การศึกษาตัวละครในวรรณกรรมสำหรับเด็กเบื้องต้น
โดย สมิทธิ อินทร์พิทักษ์
ตัวละคร ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่อง เคยมีนักวิชาการคนหนึ่งเคยพูดไว้ว่า "ไม่มีตัวละครก็ไม่มีพล๊อตเรื่อง ไม่มีพล๊อตเรื่องก็ไม่มีเรื่อง" เรื่องราวในวรรณกรรมบางเรื่องเกิดขึ้นได้เพราะตัวละคร ตัวละครมีหน้าทีสำคัญในการทำให้เรื่องดำเนินไป อย่างไรก็ดีการศึกษาตัวละครและเข้าใจตัวละครเบื้องต้นทำได้ดังนี้
1.ดูที่การกระทำของตัวละคร (Actions)
การที่เราจะรู้ว่าตัวละครมีอุปนิสัยใจคอเช่นไร เบื้องต้นสามารถเห็นได้เด่นชัดด้วยการกระทำของตัวละคร เช่น ในเรื่อง "มหัศจรรย์พ่อมดแห่งออซ" สิงโตผู้ขี้ขลาดนั้นพยายามพูดแล้วเข้าใจไปว่าตัวเองขี้ขลาด อยากให้พ่อมดแห่งออซบันดาลความกล้าหาญให้ แต่กลับกันสิ่งที่สิงโตผู้นี้กระทำนั้นล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความขัดแย้งกันระหว่างการกระทำกับความคิดของตัวละคร
สิงโตที่ชอบกล่าวว่าตัวเองขี้ขลาด แต่มักแสดงการกระทำที่กล้าหาญอยู่บ่อยครั้ง (The Wonderful Wizard of Oz ) |
2.ดูที่คำพูดของตัวละคร (Speech)
หลายครั้งที่ตัวละครมักพูดบางอย่างออกมาซึ่งทำให้คาดคะเนนิสัยเบื้องต้นของตัวละครได้ว่าตัวละครรู้สึกอย่างไร เป็นคนเช่นไร
3.ดูที่รูปร่างที่ปรากฎภายนอก (Appearance)
ภาพลักษณ์ภายนอกที่เห็นอาจบอกลักษณะตัวละครได้ในระดับหนึ่งเช่น เสื้อผ้าที่ตัวละครใส่ ทรงผม สิ่งของที่ตัวละครใช้ ว่าเป็นคนอย่างไร มีรสนิยมอย่างไร
4.คำพูดที่ตัวละครอื่นพูดถึงตัวละคร (Other's Comments)
ในบางครั้งผู้เขียนไม่ได้บรรยายโดยตรงเกี่ยวกับตัวละคร แต่เลือกที่จะให้ตัวละครอื่นพูดถึงตัวละครแทน ดังนั้นหากผู้อ่านอยากจะเข้าใจตัวละครมากยิ่งขึ้นนั้น จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลของตัวละครจากคำพูดของตัวละครอื่น ๆ เพื่อเข้าใจตัวละครตัวนั้นมากยิ่งขึ้น
5.การบรรยายจากผู้เขียน (Author's Comments)
การบรรยายตัวละครจากผู้เขียนนั้นค่อนข้างเห็นได้่ง่าย เพราะเป็๋นการสื่อสารจากผู้เล่าเรื่อง (narrator) เอง ซึ่งมักเห็นได้ทั่วไป เช่น เธอเป็นผู้หญิงร่างบอบบาง เป็นคนย้ำคิดย้ำทำเป็นต้น
อย่างไรก็ดี 5 วิธีนี้ เป็นเพียงแค่วิธีเบื้องต้นเท่านั้นในการศึกษาตัวละคร แต่แท้จริงแล้วการศึกษาตัวละครมีความลึกซึ้งกว่านั้น หากมีเวลาจะมาเขียนให้อ่านในโอกาสต่อไป
เอกสารอ้างอิง
Lukens, Rebecca. A Critical Handbook of Children's Literature. Boston:Pearson,2007
Nikolajeva, Maria. The Aesthetic Appoaches to Children’s Literature: An Introduction.
Maryland:Scarecrow,2005.
-->
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น