ความบริสุทธิ์บ่อเกิดแห่งความพิเศษ : ความเป็นสากลของความพิเศษของเด็ก

ความบริสุทธิ์บ่อเกิดแห่งความพิเศษ (ความเป็นสากลของความพิเศษของเด็ก)


                                                                                                 บทความโดย สมิทธิ อินทร์พิทักษ์

        ความเป็นเด็กมักมีลักษณะเฉพาะ เช่น ตัวเล็ก น่ารัก น่าเอ็นดู ใสซื่อบริสุทธิ์ จนเป็นที่รักใคร่
และให้ความสนใจต่อผู้คนทั้งหลายในยุคปัจจุบัน  เมื่อสมัยก่อนเด็กไม่ได้ดูน่ารักเหมือนในสมัยนี้ 
เพราะสมัยก่อนนั้นเด็กไม่ได้มีวัยเฉพาะของตนเอง แต่เด็กกลับถูกมองว่าเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็ก 
จึงต้องทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ตามศักยภาพของผู้ใหญ่ตัวเล็กคนหนึ่ง ใส่ชุดแบบผู้ใหญ่ 
ทำงานแบบผู้ใหญ่เป็นต้น แต่บางความเชื่อมักให้ความสำคัญแก่เด็กว่าเด็กยังเป็นวัยที่มี
ความพิเศษเฉพาะ

รูป เด็กในยุคกลางที่แต่งตัวและทำงานเหมือนผู้ใหญ่

เป็นวัยที่ได้รับความคุ้มครองของเทพ เทวดา ตัวอย่างหนึ่งของความเชื่อนี้คือความเชื่อเรื่องแม่ซื้อ 
โดยเชื่อว่าเด็กยังเป็นวัยที่บริสุทธิ์ ใสสะอาด ดังนั้นจึงมีเทพเทวา ภูตผีคุ้มครองอยู่ หนึ่งในนั้นคือแม่ซื้อ แม่ซื้อจะคอยคุ้มครองเด็กตลอดจนเด็กคนนั้นจะมีจริตและไร้ความบริสุทธิ์แล้ว เช่น ทารกแรกเกิดในช่วงเดือนแรกที่ส่วนใหญ่เอาแต่นอนหลับอย่างเดียวเท่านั้น จะมีร้องไห้บ้าง เมื่อรู้สึกหิวหรือขับถ่าย ในที่นี้ไม่รวมถึงยามเด็กไม่สบาย และเมื่อใดที่ทารกน้อยไร้เดียงสานอนหลับ อาการต่างๆ มักจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น อาจมีการผวา หรืออาจนอนยิ้มอย่างมีความสุข อาการนี้คนโบราณเชื่อว่าเด็กจะเล่นกับแม่ซื้อ และมีแม่ซื้อคุ้มครองอยู่  เด็กที่ตกจากที่สูง เช่น ที่นอนหรือเตียง มักจะไม่ค่อยได้รับอันตรายมากเพราะมีแม่ซื้อคอยรองรับ จนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ยังคงมีความเชื่อในเรื่องนี้อยู่ทั้งๆที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้   

รูป 2รูปวาดแม่ซื้อประจำวันเกิด ตามจินตนาการ

    นี่เป็นเพียงความเชื่อความเชื่อหนึ่งเท่านั้นเกี่ยวเด็ก อีกความเชื่อหนึ่งเกี่ยวกับเด็กก็คือ ความเชื่อเรื่อง ตาของเด็กนั้นสามารถมองเห็นสิ่งที่คนอื่นนั้นมองไม่เห็นได้ กล่าวกันว่าเด็กมีความบริสุทธิ์และดวงจิตยังไม่ได้รับการปรุงแต่ง ดังนั้นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการรับรู้โดยทั่วไปของคนเด็กจึงสามารถมองเห็นได้ เช่น อาการโคลิค ( Colic ) ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่า เด็กที่มีอาการนี้จะร้องไห้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของวันและร้องไม่ยอมหยุดจนกว่าจะครบช่วงเวลานั้น ร้องซ้ำ ๆ เป็นประจำทุกวันในช่วงเวลาเดิมโดยมากจะเป็นช่วงกลางดึกถึงรุ่งสาง กล่าวกันว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเด็กได้เห็นวิญญาณของคนที่ตายไปแล้วมารบกวน แต่ในทางการแพทย์เชื่อว่า เป็นอาการที่เป็นปกติที่จะเกิดขึ้นได้กับเด็กอาจเป็นเพราะรู้สึกไม่สบายตัวหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ยังหาข้อสรุปได้ไม่แน่ชัด แต่ถ้าพ้นระยะเวลา 3 เดือนไปแล้วจะหายเป็นปกติ แต่มีหลายคนที่เดียวแม้จะอายุ 3 ขวบ 4 ขวบแล้วอาหารดังกล่าวก็ยังคงไม่หายไป

รูป 3ภาพยนตร์เรื่อง โคลิค เด็กเห็นผี ซึ่งสร้างมาจากความเชื่อดังกล่าว


นอกจากนั้นยังมีความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับเด็กมากมายอีกด้วยเช่น เด็กที่ยังบริสุทธิ์เท่านั้นจะสามารถทำให้การบูชายัญเป็นผล จะให้สาวแก่ แม่หม้าย มาเป็นเครื่องบูชายัญไม่ได้ เด็กสามารถทำอะไรที่คนอื่นทำไม่ได้เช่นสามารถเข้าไปในโลกอีกโลกหนึ่งได้โดยที่ผู้ใหญ่ทำไม่ได้ เด็กมีพรสวรรค์พิเศษบางประการซึ่งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วความสามารถพิเศษนี้จะหายไป มีความเชื่อหนึ่งในทวีปยุโรปใน       คริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือยุคพิวริตัน ( Puritans ) เชื่อว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาล้วนมีบาป จึงมักเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็กๆ และเพื่อช่วยให้เด็กๆมีชีวิตที่ยืนยาว จึงพยายามสั่งสอนอมรบเด็กให้เกิดความหวาดกลัวต่อบาปและนรก หนังสือในยุคนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความน่าหวาดกลัวต่างๆ เรียกหนังสือในยุคนี้ว่า Good Godly Books ความเชื่อเกี่ยวกับเด็กนั้นมีหลากหลาย มีทั้งดีและไม่ดี พิสูจน์ได้บ้างไม่ได้บาง แต่อย่างไรก็ดีความเชื่อเหล่านี้มีส่วนในการกำหนดทิศทางเกี่ยวกับเด็กและรูปแบบวรรณกรรมสำหรับเด็กได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะงานเขียนมักจะมีความเชื่อเป็นองค์ประกอบหรือหน่วยย่อยของเรื่องเสมอ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่วรรณกรรมสำหรับเด็กจะมีความเชื่อเรื่องความพิเศษของเด็กแทรกอยู่


ความพิเศษของตัวละครเด็กในงานวรรณกรรมสำหรับเด็ก

ตัวละครเด็กที่มีความพิเศษมักปรากฏในวรรณกรรมประเภทแฟนตาซี ตัวละครที่เป็นเด็กมักได้รับความพิเศษแตกต่างกันไปมากมาย ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างเพียงคร่าวๆเกี่ยวกับตัวละครเด็กที่มีความพิเศษที่ปรากฏให้เห็นในงาน เริ่มจาก โมโม่ ( Momo ) แต่งโดยมิชาเอ็ล เอ็นเด้ ตัวละครเอกคือ โมโม่ เด็กหญิงความพิเศษคือเป็นผู้มีทักษะการฟังที่ดี การฟังของเด็กสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้พบคำตอบของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้ จากในเนื้อเรื่องที่บรรยายไว้ว่า

  พอได้พูดต่อหน้าโมโม่ คนโง่กลับมีความคิดดีๆขึ้นมา ได้ ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เธอพูดหรือถามไถ่จนเขาคิดขึ้นมาได้ เธอเพียงแต่นั่งฟังผู้นั้นพูดด้วยความตั้งใจและเอาใจใส่ ในขณะที่เธอมองเขาด้วยนัยน์ตาดำขลับ คนพูดก็จับความคิดขึ้นมาได้ ซึ่งเขาก็ไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่ในหัวสมองของเขาเอง  

                                                                                 ( มิชาเอ็ล เอ็นเด้, โมโม่, หน้า 18 )
จากการฟังที่ดีของเธอที่ไม่มีผู้ใหญ่คนใดมีเหมือน ทำให้เธอเป็นที่รักของเพื่อนบ้าน และมีประโยคพูดกับติดปากเมื่อใครสักคนต้องการความช่วยเหลือว่า  “  ไปหาโมโม่สิ ”

เรื่องต่อมาคือเด็กที่มีความสามารถพิเศษในการปลูกต้นไม้ นั้นก็คือเด็กชายติสตู ตัวละครเอกจากเรื่อง ติสตู นักปลูกต้นไม้ ( Tistou les pouces verts )




รูป 4 ติสตูกับลุงมุสตาชผู้เป็นแรงบันดาลใจในพรสวรรค์การปลูกต้นไม้ของเขา

ติสตูมีพรสวรรค์ ( Charisma ) ในการปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เกิด เขาเป็นคนที่จัดว่าเป็นพวกที่เรียกว่า หัวแม้โป้งเขียว ( Green finger ) พวกที่จะปลูกต้นไม้ได้ดีมากเป็นพิเศษ และนี้นับเป็นความพิเศษอย่างหนึ่งของเด็กคนนี้ และภายหลังเขาได้ใช้ความพิเศษนี้สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้คนได้มากทีเดียว
ติสตูเป็นเด็กที่ได้พบความสามารถพิเศษในการปลูกต้นไม้ของเขาจากแรงบันดานใจที่ดี              นั่นคือลุงมูสตาซ จนนำมาใช้ได้อย่างมีประโยชน์กับสังคมได้ ครั้งหนึ่งที่ติสตูได้ไปเที่ยวคุกกับคุณตรูนาดิสที่สอนเรื่องกฏระเบียบให้แก่เขา และเห็นความน่ากลัวของคุก จากเนื้อเรื่องบรรยายไว้ว่า

“ ทั้งสองเดินเลียบกำแพงไปเรื่อยจนถึงหน้ารั้วเหล็กสูงสีดำ ตรงปลายแหลมคมหลังรั้วเหล็กนี้เราจะเห็นรั้วเหล็กสีดำอีกหลายชั้น เบื้องหลังสุดเป็นกำแพงทึมๆ ชั้นแล้วชั้นเล่า บนกำแพงทุกแนวและบนรั้วเหล็กทุกรั้วมีเหล็กปลายแหลมเสียบไว้โดยรอบ “ทำไมเขาจึงเสี้ยมปลายแหลมน่าเกลียดอย่างนั้นไว้ทั่วไปเล่าครับ ติสตูถาม “เอาไว้ทำไมครับ” “เพื่อกันไม่ให้นักโทษหลบหนี” “ถ้าคุกน่าเกลียดน้อยกว่านี้” ติสตูพูด “บางทีนักโทษคงไม่อยากหนีเท่าไหร่” ”

                                                                  ( โมรีส ดรูอง, ติสตู นักปลูกต้นไม้, หน้า 61 -63)

และเมื่อติสตูเห็นว่าการทำให้คุกอยู่ในสภาพแบบนี้แล้วจะทำให้ผู้ที่ติดคุกกลับกลายเป็นคนดีนั่นคงเป็นไปได้ยาก วันหนึ่งติสตูได้ใช้ความพิเศษของเขาช่วยเหลือคุกแห่งนี้ โดยได้ทำให้เกิดสวนดอกไม้ขึ้นรายล้อมคุกทำให้สภาพที่น่ากลัวของคุกดูสดใสรื่นรมย์ขึ้นทันตา

นอกจากนี้ติสตูก็ได้ช่วยทำให้ไม่เกิดสงครามขึ้นด้วยโดยทำให้ปืนใหญ่และอาวุธในการรบการศึกยิงออกมาเป็นกระสุนดอกไม้ วันหนึ่งลุงมูสตาซได้จากติสตูไปในดินแดนแห่งความตาย ทำให้ติสตูเศร้าใจมากทำให้วันหนึ่งติสตูก็ได้จากไปไกลลิบ..........(ไปไหนต้องให้หามาอ่านกันเอง...)

โมโม่เป็นอีกหนึ่งในตัวละครที่ถือว่าเป็นฮีโร่สำหรับเด็กๆ โมโม่ เป็นตัวละครเอกจากเรื่อง โมโม่ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ โมโม่ เป็นเด็กหญิงเร่ร่อนคนหนึ่งที่ไม่มีครอบครัว ไม่มีญาติ บ้านของเธอคือโรงละครร้างในเมืองเล็กๆ ทุกคนในเมืองนั้นชอบมาหาโม่โม่ ผู้ใหญ่ชอบมาเล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้ฟัง เพราะเธอมีความสามารถในการฟังที่ดี เด็กๆ ชอบมาจับกลุ่มเล่นกับโม่โม่ แต่เมื่อผู้ชายสีเทาเข้ามาในเมือง ทุกคนรอบข้างโมโม่ก็เปลี่ยนไป ผู้ชายสีเทาเข้ามายุยงให้ผู้คนพักผ่อนน้อยๆ ทำงานหนักๆ เลิกเสียเวลาติดต่อพูดคุยกับคนอื่น โมโม่ก็เลยโดดเดี่ยวขึ้นเรื่อยๆ เขารับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงว่ายิ่งมนุษย์พยายามจะประหยัดเวลามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีเวลาน้อยลงเท่านั้น เธอเลยพยายามช่วยเหลือให้สภาพสังคมแบบเดิมกลับมา ก่อนที่โลกนี้จะไม่เหลือเวลาให้คนได้พูดคุยกันอีกเลย เธอได้รับความช่วยเหลือจากท่านโฮร่า และ เต่าชื่อ  คัสซีโอเพย่า โดยนำดอกไม้ชั่วโมงมาคืนแก่มนุษย์ทุกคนและทำให้ผู้ชายสีเทาสลายหายไปในที่สุด

รูป 5 โมโม่ถูกล้อมโดยผู้ชายสีเทา

ความพิเศษของเธอหรือความสามารถในการฟังที่ดีของเธอราวกับมีพลังวิเศษ ในตอนหนึ่งที่ผู้ชายสีเทามาคุยกับเธอและเธอใช้ความสามารถในการฟังนี้ทำให้ผู้ชายสีเทาคลายความลับออกมาและความลับนี้เองทำให้เธอสามารถจัดการพวกเขาได้ในที่สุด และเมื่อผู้ชายสีเทาคนดังกล่าวผู้ลงโทษ เขาได้เล่าให้ผู้ตัดสินคดีความเรื่องการเปิดเผยความของเขา ดังที่เนื้อเรื่องบรรยายไว้ว่า 
“ ใช่ครับ แต่ผมใคร่จะให้ศาลสูงลดหย่อนผ่อนโทษให้ผม
โดยคำนึงถึงเหตุผลแวดล้อมที่ว่า ผมถูกมนตร์คาถาโดยป้องกันตัวไม่ได้ 
โดยวิธีที่เด็กคนนี้ใช้ฟังผม ทุกอย่างมันได้ออกมาจากผมเอง 
ผมไม่สามารถอธิบายได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร 
แต่ผมสาบานได้ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ”
                                        ( มิชาเอ็ล เอ็นเด้, โมโม่ , หน้า 138 )

จะเห็นว่าความสามารถพิเศษนี้ยิ่งใหญ่มากซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยเพื่อนมนุษย์ของเธอจากการขโมยเวลาของผู้ชายสีเทา

 ตัวอย่างทั้งสองเรื่องนี้ทำให้ได้เห็นว่าตัวละครเด็กมักถูกเลือกให้มีความสามารถพิเศษบางอย่างเพื่อที่จะกระทำอะไรบางสิ่ง มีหลายเรื่องที่เมื่อได้ทำอะไรบางสิ่งแล้วความสามารถพิเศษหรือความพิเศษนั้นจะหายไป และอีกหลายเรื่องเหมือนอันที่ความพิเศษนั่นยังอยู่ และอีกหลายเรื่องที่ตัวละครเอกที่ดีแบบนี้จะต้องจากไปไกลลิบอย่างเช่น ติสตู 

ความพิเศษต่อมาที่มักเป็นสากลของเด็กเลยก็ว่าได้คือการเข้าไปสู่โลกอีกโลกหนึ่งได้เฉพาะเด็กที่เห็นได้ชัดคือจากหนังสือชุดนาร์เนีย ( Narnia ) เรื่อง เก้าอี้เงิน ( The Silver chair) โดย ซี.เอส.ลูอิส  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าไปในดินแดนแห่งนาร์เนียซึ่งในนาร์เนียนั้นเวลาเดินเร็วกว่าโลกแห่งความจริงมาก ก่อนเรื่องเก้าอี้เงินนี้เคยมีเรื่องก่อนหน้านี้แล้ว คือพวกเด็กๆสกุล พีเวนซี ได้เข้าไปในดินแดนแห่งนาร์เนียมาก่อนแล้ว แต่ในตอนนี้พวกเขาไม่สามารถกลับเข้ามาได้อีก โดยที่อัสลาน สิงโตผู้สร้างนาร์เนียได้กล่าวไว้กับ ยูสตาส เด็กหนุ่มที่ยังอายุน้อยและยังเข้ามาในดินแดนของนาร์เนียได้อยู่ จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่าเมื่อความเป็นเด็กจางหายไป ความพิเศษที่จะได้เข้าไปดินแดนนี้ก็จะหายไปด้วย อาจตีความได้ว่าเมื่อเราโตขึ้นโลกแห่งจินตนาการในตัวเราก็จะลดลงเช่นกัน

ต่อมาคือเรื่อง The Polar Express เป็นเรื่องของเด็กกลุ่มหนึ่งที่ได้เดินทางไปขั้วโลกโดยรถไฟขบวนพิเศษ แต่สาระสำคัญที่เราจะพูดคือเมื่อตอนกลับมาจากการผจญภัยของพวกเขานั้น เขาได้รับกระดิ่งอันหนึ่งซึ่งส่งเสียงไพเราะ

เป็นกระดิ่งที่พ่อแม่ของเขาไม่ได้ยินเสียง มีแต่ซาร่าน้องของเขาและเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเท่านั้นที่ได้ยิน แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีเพียงเพียงเขาคนเดียวที่ได้ยินเสียงนั้น ดังที่ในภาพยนตร์ได้กล่าวไว้ว่า
            “  ในช่วงหนึ่งเพื่อนส่วนใหญ่ของผมได้ยินเสียง 
                แต่หลายปีผ่านไป พวกเขาก็ไม่ได้ยินเสียงมัน 
                แม้แต่ซาร่าเองก็ไม่ได้ยินเสียงกรุ๋งกริ๋งของมัน 
                ถึงผมจะโตขึ้นกระพรวนยังดังสำหรับผม เช่นเดียวกับทุกคนที่เชื่อจริงๆ  ”
                                                ( บทพากย์จากภาพยนตร์ The Polar Express )

      รูป 6 ภาพยนตร์เรื่อง The polar express

ต่อมาคือเรื่อง แม่มด เขียนโดย โรอัลด์ ดาห์ล ซึ่งในเรื่องพวกแม่มดเกลียดพวกเด็ก ๆ มาก  พราะเด็กมีความพิเศษคือมีกลิ่นเหม็นราวกับขี้หมา ทำให้พวกแม่มดจะต้องกำจัดเด็กพวกนี้ไปให้สิ้น ซาก เรื่องสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือเรื่อง ซากุระ มือปราบไพ่ทาโร่ ( Card captor sakura ) ซึ่งเป็นการ์ตูนอนิเมชั่นฉายเป็นตอนๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับไพ่ทาโร่ที่ถูกสร้างโดยโคล์วลีดถูกปลดผนึกออกไปทำเรื่องเลวร้ายต่างจน ซากุระต้องทำการผนึกไพ่พวกนั้น

รูป 7 ซากุระกับไพ่ทาโร่

จากเรื่องซากุระเองที่เป็นคนปล่อยไพ่ทาโร่จะผนึกโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่คนธรรมดาจะไม่สามารถเปิดผนึกได้ แสดงว่าเธอต้องมีพลังวิเศษดังที่ คาราเบรอส ภูติรักษาไพ่ทาโร่ได้กล่าวไว้ว่า

“ การที่เธอเปิดหนังสือนี่ออกได้ ก็แปลว่าเธอต้องมีพลังเวทย์
อยู่พอตัวเหมือนกันนั่นแหละน่า”
                                      ( คาราเบรอส จากเรื่อง ซากุระมือปราบไพ่ทาโร่ )

จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้ทำให้ได้เห็นถึงความพิเศษต่างๆของตัวละครเด็กในวรรณกรรมสำหรับเด็กชนิดต่างๆ ว่ามันสงวนได้ให้เด็กเสมอ เพื่อที่จะให้เด็กมีบทบาทสำคัญและเป็นที่น่าติดตามของผู้อ่าน กลับกันก็สามารถช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้แก่ผู้อ่านวัยเด็กได้อย่างดีอีกด้วย

ในความหลากหลายของตัวละครในหนังสือสำหรับเด็กนั้น มักมีความพิเศษที่มอบไว้ให้เด็ก         อาจจะเป็นเพราะความเชื่อที่ว่าเด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือ มีความสะอาด มีจิตสะอาดกว่าผู้ใหญ่ การที่เด็กมีความพิเศษและเป็นตัวดำเนินเรื่องในวรรณกรรมสำหรับเด็กนั้น ทำผู้อ่านที่เป็นเด็กนั้นมีอารมณ์ร่วมเพราะตัวละครอยู่ในวัยเดียวกัน และยังส่งเสริมจินตนาการอีกด้วยเพราะเมื่อมีความพิเศษแล้ว วรรณกรรมดังกล่าวมักจะกล่าวถึงอะไรที่อยู่เหนือธรรมชาติ มนต์วิเศษ เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่วรรณกรรมพวกนี้จะได้รับความนิยมในหมู่เด็กวัยเดียวกัน ความพิเศษที่เป็นสากลในเด็กนี้มักหยิบยื่นให้เด็กมีสิทธิ์อะไรมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งอยู่เหนือเงือนไขปกติเช่น มีความพิเศษที่จะทำอะไรสักอย่างที่ผู้ใหญ่ทำไม่ได้ เห็นอะไรที่ผู้ใหญ่มองไม่เห็น ได้รับอนุญาตให้ไปในดินแดนอื่น (ตามทฤษฎีคาร์นิวัลที่เคยเขียนให้อ่านไปแล้วในอีกบทความหนึ่ง) เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้เติบโตและเปลี่ยนผ่านประสบการณ์จากความพิเศษและการผจญภัยของพวกเขานั่นเอง


บรรณานุกรม

Lurie, Alison. Don't Tell the Grown-Ups: The Subversive Power of Children's Literature.
    New York: Back Bay Books,1998.

Nikolajeva, Maria. The Aesthetic  Appoaches to Children’s Literature: An Introduction.  
    Maryland:Scarecrow,2005.

Nikolajeva, Maria . Power, Voice and Subjectivity in Literature for Young Readers.
    New York: Routledge,2010.

Stephens, John. Language and Ideology in Children’s Fiction. London: Longman,1992

กุหลาบ มัลลิกะมาส. คติชาวบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร : สมาคมหนังสือแห่งประเทศไทย, 2516.

กล่อมจิตต์ พลายเวช. หนังสือสำหรับเด็ก. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2526.

ปราณี เชียงทอง. วรรณกรรมสำหรับเด็ก. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2526.

มิชาเอ็ล เอ็นเด้. โมโม่. แปลโดย ชินนรงค์ เนียวกุล.พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ : แพรวเยาวชน, 2547.

โมรีส ดรูอง. ติสตู นักปลูกต้นไม้. แปลโดย อำพรรณ โอตระกูล. กรุงเทพฯ : ผีเสื้อ, 2539.

ลูอิส, ซี. เอส. เก้าอี้เงิน. แปลโดย สุมนา บุณยะรัตเวช. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : ผีเสื้อ, 2549.














-->

ความคิดเห็น

  1. อยากอ่านโมโม่อะ มีคนแนะนำให้อ่าน แต่หาซื้อไม่ได้

    ตอบลบ
  2. ตอนนี้มีขายนะครับ ปกแข็งพิมพ์โดยแพรวเยาวชน

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น