรา หากวันนั้นมาถึง เราอาจจะต้อง(จำเป็นต้อง) ใช้พลังหรือกำลังอย่างมากเพื่อรับมือกับอำนาจที่ยิ่งใหญ่ซึ่งสร้างมาจากตัวเราเอง




                           
                  หลังจากที่ผจญภัยมาตั้งแต่ตอนจนถึงตอนจบ แน่นอนว่าแอนจะต้องถึงโรงเรียนและพบกับเพื่อน ๆ และครูที่ต่างฟันฝ่าอุปสรรคมาเหมือนกัน  ดังที่ผู้อ่านอย่างเรา ๆ เดากันได้ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนบทความไม่ขอนำภาพตอนจบมาให้ดู รวมถึงภาพอืน ๆ ในเรื่องนี้ด้วย เพื่อหวังว่าผู้อ่านบทความจะหาโอกาสหยิบหนังสือเล่มนี้มาดูด้วยตนเอง อย่างที่รู้กันว่า หนังสือภาพหลาย ๆ เล่มมีสองนัยแห่งความหมาย กล่าวคือนัยที่ผู้อ่านวัยเด็กอ่านก็จะได้อย่างหนึ่ง ผู้อ่านวัยผู้ใหญ่อ่านก็จะได้ความหมายอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นการไม่นำภาพตอนจบจากเรื่องมาให้ชมเพื่ออยากให้ผู้อ่าน อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวเองแล้ว ยังสื่อความอีกนัยหนึ่งว่า เราจะต้องเดินทางในการผจญภัยของตัวเอง ฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านั้น อุปสรรคของเรา เอาชนะจิตใจด้านมืดของเรา สุดท้าย เราจะพบตอนจบนั้นเอง ตอนจบที่เป็นของเราอย่างแท้จริง

สมิทธิ อินทร์พิทักษ์
8/1/2561
                                                                  



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น