วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

การอ่านและศึกษานิทานภาพเรื่องคุณตา (Granpa)

การอ่านและศึกษานิทานภาพเรื่องคุณตา (Granpa) 

โดย สมิทธิ อินทร์พิทักษ์

วรรณกรรมสำหรับเด็กคืออะไร

วรรณกรรมสำหรับเด็ก คือ งานเขียนที่เขียนขึ้นเพื่อให้เด็กอ่านโครงเรื่องเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มีตัวละครหลักไม่มาก ซึ่งตัวละครมักเป็นเด็กหรือมีความคิดและทัศนะคติแบบเด็กซึ่งความหมายในมุมกว้างของวรรณกรรมสำหรับเด็กนั้น รวมถึงนิทานภาพสำหรับเด็ก (Picture Book) ของเด็กวัยเตาะแตะจนกระทั่งวรรณกรรมเยาวชน (Young Adult Fiction)สำหรับผู้อ่านคือเด็กที่โตแล้วจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นด้วยอย่างไรก็ดีถึงแม้จะเป็นวรรณกรรมที่เขียนให้เด็กอ่าน แต่วรรณกรรมสำหรับเด็กบางเล่มหรือบางประเภทนั้นสามารถนำมาวิเคราะห์
ตีความ วิจารณ์ในแง่ต่าง ๆ ได้ เช่น สังคมวิทยา จิตวิทยา ปรัชญา และแนวทางอื่น ๆ นอกจากนี้วรรณกรรมสำหรับเด็กยังครอบคลุมถึง
สื่อ ของเล่น และการแสดงต่าง ๆ ที่ทำขึ้นสำหรับเด็กด้วย
ปัจจุบันหลายประเทศได้มีการเปิดสอนหลักสูตรวรรณกรรมสำหรับเด็กในระดับต่าง ๆ เช่น ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก
ส่วนในประเทศไทยมีการเปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตรศิลปศาสตร์ 4 ปี ที่คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒแห่งเดียวเท่านั้น
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะขอยกตัวอย่างแนวทางในการคิดวิเคราะห์วรรณกรรมสำหรับเด็กอย่างคร่าวๆเพื่อที่จะเข้าใจคุณค่าและความสำคัญของวรรณกรรมสำหรับเด็กมากขึ้นโดยเรื่องที่เลือกมาวิเคราะห์คือนิทานภาพเรื่อง คุณตา แต่งและวาดภาพประกอบโดย
จอห์น เบอร์นิงแฮม


                                 หน้าปกจากเรื่อง คุณตา แปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ


เรื่อง คุณตา เป็นหนังสือภาพที่มีตัวอักษรน้อยตลอดเรื่องใช้บทสนทนา(Dialogue)ระหว่างคุณตาผู้ชรากับหลานสาวตัวน้อยผู้แต่งใช้พื้นที่กระดาษแบบหน้าคู่(doublespread) ในการเล่าเหตุการณ์แต่ละฉากโดยภาพหน้าซ้าย เป็นภาพขาวดำแสดงโลกในความเป็นจริง ส่วนหน้าขวาเป็นภาพสีแสดงเหตุการณ์ปัจจุบันหรือเหตุการณ์ที่เด็กหญิงประทับใจเหมือนภาพสีสันสดใสสะท้อนความทรงจำอันแจ่มชัดมีชีวิตชีวา
โครงสร้างของภาษาภาพ (ไวยากรณ์ภาพ) ที่ผู้แต่งใช้สื่อสารกับผู้อ่านของเรื่องนี้ถือว่าแตกต่างจากหนังสือภาพสำหรับเด็กโดยทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญเพราะภาษาภาพในเรื่องช่วยสร้างมิติอันลึกซึ้งเชิงความหมายให้แก่หนังสือเรื่องนี้อย่างโดดเด่นมากตามหลักการสื่อสารของหนังสือ ภาพด้านขวามือเป็นภาพที่ปะทะสายตาผู้อ่านก่อนเวลาที่เปิดหน้าหนังสือ ภาพหน้าขวามือจึงสำคัญกว่าภาพด้านซ้ายมือการกำหนดวิธีสื่อสารให้ภาพสีอยู่ด้านขวามือขณะที่ภาพขาวดำอยู่ด้านซ้ายมือจึงเปรียบเสมือนการให้ความสำคัญแก่ความทรงจำอันงดงามที่เด็กหล่อเลี้ยงให้มีชีวิตชีวาในจิตใจอย่างไม่เคยโรยราขณะที่ภาพขาวดำแสดงโลกความเป็นจริง(fact)อันตรงไปตรงมาคู่ขนานกันให้เพื่อช่วยเสริมการให้ข้อมูลแก่ ผู้อ่าน
เรื่องราวความสัมพันธ์ของตาหลานดำเนินไปเรื่อยๆ โดยแต่ละหน้าตาหลานมีกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิดเสมอเช่นปลูกต้นไม้ในเรือนเพาะชำด้วยกันร้องเพลงด้วยกันเล่นตุ๊กตาด้วยกัน ไปเที่ยวชายหาดด้วยกัน เล่นสมมติกินไอศกรีมด้วยกันหรือแม้แต่เคยขัดใจกันแทบทุกหน้าผู้อ่านจะเห็นตัวละครตาหลานอยู่คู่กันสะท้อนว่าทั้งสองสนิทสนมกันมากหรือแทบไม่เคยพรากจากกันเลย จนกระทั่งเปิดถึงหน้าเกือบสุดท้ายไม่มีภาพหลานสาวเคียงคู่คุณตาอีกมีแต่ภาพคุณตานั่งเก้าอี้นวมที่นั่งประจำตัวเพียงลำพังในภาพด้านขวามือส่วนภาพด้านซ้ายซึ่งเป็นสีขาวดำแสดงรูปขวดยายาเม็ด ปรอทวัดไข้และกระเป๋าน้ำร้อนมีคำพูดของตาปรากฏเหนือภาพว่า“วันนี้ตาออกไปเล่นด้วยไม่ได้แล้วนะ” ภาพหน้านี้ให้ข้อมูลว่าเหตุการณ์ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงคือแสดงปัญหาว่าคุณตาเริ่มไม่สบายสีหน้าแววตาของคุณตาในภาพนี้ดูเหม่อลอยเรียบเฉยนิ่งราวกับคนไม่มีกำลังแตกต่างอย่างชัดเจนกับในตอนเริ่มเรื่องที่เห็นแววตาอารีหงุดหงิดร่าเริงล้อเล่นของตา
หน้าถัดมาเป็นภาพตัวละครสองคนคู่กันอีกครั้งคือหลานนั่งตักคุณตาดูรายการการ์ตูนทางโทรทัศน์ด้วยกัน คุณตานั่งนิ่งกอดหลานขณะที่หลานยิ้มอย่างมีความสุขเหมือนดีใจที่ได้กอดคุณตาอย่างอบอุ่นอีกครั้งหลังจากอาจจะไม่ได้คลอเคลียกันพักหนึ่งหน้านี้ผู้อ่านเห็นความมีชีวิตชีวาของหลานเพียงคนเดียวอีกทั้งยังมีคำพูดของหลานว่า“พรุ่งนี้เราจะไปแอฟริกาด้วยกันคุณตาเป็นกัปตันได้ไหมคะ” แต่ตาไม่ได้ตอบอะไร หน้าต่อมาเป็นภาพขาวดำรูปหลานนั่งจ้องไปยังเก้าอี้นวมของคุณตาที่ตอนนี้ว่างเปล่าไม่มีคนนั่งแสดงว่าบัดนี้คุณตา “ไม่อยู่” แล้วภาพเก้าอี้เป็นภาพสีแสดงว่าในความทรงจำของหลานเก้าอี้อันเป็นที่อยู่ของตายังมีตัวตนอันแจ่มชัดเสมอขณะที่ภาพขาวดำของหลานให้ความรู้สึกว่างโหวงเคว้งคว้าง


                                              หลานกำลังมองเก้าอี้นวมที่ว่างเปล่า

ถึงแม้ภาพนี้ไม่มีคำอธิบายใด ๆ เลย แต่ผู้อ่านก็สามารถคาดเดาได้ว่าคุณตาได้จากไปแล้ว โดยเฉพาะหมายถึง “การตายจาก” เพราะความอ้างว้างของความรู้สึกสูญเสียและโหยหาในเรื่องสื่อด้วยภาพท่านั่งโดดเดี่ยวของหลานและความว่างเปล่าของเก้าอี้คุณตาบนหน้ากระดาษว่าง ๆ สีขาว ซึ่งเป็นกลวิธีลึกซึ้งของหนังสือภาพนี้ที่ใช้ธิบายเรื่องราวโดยไม่ต้องมีคำบรรยาย คือ ไม่ได้บอกแต่แสดงให้เห็น (showing without telling) ภาพความอ้างว่าง ว่างเปล่า ไม่เต็ม ของหน้านี้จะสะกดผู้อ่านให้หยุดนิ่งพิจารณาภาพเนิ่นนาน เพราะแตกต่างจากหน้าอื่น ๆ ที่มีภาพเต็ม มีบทสนทนาให้อ่าน แต่ภาพนี้ให้จังหวะ pauseหรือ stop เพื่อเบรคอารมณ์ผู้อ่านให้นิ่งชะงันต่อสิ่งที่ไม่มีอีกแล้ว ซึ่งสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้อ่านได้อย่างลึกซึ้งยิ่ง
ภาพเก้าอี้ตัวที่คุณตาเคยนั่งประจำที่บัดนี้ว่างเปล่าทำให้เด็กรับรู้การสูญเสียได้ว่า ต่อแต่นี้คุณตาไม่อยู่อีกแล้ว (ไม่อยู่ = ไม่มี = ตาย) การใช้ภาพสื่อความว่างเปล่าซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่เคยมีทำให้ความรู้สึกสูญเสียสะเทือนใจอย่างลึก ๆ เกิดขึ้นแก่เด็ก แต่เป็นความหวั่นไหวอย่างลึกซึ้งและติดค้างในใจนาน ไม่ใช่ความรู้สึกแบบผิวเผิน ซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกสูญเสียที่เกิดแก่ผู้ที่เคยสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป คือ อ้างว้าง ว้าเหว่ และข้องใจไปอีกนานว่า ต่อแต่นี้ไม่มีผู้เป็นที่รักและผูกพันอีกแล้ว
อย่างไรก็ดีในหน้าสุดท้ายก่อนจบเรื่อง ผู้แต่งแสดงภาพเด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นตัวละครหลานในเรื่อง กำลังเข็นรถเข็นเด็กทารกขึ้นไปตามเนินหญ้ายามอาทิตย์ขึ้นกำลังทอแสงสีทองอยู่บนฟ้า



                                          ภาพหลานกำลังเข็นรถเด็กอ่อนไปตามลานหญ้า


ภาพนี้อาจเป็นการแสดงถึงชีวิตใหม่ที่กำลังเริ่มต้น อาจเป็นเด็กหญิงได้น้องมาเป็นสมาชิกใหม่ ในครอบครัว สะท้อนมิติความหมายอันลึกซึ้งของชีวิตว่าการจากไป (ตาย)ของคุณตาอาจนำความรู้สึกเคว้งคว้างสูญเสียมาให้ แต่ชีวิตก็ดำเนินต่อไป ไม่นานเด็กที่เกิดมารุ่นต่อไป (New Generation) ก็จะมาแทนที่คนรุ่นเก่า (คุณตา) ที่จากไปตามธรรมดาของวัฏจักรชีวิตนั่นเอง

ถึงแม้นิทานภาพเรื่อง คุณตา จะเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นสำหรับเด็ก แต่ประเด็นที่เลือกนำเสนอนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ คือเรื่อง ความตาย ซึ่งอาจเกิดคำถามว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ ที่จะนำเรื่องราวเหล่านี้มาเสนอแก่เด็ก แต่อย่างไรก็ตาม ความตาย ความสูญเสีย นั้น เป็นเรื่องที่เด็กจะต้องพบเจอในวันใดวันหนึ่ง ดังนั้นจึงน่าจะเป็นการดีที่จะเตรียมตัวรับมือหรือเรียนเรื่องราวเกี่ยวกับความตายไว้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ด้วยวัยอันอ่อนเยาว์ ยังมิอาจเข้าใจความลึกซึ้งของความตายได้ นิทานภาพเรื่อง คุณตา นี้จึงอาจเป็นเครื่องมือให้ข้อมูล สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนัยของความตายได้เพื่อให้เด็กรู้เท่าทันและอาจรับมือกับสิ่งที่ความตายนำมาให้ได้ทันเมื่อมันเดินทางมาถึง
จากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อาจทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและเข้าใจวรรณกรรมสำหรับเด็กมากขึ้นว่าถึงแม้จะเป็นหนังสือนิทานภาพเล็ก ๆ แต่ถ้าลองทำความเข้าใจและใคร่ครวญดูแล้ว หนังสือเหล่านี้ก็มีพลังไม่แพ้วรรณกรรมสำหรับผู้ใหญ่เลย

สมิทธิ อินทร์พิทักษ์
4 มีนาคม 2556


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น