วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เล่าเรื่อง Ecocriticism แบบ soft soft

ว่าด้วยการศึกษา Ecocriticism ในวรรณกรรมสำหรับเด็ก (๑)

                                                                                                    โดย  สมิทธิ อินทร์พิทักษ์        

หลายปีมาแล้วได้อ่านหนังสือเรื่อง Ecocriticism (The New Critical Idiom) เขียนโดย Greg Garrard ตั้งแต่ยังเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ตามอ่านชุด (The New Critical Idiom) มาตั้งแต่เรื่อง Ideology แล้วก็คิดว่าการวิจารณ์เชิงสิ่งแวดล้อมนี้น่าสนใจจัง อยากเอามาวิจารณ์ตัวบทวรรณกรรมสำหรับเด็กบ้าง (สมัยนั้นยังไม่เคยได้ยินคำว่าการวิจารณ์เชิงนิเวศน์ ก็เลยคิดว่ามันคงเรียกว่าวิจารณ์เชิงสิ่งแวดล้อมมั้ง) ต่อมาไม่นานก็ปรากฎงานของ อ.ธัญญา วรรณคดีสีเขียว : กระบวนทัศน์และวาทกรรมธรรมชาติในวรรณคดีไทย วางขายในร้านหนังสือ ในใจก็คิดนะว่า เอาแล้ว เอาแล้ว มาแน่ ๆ มาแน่ ๆ งานแนวคิดนี้ ซึ่ง อ.ธัญญา เขียนอีกเล่มคือ ผู้หญิงยิงเรือ : ผู้หญิง ธรรมชาติ อำนาจ และวัฒนธรรมกำหนดสตรีนิยมเชิงนิเวศในวรรณคดีไทย (อันนี้เป็น Ecofeminism) จริง ๆ แล้วชอบทั้งสองเล่มเลยเพราะค่อนข้างใหม่สำคัญวงการวรรณคดีไทยศึกษา (ที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม) แต่ขัดใจคำนำโดยของหนังสือโดย อ.ชลธิรา (น่าจะเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ หรือเปล่า ?) รู้สึกว่าเขียนเยอะเกินไปนิด บางช่วงเขียนแบบข่ม ๆ (หรือคิดไปเอง 555+) ก็อย่างว่า "ความรู้คืออำนาจ" ไม่แปลกที่ แว่นวรรณคดี ทฤษฎีร่วมสมัย ของ อ.ธัญญา ที่พิมพ์วางขายในปีนี้จะมีหัวข้อ Ecocriticism กับ Ecofeminism ด้วย แต่น่าสนใจคือ ทั้ง 2 หัวข้อนี้ไม่มีในหนังสือ ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์ตะวันตก ของ อ.สุรเดช ล่าสุดก็มีหนังสือเรื่อง พินิจปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านมุมมองวรรณกรรมอเมริกันร่วมสมัย โดย อ.ดารินทร์ ตีพิมพ์และวางขายในเดือนนี้ (น่าจะมากจากรายงานโครงการวิจัยปี 2554) 




กลับมาที่วรรณกรรมสำหรับเด็ก ซึ่งส่วนตัวก็ได้ค้นหาการศึกษาด้านนี้ก็พบว่า ในปี ค.ศ. 2004 (12 ปีที่แล้ว)Kenneth Kidd กับ Sidney I. Dobrin ได้เป็นบรรณธิการและตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Wild Things: Children's Culture and Ecocriticism ในชุด (Landscapes of Childhood Series) ซึ่งศึกษาวัฒนธรรมของเด็กและการวิจารณ์เชิงนิเวศน์ในวรรณกรรมสำหรับเด็กมาก่อนแล้ว (ตอนแรกคิดว่าอยากจะลองใช้แนววิจารณ์นี้ในวรรณกรรมสำหรับเด็กคนแรก ๆ แต่...ฝันสลาย *-*) โดยใช้ตัวบทสำคัญ ๆ คือ ปีเตอร์แพน โลแร็ก ชาร์ล็อตต เว็บ ฯลฯ ในการศึกษา ในปี ค.ศ. 2013 Alice Curry เขียนเรื่อง Environmental Crisis in Young Adult Fiction: A Poetics of Earth ในชุด (Critical Approaches to Children's Literature) ศึกษาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ปรากฎในวรรณกรรมเยาวชน และยังมีบทความอื่น ๆ อีกมากมายจากนักวิชาการด้านวรรณกรรมสำหรับเด็กที่ศึกษาในประเด็นนี้ผ่าน ภาพยนตร์สำหรับเด็ก อนิเมชั่น หนังสือภาพ บทกวีของเด็ก ตีพิมพ์ในวารสารสำคัญ ๆ เช่น Children's Literature in Education เท่ากับว่าแนววิจารณ์แนวนี้ได้รับความสนใจมากสักระยะแล้วในแวดวงวรรณกรรมสำหรับเด็กต่างประเทศ ส่วนประเทศไทยส่วนตัวแล้วก็ได้พบตัวบทที่เสนอประเด็นเหล่านี้บ้างแล้ว ทั้งในวรรณกรรมเยาวชนและนิทานภาพ แต่แนวคิดหรือทฤษฎีเชิงนิเวศน์นี้ยังไม่ปรากฎว่ามีการนำมาจับตัวบทวรรณกรรมสำหรับเด็กของไทยอย่างจริงจัง
18/11/2559
สมิทธิ อินทร์พิทักษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น