วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การใช้ทฤษฎี Carnival ในวรรณกรรมสำหรับเด็ก

การใช้ทฤษฎี Carnival ในวรรณกรรมสำหรับเด็ก

โดย สมิทธิ อินทร์พิทักษ์


ทฤษฎีคาร์นิวัล (Carnival) นี้มักถูกใช้อย่างแพร่หลายในการวิเคราะห์วรรณกรรมสำหรับเด็ก โดยผู้คิดค้นทฤษฎีคือ Mikhail Bakhtin โดยสาระของเนื้อหาความคิดคือ สังคมที่เราอยู่นั้นเป็นโครงสร้างของอำนาจที่ผู้มีอิทธิพลเป็นคนครอบงำและมีพลัง (Power) เหนือกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ดี Bakhtin กล่าวว่า โครงสร้างดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจโดยสลับผู้ที่มีอำนาจให้กลายเป็นสิ่งที่น่าขบขัน ซึ่งในงานเขียน วรรณกรรมและศิลปะสามารถก่อให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ ต่อมาทฤษฎีคาร์นิวัลนี้ได้เริ่มถูกนำมาใช้ในงานเขียนสำหรับเด็กโดยอธิบายคำว่าอำนาจนั้นแทนที่อำนาจของผู้ใหญ่และผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจก็คือเด็ก

 เด็กในสังคมของเรามักถูกกดอยู่ใต้อำนาจ ไร้พลัง ไร้ซึ่งแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจด้วยตัวเองเด็กเอง เช่น เงินต้องขอจากพ่อแม่ ตัวเด็กเองไม่มีอำนาจในการหาเงินเอง ไม่มีสิทธิ์มีเสียงทางการเมืองและการตัดสินใจทางสังคม ซึ่งในทางกลับกันแล้ว วรรณกรรมสำหรับเด็ก(ซึ่งเขียนโดยผู้ใหญ่) ได้หยิบยื่นความสนุกสนาน หรรษาแก่เด็กโดยให้ภาพเด็กมีความกล้าหาญ แข็งแกร่ง ร่ำรวย มีอำนาจและพึ่งพาตัวเองได้ ในสภาพที่แน่นอนและในขอบเวลาที่จำกัด ยกตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์ที่ตัวละครเด็กไม่มีพ่อแม่คอยปกป้องดูแล (ภาพยนตร์เรื่อง Spirited Away ซี่งพ่อแม่ของชิฮิโรถูกสาปให้กลายเป็นหมูเพราะไปกินอาหารของเทพเจ้าหรือในเรื่อง มหัศจรรย์พ่อมดแห่งออซ “The Wonderful Wizard of Oz พายุหมุนได้หอบบ้านของโดโรธีมาที่ดินแดนแห่งออซ โดยมีเพียงโดโรธีกับสุนัขของเธอชื่อโตโต้เท่านั้นที่ลอยมากับบ้าน ไม่มีป้าและลุงตามมาด้วย”) ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ตัวละครเด็กได้มีอิสระและผจญภัยทดสอบความสามารถของตนได้เต็มที่โดยลำพัง ปราศจากอำนาจของผู้ใหญ่

ฉากที่พ่อและแม่ของชิฮิโร่กลายเป็นหมูจากเรื่อง Spirited Away

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตัวละครเด็กจะโลดแล่นในไปในดินแดนมหัศจรรย์ต่าง ๆ บุกบั่นผ่านสนามรบ ล่องทะเลใต้ ปีนภูเขาสูงสุดขอบโลก ได้เป็นราชาแห่งดินแดนอันไกลโพ้น แต่เมื่อถึงตอนจบของเรื่อง ตัวละครก็มักกลับมาพร้อมการเติบโตทางความคิดจากโลกสุดแสนมหัศจรรย์สู่โลกแห่งความเป็นจริงที่พวกเขาอยู่ โลกซึ่งพวกเขาไร้ซึ่งอำนาจและข้อต่อรอง โลกซึ่งครอบงำโดยผู้ใหญ่อีกครั้งนั่นเอง


เอกสารอ้างอิง

Lurie, Alison. Don't Tell the Grown-Ups: The Subversive Power of Children's Literature.
    New York: Back Bay Books,1998.

Nikolajeva, Maria. The Aesthetic  Appoaches to Children’s Literature: An Introduction.  
    Maryland:Scarecrow,2005.

Nikolajeva, Maria . Power, Voice and Subjectivity in Literature for Young Readers.
    New York: Routledge,2010.

Stephens, John. Language and Ideology in Children’s Fiction. London: Longman,1992






-->





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น