วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ครูกับเด็ก สายใยที่ไม่ใช่แค่การสอน

                            บทบาทของครูกับการเรียนรู้ของเด็ก 

                                                                                                                          สมิทธิ อินทร์พิทักษ์
___________________________________________________________________________
                                    
                               “  Education is not preparation for life; education is life itself .” 
                                                                                                  John Dewey

การศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กนั้น มีนักปรัชญาหลายท่านกล่าวไว้ว่า เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กอยู่ในท้อง กล่าวคือ เด็กจะเริ่มเรียนรู้ถึงการมีชีวิตอยู่ เรียนรู้ถึงความอุ่นในตัวแม่ มีการพัฒนาของสมองอย่างรวดเร็วด้วยในระยะระหว่างนี้ แล้วเมื่อเด็กคลอดออกมา โลกนอกครรภ์ของแม่คือสิ่งใหม่สำหรับเด็กทั้งหมดที่เด็กแต่ละคนจะต้องเรียนรู้ จะเห็นได้ว่าการศึกษาและการเรียนรู้นั้นเป็นเหมือนสิ่งเดียวกันกับชีวิต
ปัจจุบันเป้าหมายที่แท้จริงของศึกษานั้นถูกทำให้ผิดไป จากการศึกษาเพื่อพัฒนาคน พัฒนาความรู้ความเข้าใจต่อโลก ยกระดับจิตใจ และสร้างคุณค่ากลับคืนสู่สังคมโลก การศึกษากลับการเป็นเครื่องมือในการสร้างอาชีพเท่านั้น ซึ่งไม่ได้รับประกันว่า จะตอบแทนคุณแก่สังคมและโลกซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหวั่นวิตกกันมากในปัจจุบัน อย่างในประเทศไทยซึ่งมีการส่งเสริมและมีนโยบายให้ประชากรทุกคนได้รับการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ว่าเด็กจะต้องได้รับการศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่เก้าของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ นั่นคือเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทุกคน ซึ่งน่าแปลกใจว่าเหตุใดเมื่อมีการบังคับให้เรียนกันทุกคนแต่กลับพบว่ามีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในสังคม เช่น อาชญากรรมต่าง ๆ ที่อาจมีต้นเหตุมาจากเด็กที่ได้รับการศึกษาซึ่งอาจจะสะท้อนแง่มุมว่า การศึกษาในปัจจุบันมีผลลัพธ์และ
เป้าหมายอย่างไรกันแน่
การศึกษาสำหรับเด็กไทยวันนี้มีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงมาก ไม่ใช่เพียงลำพังแต่ระบบการศึกษาเท่านั้นที่ส่งผลกับตัวเด็ก       
แต่สภาพสังคม เศรษฐศาสตร์ ต่าง ๆ ที่กำหนดแนวทางการศึกษาของเด็กได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม สภาพสังคมที่บีบคั้นให้ผู้ที่เรียนเก่งเท่านั้นถึงมีสิทธิ์เลือกงาน เลือกที่เรียน หรือเป็นที่ยอมรับของสังคมบริโภคนิยมอีกทั้งระบบเศรษฐ์กิจที่สร้างความคาดหวังต่อพ่อแม่ว่าแนวทางที่จะให้ลูกตัวเองเลือกเรียนนั้นคืออะไร โดยไม่เล็งเห็นถึงความสามารถที่แท้จริงของเด็ก จนเด็กแทบจะไม่ได้ผ่านวัยเด็กเลยแม้แต่น้อย พ่อแม่บางคนส่งลูกไปเรียนหลายวิชาในวันเดียว ซึ่งไม่ใช่เพียงเรียนในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังมีสถานสอนพิเศษเปิดกันอย่างดาษดื่ม อาทิเช่น โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนดนตรี โรงเรียนสอนเต้น โรงเรียนสอนศิลปะ โรงเรียนสอนการแสดง ซึ่งมีเด็กหลายคนต้องไปเรียนตามโรงเรียนทั้งหมดนี้ภายในวันเดียวเพราะความเชื่อมั่นของพ่อแม่ว่า ถ้าเรียนหลาย ๆ อย่าง เก่งหลาย ๆ อย่าง จะทำให้ลูกของตนมีสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น ในสังคมแห่งการแข่งขันนี้


 ภาพที่ 1. ภาพยนตร์เรื่อง Taare Zameen Par หรือ Every child is special (2007)
จากภาพยนตร์เรื่อง Taare Zameen Par หรือ Every child is special (2007) เล่าถึง อิชาน อวาสติ ( Ishaan Awasthi) เด็กชายวัย 8 ขวบ โลกของเขาเป็นโลกที่ต้องการเติมเต็มและความเข้าใจ เด็กชายไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนกับเด็กทั่วไปที่อยู่ในวัยเดียวกัน อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่เป็น จนโรงเรียนเรียกผู้ปกครองไปพบขอให้ลาออก มีอยู่ฉากหนึ่งช่วงที่ อิชานโดนครูไล่ออกไปนอกห้องและเดินออกนอกโรงเรียนเข้าไปเดินเล่นในเมือง อิชานได้เห็นการดำเนินชีวิตของคนในเมืองในหลาย ๆ แบบ                   
ฉากที่เด็กเล็ก ๆ ขี่คอพ่อพ่อซื้อน้ำแข็งใส ใส่น้ำหวานส่งให้ลูกที่ขี่คอดูด ลูกยิ้มอย่างมีความสุข ฉากรถโดยสารสองชั้นวิ่งเลียบริมแม่น้ำเห็นบรรยากาศโดยรอบเมือง ซึ่งทำให้อิชานได้มองเห็นโลก  ที่ยิ่งใหญ่กว่าการติดกรอบอยู่ในห้องเรียนแบบเดิม อย่างไรก็ดี เด็กชายยังคงดูเหมือนเป็นปัญหาของครอบครัวไม่ตรงตามความต้องการของพ่อแม่ที่คาดหวังให้เขาต้องเรียนเก่ง ๆ เขาจึงถูกส่งให้ ไปอยู่โรงเรียนประจำ เพื่อหวังว่าเขาจะเรียนรู้สามารถดูแลตัวเองได้ ตรงกันข้ามเด็กชายยังเหมือนเดิม อีกทั้งยิ่งทำให้เขาเศร้าใจหนักขึ้นจนหยุดวาดรูปซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กชายรักที่สุด
จนกระทั่งอิชานได้พบกับ ครู นิคัม ( Nikumbh) ที่เข้ามาเติมเต็มให้เด็ก ๆ และมองเห็นความสามารถพิเศษของ   อิชาน       
ซึ่งต่างจากครูสอนศิลปะคนก่อน  คาบแรกครูนิคัมเข้ามาสอนพร้อมกับการร้องลำทำเพลงอย่างสนุกสนาน  ซึ่งอาจจะสะท้อนว่าผู้เรียนกับผู้สอนนั้นไม่ได้มีความห่างเหินกัน หากแต่เรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งเดียวกันจึงจะบรรลุจุดประสงค์ของการเรียนรู้ได้ อีกทั้งครูนิคัมยังให้กระดาษเปล่ากับเด็กโดยไม่บังคับให้เด็กวาด ซึ่งสะท้อนถึงการให้เด็กคิดและจินตนาการเองซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องของวิชาศิลปะและยังมีนัยยะถึงการให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนตามความถนัดและไม่บังคับอีกด้วย
ครูนิคัมเล็งเห็นถึงปัญหาของอิชานจึงขอจากผู้อำนวยการโรงเรียนว่าจะสอนเด็กชายเอง ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นครูอย่างแท้จริง รู้ปัญหาของเด็ก อดทนที่จะช่วยเหลือเด็ก ซึ่งตรงกับหลักของความเป็นครูอย่างสมบูรณ์กล่าวคือ ไม่ใช่เพียงว่ามีหน้าที่ในการสอนเท่านั้น แต่ต้องให้ความรัก ความเอ็นดู และความปรารถนาดีที่จะให้ความรู้และเห็นเด็กประสบความสำเร็จ ซึ่งต่างจากครูคนอื่น ๆ ซึ่งได้แค่เพียงสอนเท่านั้นและเมื่ออิชาน
ไม่เข้าใจก็ถูกทำโทษโดยไม่หาสาเหตุที่แท้จริง ในที่สุดอิชานก็สามารถเขียนและอ่านได้ ครูนิคัมได้จัดงานการแข่งขันวาดรูปขึ้นมาและรูปวาดของผู้ชนะก็จะได้ขึ้นเป็นหน้าปกของสมุดโรงเรียน ด้วยความรักและความทุ่มเทของครูนิคัมซึ่งเข้าใจปัญหาของอิชานจริง ๆ และแก้ไขได้ทำให้จิตวิญญาณ
ของอิชานกลับมาอีกครั้ง และเขาก็ได้วาดรูปที่งดงามและชนะเลิศให้การแข่งขันและกลับมาเป็นเด็กที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง

ภาพที่ 2. รูปวาดของอิชานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ


          ด้านวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง ติสตู พ่อหนูนิ้วโป้งเขียว ซึ่งได้นำเสนอแง่มุมของการศึกษาไว้น่าสนใจ  ในเรื่องกล่าวถึง  ติสตู เด็กน้อยน่ารักที่ต้องเข้าไปเรียนหนังสือในโรงเรียนซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนให้ท่องจำซึ่งมองว่าติสตูนั่นโง่หรือไม่เป็นไปตามที่โรงเรียนคาดหวังจนกระทั่งติสตูมาพบกับลุงหนวด ซึ่งเป็นคนสวนได้สอนให้ติสตูปลูกต้นไม้ซึ่งทำให้เด็กน้อยได้พบพรสวรรค์ของตนนั่นคือการปลูกต้นไม้ พรสวรรค์นี้ยังช่วยทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่กระทั่งหยุดสงครามได้เลยทีเดียว

“... มีเมล็ดพันธุ์อยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ไม่ใช่เพียงในดินเท่านั้น
แต่มันมีอยู่บนหลังคาบ้านเอย บนขอบหน้าต่างเอย บนทางเดิน บนรั้วไม้
 บนกำแพง เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นมีเป็นเรือนแสนเรือนล้าน ที่ไม่ได้ใช้ทำอะไรเลย
 มันอยู่ที่นั่นรอให้ลมพัดผ่านมาเพื่อพาไปยังทุ่งหรือไปสู่สวนมีอยู่บ่อยครั้งที่เมล็ดพันธุ์
เหล่านั้นแห้งค้างอยู่ในซอกหินโดยไม่อาจกลายเป็นดอกไม้ได้ แต่หากนิ้วหัวแม่มือสีเขียว
ได้สัมผัสเมล็ดพันธุ์เหล่านี้เมล็ดเดียว ไม่ว่ามันจะอยู่ในที่ใดก็ตาม  ดอกไม้จะงอกขึ้นในทันทีทันใด ...
                                        
             
          ข้อความที่ยกมาข้างต้นไม่ได้หมายถึงความสามารถของติสตูเท่านั้น หากแต่หมายถึง ครู หรือ แม้กระทั่งผู้ใหญ่ทุกคนที่จะเห็นเด็ก ๆ ที่เปรียบเสมือนเมล็ดต้นไม้เหล่านั้นหรือเปล่า เพราะความรักหรือความเข้าใจของครูหรือผู้ใหญ่ทั้งหลายนั้นเล่าที่จะเป็นเสมือนหัวแม่โป้งเขียวของติสตูที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้เติบโต กลายเป็นดอกไม้และต้นไม้ที่ผลิใบสวยงามต่อไปในอนาคต


เอกสารอ้างอิง
ธรรมนูญ นวลใจ. (2537).หัวใจแห่งการศึกษาสำหรับเด็ก 1- 5 ขวบ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :กำแก้ว.
วิไล ตั้งจิตสมคิด.(2554). ความเป็นครู. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
ดรูอง มอริซ. (2531). ติสตู พ่อหนูนิ้วโป้งเขียว. แปลภาษาไทยโดย กัญญา. กรุงเทพฯ : ผีเสื้อ.
สิริมา ภิญโญอนันตพงษ์. (2553). การวัดและประเมินแนวใหม่:เด็กปฐมวัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้าวิชาการ.







-->

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น