วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เล่าเรื่อง Ecocriticism แบบ soft soft

ว่าด้วยการศึกษา Ecocriticism ในวรรณกรรมสำหรับเด็ก (๑)

                                                                                                    โดย  สมิทธิ อินทร์พิทักษ์        

หลายปีมาแล้วได้อ่านหนังสือเรื่อง Ecocriticism (The New Critical Idiom) เขียนโดย Greg Garrard ตั้งแต่ยังเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ตามอ่านชุด (The New Critical Idiom) มาตั้งแต่เรื่อง Ideology แล้วก็คิดว่าการวิจารณ์เชิงสิ่งแวดล้อมนี้น่าสนใจจัง อยากเอามาวิจารณ์ตัวบทวรรณกรรมสำหรับเด็กบ้าง (สมัยนั้นยังไม่เคยได้ยินคำว่าการวิจารณ์เชิงนิเวศน์ ก็เลยคิดว่ามันคงเรียกว่าวิจารณ์เชิงสิ่งแวดล้อมมั้ง) ต่อมาไม่นานก็ปรากฎงานของ อ.ธัญญา วรรณคดีสีเขียว : กระบวนทัศน์และวาทกรรมธรรมชาติในวรรณคดีไทย วางขายในร้านหนังสือ ในใจก็คิดนะว่า เอาแล้ว เอาแล้ว มาแน่ ๆ มาแน่ ๆ งานแนวคิดนี้ ซึ่ง อ.ธัญญา เขียนอีกเล่มคือ ผู้หญิงยิงเรือ : ผู้หญิง ธรรมชาติ อำนาจ และวัฒนธรรมกำหนดสตรีนิยมเชิงนิเวศในวรรณคดีไทย (อันนี้เป็น Ecofeminism) จริง ๆ แล้วชอบทั้งสองเล่มเลยเพราะค่อนข้างใหม่สำคัญวงการวรรณคดีไทยศึกษา (ที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม) แต่ขัดใจคำนำโดยของหนังสือโดย อ.ชลธิรา (น่าจะเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ หรือเปล่า ?) รู้สึกว่าเขียนเยอะเกินไปนิด บางช่วงเขียนแบบข่ม ๆ (หรือคิดไปเอง 555+) ก็อย่างว่า "ความรู้คืออำนาจ" ไม่แปลกที่ แว่นวรรณคดี ทฤษฎีร่วมสมัย ของ อ.ธัญญา ที่พิมพ์วางขายในปีนี้จะมีหัวข้อ Ecocriticism กับ Ecofeminism ด้วย แต่น่าสนใจคือ ทั้ง 2 หัวข้อนี้ไม่มีในหนังสือ ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์ตะวันตก ของ อ.สุรเดช ล่าสุดก็มีหนังสือเรื่อง พินิจปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านมุมมองวรรณกรรมอเมริกันร่วมสมัย โดย อ.ดารินทร์ ตีพิมพ์และวางขายในเดือนนี้ (น่าจะมากจากรายงานโครงการวิจัยปี 2554) 




กลับมาที่วรรณกรรมสำหรับเด็ก ซึ่งส่วนตัวก็ได้ค้นหาการศึกษาด้านนี้ก็พบว่า ในปี ค.ศ. 2004 (12 ปีที่แล้ว)Kenneth Kidd กับ Sidney I. Dobrin ได้เป็นบรรณธิการและตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Wild Things: Children's Culture and Ecocriticism ในชุด (Landscapes of Childhood Series) ซึ่งศึกษาวัฒนธรรมของเด็กและการวิจารณ์เชิงนิเวศน์ในวรรณกรรมสำหรับเด็กมาก่อนแล้ว (ตอนแรกคิดว่าอยากจะลองใช้แนววิจารณ์นี้ในวรรณกรรมสำหรับเด็กคนแรก ๆ แต่...ฝันสลาย *-*) โดยใช้ตัวบทสำคัญ ๆ คือ ปีเตอร์แพน โลแร็ก ชาร์ล็อตต เว็บ ฯลฯ ในการศึกษา ในปี ค.ศ. 2013 Alice Curry เขียนเรื่อง Environmental Crisis in Young Adult Fiction: A Poetics of Earth ในชุด (Critical Approaches to Children's Literature) ศึกษาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ปรากฎในวรรณกรรมเยาวชน และยังมีบทความอื่น ๆ อีกมากมายจากนักวิชาการด้านวรรณกรรมสำหรับเด็กที่ศึกษาในประเด็นนี้ผ่าน ภาพยนตร์สำหรับเด็ก อนิเมชั่น หนังสือภาพ บทกวีของเด็ก ตีพิมพ์ในวารสารสำคัญ ๆ เช่น Children's Literature in Education เท่ากับว่าแนววิจารณ์แนวนี้ได้รับความสนใจมากสักระยะแล้วในแวดวงวรรณกรรมสำหรับเด็กต่างประเทศ ส่วนประเทศไทยส่วนตัวแล้วก็ได้พบตัวบทที่เสนอประเด็นเหล่านี้บ้างแล้ว ทั้งในวรรณกรรมเยาวชนและนิทานภาพ แต่แนวคิดหรือทฤษฎีเชิงนิเวศน์นี้ยังไม่ปรากฎว่ามีการนำมาจับตัวบทวรรณกรรมสำหรับเด็กของไทยอย่างจริงจัง
18/11/2559
สมิทธิ อินทร์พิทักษ์

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

Spirited away : วิญญาณหายไป การเติบโต ตัวตนและการเปลี่ยนผ่านของเด็กในโลกแห่งทุนนิยม


Spirited away : วิญญาณหายไปการเติบโต ตัวตนและการเปลี่ยนผ่านของเด็กในโลกแห่งทุนนิยม


                                                                                                 โดย สมิทธิ อินทร์พิทักษ์  






   ภาพยนตร์เรื่อง  Spirited away  โดยสตูดิโอจิบลิได้นำเสนอเรื่องราวของ ชิฮิโร่ สาวน้อยวัย 10 ปีกำลังย้ายบ้านและย้ายโรงเรียนซึ่งเธอยังคงผูกพันอยู่กับโรงเรียนเก่าการเดินทางครั้งนี้ทำให้เธอต้องพบประสบการณ์ที่ทำให้เธอเติบโตขึ้นอย่างมาก  เมื่อพ่อเลี้ยวรถไปผิดทางและพาเธอกับแม่ไปยังอุโมงค์ซึ่งพาเธอไปสู่โลกแห่งวิญญาณและเทพเจ้า

   เปิดเรื่องมาด้วยฉากที่ชิฮิโร่นอนอยู่ที่เบาะท้ายรถ ในขณะที่พ่อกับแม่เรียกเธอตั้งหลายครั้ง “ ลูก ลูก ”
“ ชิฮิโร่ ชิฮิโร่ ”  แต่เธอก็ไม่ลุกขึ้นมา เมื่อแม่เรียกให้ดูโรงเรียนแห่งใหม่ที่เธอจะต้องเข้าเรียน ชิฮิโร่ กลับแลบลิ้นให้โรงเรียนอีกด้วย ฉากนี้ทำให้ผู้ชมรู้นิสัยพื้นฐานของชิฮิโร่ว่าเธอค่อนข้างเป็นเธอที่ดื้อรั้นอยู่บ้าง หรืออาจเป็นเด็กที่ถูกพ่อแม่ตามใจแบบฉบับเด็กหลายๆ คนในโลกปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใช่เด็กนิสัยเลวร้ายอะไร

   ความคิดแรกที่แม่เธอพูดเมื่อเห็นเมืองแห่งใหม่ที่เธอย้ายมาอยู่คือ “ เมืองดูไม่เจริญเลย สงสัยต้องไปซื้อของที่เมืองอื่น” จากประโยคนี้อาจตีความได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์เรื่องทุนนิยมต่อไป

   เมื่อชิฮิโร่และครอบครัวได้ขับรถไปผิดทางจนมาจอดอยู่ที่หน้าอุโมงค์ พ่อกับแม่ตัดสินใจเดินเข้าไปในอุโมงค์นั้น ชิฮิโร่เรียกให้กลับแต่ก็ไร้ผลเมื่อพ่อกับแม่ยังคงเดินต่อไปและด้วยความกลัวรูปปั้นหินที่อยู่หน้าอุโมงทำให้เธอจำใจต้องเธอตามหลังพ่อแม่เข้าอุโมงไป ฉากนี้อาจตีความได้ว่าเมื่อว่าสิ่งที่เด็กตัดสินใจอะไรได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าพ่อแม่ยังคงทำสิ่งที่พ่อแม่ต้องการต่อไป เด็กก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเดินตามรอยที่พ่อแม่ก้าวเดิน 

   จากในเรื่องหนทางของพ่อและแม่คือการเดินรุกล้ำเข้าไปในเมืองของวิญญาณและกินอาหารของเทพเจ้าอย่างตะกละตะกลามจนในที่สุดพ่อแม่ก็ได้กลายเป็นหมู  การรุกล้ำเข้าไปในเมืองของวิญญาณและกินอาหารของเทพเจ้า อาจตีความได้ถึงการบริโภคหรือหลงเข้าไปในสิ่งตื่นตาตื่นใจเพราะเมืองที่เข้าไปนั่นถูกประดับตกแต่งไว้อย่างสวยงามทั้งอาคารบ้านเรือนสีชมพู ฟ้า เขียว อีกทั้งอาหารน่ากินมากมายที่วางพร้อมอยู่บนโต๊ะ นี่อาจสะท้อนถึงหนทางที่เต็มไปด้วยสิ่งชักจูงมากมายให้เสพสิ่งต่างๆในแบบฉบับของทุนนิยม เมื่อพ่อแม่ของเธอหลงไปกับความสวยงาม การบริโภคที่ไม่รู้จักพอ เธอจึงต้องเดินตามพ่อแม่ไป ถึงแม้เธอจะไม่ได้กินอาหารเทพเจ้าจนกลายเป็นหมู แต่เธอก็ต้องพบกับสิ่งต่างๆมากมายรอคอยเธออยู่ข้างหน้าซึ่งสิ่งแรกที่เธอเจอการเอาชนะความมืดโดยทางที่เธอต้องเดินกลับลงไปหาพ่อแม่นั้นมืดสนิท เธอลังเลอยู่พักหนึ่งก่อนที่จะวิ่งลงไปพร้อมกับแสงโคมบริเวณถนนเริ่มถูกจุด
การกลายเป็นหมูของพ่อแม่ อาจมองได้ว่าการกินหรือบริโภคอย่างตะกละตะกลามนั่นทำให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ลดน้อยลงจนไม่ต่างอะไรกับหมูตัวหนึ่ง

   ตอนที่ชิฮิโร่เจอกับฮากุครั้งแรก ฮากุ( เด็กชายคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นเทพแห่งสายน้ำแต่ได้ลืมชื่อที่แท้จริงของตัวเองไปแล้ว) บอกให้เธอกลับไป แต่ชิฮิโร่ก็ไม่สามารถกลับไปยังโลกอีกฝั่งหนึ่งของอุโมงค์ได้เพราะพ่อแม่ของเธอได้กลายเป็นหมุไปแล้ว อีกทั้งทางที่เธอมาได้กลายเป็นแม่น้ำจนไม่สามารถข้ามกลับไปได้ ในที่สุดเธอจึงต้องอยู่ในโลกแห่งวิญญาณและเรียนรู้ต่อไป

   ฉากนี้ถ้าจะตีความเรื่องการเติบโตในโลกของทุนนิยมนั้นอาจมองได้ว่า การที่เด็กจะเติบโตโดยไม่หลงใหลในความเป็นทุนนิยมหรืออยู่คนละโลกเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ เธอจะต้องอยู่ในสังคมทุนนิยมนี้ต่อไป แต่ต้องอยู่อย่างเรียนรู้และหาตัวตนของตัวเองให้เจอ ไม่หลงใหลไปจนลืมนึกถึงคุณค่าที่แท้จริงความเป็นมนุษย์ จากในเรื่องเมื่อเด็กคนหนึ่ง ( ชิฮิโร่ ) ได้เดินหลงเข้ามาในหนทางนี้แล้ว และเมื่อพ่อแม่ของเธอก็หลงเช่นกัน การคงความมีตัวตนไม่ให้ถูกกลืนหายไปในสังคมอาจทำได้ยาก ซึ่งชิฮิโร่ก็ต้องเรียนรู้ต่อไป

   เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นแล้วนอกจากต้องอยู่ในโลกของวิญญาณและเทพเจ้าต่อไป ชิฮิโร่จึงได้รับความช่วยเหลือจากฮากุ ให้เข้าไปหางานทำในโรงอาบน้ำ เพราะถ้าไม่มีงานทำร่างกายของเธอก็จะหายไปซึ่งอาจตีความได้ว่าถ้าไม่มีงานทำก็จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ ระหว่างทางที่จะไปโรงอาบน้ำฮากุและชิฮิโร่ได้ผ่านคอกซึ่งมีหมูจำนวนมากมาย เป็นไปได้หรือไม่ว่าเคยมีคนหลงเข้ามาในที่แห่งนี้แล้ว แต่ด้วยการบริโภคและความหลงใหลต่างๆ ทำให้พวกเขาได้กลายเป็นหมูไปเรียบร้อยแล้ว

   เมื่อถึงโรงอาบน้ำของเทพเจ้าฮากุได้สั่งให้เธอลงไปหา ลุงคามาจิซึ่งทำงานอยู่ที่โรงเผาถ่านเตรียมสมุนไพรบริเวณล่างสุดของโรงอาบน้ำ เมื่อชิฮิโร่ลงไปที่โรงเผาถ่านจึงพบว่าลุงคามาจิเป็นคนที่แขนหลายแขนมาก นั่งทำงานอย่างไม่รู้เหนื่อย ลุงคามาจิอาจเป็นสัญลักษณ์ถึงคนที่ทำงานหนักแต่ไม่ได้รับการเหลี่ยวแลจากสังคม ทั้งๆที่งานที่ลุงคามาจิทำเป็นสิ่งสำคัญมากให้โรงอาบน้ำดำเนินต่อไปได้

   นอกจากลุงคามาจิแล้วที่โรงเผาถ่านและโรงเตรียมสมุนไพรยังมีตัวซุซุวาทาริจำนวนมากซึ่งมีลักษณะคล้ายฝุ่นตัวเล็กๆ หน้าที่ของซุซุวาทาริคือแบกถ่านขนาดใหญ่กว่าตัวมันหลายเท่าไปใส่ในโรงเผา มีฉากหนึ่งที่ซูซูวาทาริตัวหนึ่งแบกถ่านไม่ไหว เมื่อชิฮิโร่เห็นเธอจึงเข้าไปช่วยนำถ่านชิ้นนั้นใส่เตาเผาเอง และนี้คือการกระทำที่สอนให้ชิฮิโร่อยากช่วยเหลือคนอื่นและเมื่อเธอได้ช่วยซูซูวาทาริ พวกมันก็เป็นมิตรกับเธอในไม่ช้า

   เมื่อเธอได้ช่วยคนอื่นก็มีคนอื่นพร้อมจะช่วยเหลือเธอเช่นกัน เมื่อลินพนักงานสาวจับได้ว่าเธอเป็นมนุษย์ลุงคามาจิก็ปกป้องเธอ โดยบอกลินว่าเธอเป็นหลานนอกจากนั้นยังวานให้ลินพาเธอไปของานจากยูบาบะ แม่มดซึ่งปกครองโลกของวิญญาณอีกด้วย

   ลินได้พาชิฮิโร่ขึ้นไปยังส่วนบนสุดของโรงอาบน้ำเทพเจ้า เมื่อชิฮิโร่ไปถึงก็ต้องรู้สึกประหลาดใจเมื่อห้องของแม่มดยูบาบะประดับตกแต่งไปด้วยเครื่องเรือนราคาแพงมากมาย ฉากนี้อาจทำให้เห็นถึงความเป็นทุนนิยมสุดโต่งของแม่มดบูบาบะผู้ปกครองโลกแห่งนี้

   เมื่อพิจารณาดูจากฉากเปิดเรื่องจนมาถึงกลางเรื่อง เราได้เห็นนิสัยของชิฮิโร่ที่เริ่มเปลี่ยนไปช้าๆ จากเด็กดื้นรั้นกลายเป็นเด็กที่เริ่มนึกถึงคนอื่นและกล้ามากขึ้น ฉากที่เธอได้ไปของานกับยูบาบะเธอก็มีความกล้าที่จะยอมตื้อของานจากแม่มดซึ่งดูมีอำนาจมากกว่าเธอในทุกๆ เรื่อง แต่เธอก็ของานจากยูบาบะได้สำเร็จ โดยมีข้อแม้ว่าเธอจะต้องเปลี่ยนชื่อเป็น เซน เพื่อแลกกับการมีงานทำ การถูกริบชื่อของชิฮิโร่อาจตีความได้ว่าถูกริบตัวตนและความเป็นชิฮิโร่ไป ซึ่งในสังคมปัจจุบันมีคนหลายคนที่มัวแต่ทำงานและหลงไปในโลกแห่งทุนนิยมจนลืมตัวตนและคุณค่าที่แท้จริงของตนเอง

   ตัวละครอีกหนึ่งตัวที่เริ่มมีบทในเรื่องคือ เบบี้ ลูกชายของยูบาบะซึ่งมีนิสัยเอาแต่ใจอีกทั้งยังตัวใหญ่กว่าเธอหลายเท่า ซึ่งในห้องของเบบี้นั้นเต็มไปด้วยของเล่นมากมายเท่าที่ยูบาบะจะหามาให้ได้ ความตัวใหญ่ของเบบี้อาจตีความได้ว่าการมีอำนาจต่อรองพ่อแม่ได้กล่าวคือพ่อแม่เลี้ยงอย่างตามใจ บูชาลูกมากเกินไปนั่นเอง และนิสัยเอาแต่ใจก้เป็นผลลัพท์มาจากการเลี้ยงแบบตามใจของเธอเอง

   นอกจากนี้ชิฮิโร่ยังได้เรียนรู้บุคลิกทั้งสองด้านของคนคือ ฮากุที่เป็นเพื่อนซึ่งคอยช่วยเหลือเธอกับฮากุที่เมื่ออยู่กับยูบาบะ ทำให้เธอถามคำถามว่า “ ฮากุมีสองคนเหรอ ” นี่อาจแสดงถึงตัวตนในใจของแต่ละคนซึ่งมีสองแง่มุมหรือสองด้านแม้จะเป็นคนเดียวกัน แต่เวลาและสถานที่ก็สามารถทำให้คนๆ หนึ่งเปลี่ยนเป็นอีกคนได้ 
ซึ่งชิฮิโร่ก็ต้องเรียนรู้อีกเช่นกัน 

   นิสัยที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปของชิฮิโร่เป็นไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีตอนหนึ่งที่เธอเธอผ่านไร้หน้า (No Face) บนสะพานทางเข้าโรงอาบน้ำ เธอได้เดินก้มหลังเมื่อเดินผ่านไร้หน้า ชิฮิโร่ได้ไปตามที่ฮากุนัดเอาไว้คือพาไปดูพ่อและแม่ของเธอซึ่งกลายเป็นหมู เมื่อเธอพบพ่อแม่ของเธอ เธอก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เธอวิ่งไปนั่งร้องไห้ตรงหน้าลานบริเวณนั้น

   การร้องไห้ในครั้งนี้ไม่มีใครคอยปลอบเธอ มีเพียงฮากุที่ยื่นข้าวปั้นให้เธอกินพร้อมบอกว่า “ กินเสีย
จะได้มีแรงสู้ต่อไป” ชิฮิโร่เกือบจะลืมชื่อตัวเองไปแล้วแต่ฮากุทำการ์ดอำลาของเธอมาให้ ทำให้เธอจำชื่อตัวเองได้ และย้ำว่าเธอจะต้องไม่ลืมว่าต้องกลับบ้าน ไม่อยากนั้นเธอจะต้องติดอยู่ที่นี้ไปตลอด ฉากนี้ทำให้รู้ว่าเมื่อมีปัญหาสามารถร้องไห้ได้ ไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง การร้องไห้คือการระบายความรู้สึกของชิฮิโร่ ความท้อแท้ แต่ในที่สุดเมื่อเธอหยุดร้องเธอก็ต้องลุกขึ้นกลับเข้าไปในทำงานโรงอาบน้ำเทพเจ้าเพื่อเรียนรู้ชีวิตเพื่อคงความเป็นตัวตนและเอาตัวให้รอดต่อไป

  เมื่อเธอเข้าไปในโรงอาบน้ำ เธอก็ถูกใช้ให้ทำงานต่างๆ เช่น ถูพื้น ทำความสะอาดบ่อน้ำที่สกปรก หรือแม้แต่อาบน้ำให้กับเทพเจ้าแห่งสายน้ำที่โดนขยะทับถมจนเหม็นเน่าซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ชิฮิโร่ท้อแท้หรือล้มเลิกที่จะทำงาน 

   หลังจากที่ชิฮิโร่ได้ช่วยเทพเจ้าแห่งสายน้ำจนสะอาดแล้ว ก็มีทองมากมายหล่นออกมาจากขยะในตัวของเทพเจ้าสายน้ำ นอกจากนั้นเทพเจ้าสายน้ำยังมอบยาวิเศษให้เธออีกด้วย

   ไร้หน้าเริ่มมีบทบาทขึ้นเมื่อหยิบยื่นทองจำนวนหนึ่งในกบซึ่งเป็นคนงานของโรงอาบน้ำ เจ้ากบต้องการทองอย่างมากจึงทำให้โดนไร้หน้าจับกินเข้าไปและไร้หน้าก็เริ่มมีลักษณะคล้ายกบที่มันกินเข้าไป  การกระทำของไร้หน้ากับกบอาจตีความได้ว่า เมื่อผู้ใดหลงในเงินทองซึ่งอยู่ในระบบทุนนิยมนั้นอาจจะถูกกลื่นตัวตนเข้าไปได้โดยง่าย ถ้าจะมองอีกมุมหนึ่งอาจตีความได้ว่าไร้หน้าอาจจะคนที่ไร้ซึ่งตัวตนและต้องการมีตัวตนเป็นของตนเองจึงใช้สิ่งมีค่าเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนและเมื่อผู้ใดหลงไปกับสิ่งฟุ้มเฟื่อยเหล่านั้นก็จะตกอยู่ใต้อำนาจได้โดยง่าย

   ฉากหนึ่งที่มังกรขาวซึ่งนั่นคือฮากุได้ไปขโมยสัญลักษณ์บางอย่างจากเซนิบะพี่สาวของยูบาบะ ฮากุก็ถูกไล่ตามโดนมีดกระดาษจนได้รับบาดเจ็บ ชิฮิโร่ได้แบ่งยาที่ได้จากเทพเจ้าซึ่งตอนแรกเธอหวังว่าจะนำไปให้พ่อแม่เธอกินเพื่อที่จะกลับเป็นคนอีกครั้งให้ฮากุกิน จากกระทำของชิฮิโร่ในนั้นครั้งเห็นได้ว่าเธอคิดที่จะช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น โดยที่สละบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัวเพื่อให้คนที่มีความจำเป็นมากกว่า

   นอกจากเธอจะสละยาวิเศษให้ฮากุเธอยังสละยาที่เหลือให้ไร้หน้าอีกด้วย ฉากที่ไร้หน้ากินคนงานในโรงงานอาบน้ำมากมายและเรียกหาอยากพบเซน (ชิฮิโร่) เมื่อเธอเดินทางไปในโรงอาบน้ำเพื่อช่วยฮากุ ในระหว่างทางเธอเจอกับไร้หน้าซึ่งยื่นทองให้เธอมากมาย แต่ชิฮิโร่กลับไม่สนใจพร้อมทั้งกล่าวว่าเธอกำลังรีบไปช่วยคนอยู่

   คำพูดและการกระทำของเธอแสดงให้เห็นว่า การเรียนรู้ของเธอในโรงอาบน้ำนืทำให้เธอรู้ว่าเงินทองไม่ได้มีความหมายอะไรกับเธอเลย โดยเฉพาะเวลาที่ต้องไปช่วยเหลือคนอื่นเช่นนี้และเมื่อเธอถูกตามตัวให้มาพบกลับไร้หน้าอีกครั้งไร้หน้าถามเธอต้องการอะไรแต่ชิฮิโร่ไม่สนใจที่จะตอบคำถามที่เกี่ยวกับความปรารถนาหรือความอยากได้อยากมีแต่เธอเพียงแค่ถามว่าไร้หม้ามาจากไหน มีครอบครัวหรือเปล่าอีกทั้งเธอยังให้ไร้หน้ากินยาวิเศษโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน เพียงแค่อยากให้ไร้หน้ามีสภาพที่กว่าที่มันเป็นอยู่ในขณะนี้

   เมื่อไร้หน้าได้กินยาวิเศษแล้วก็กลับกลายเป็นไร้หน้าตัวเดิมและติดตามชิฮิโร่เดินทางไปหาเซนิบะเพื่อขอให้ช่วยล้างคำสาปของฮากุและเบบี้ลูกของยูบาบะที่ถูกสาปเป็นหนูตัวอ้วน ก่อนเดินทางนั่นลินได้บอกกับเธอว่าขอถอนคำพูดที่ว่าชิฮิโร่เป็นเด็กซุ่มซ่าม จากคำพูดของลินทำให้เราเห็นถึงการเติบโตและเปลี่ยนผ่านของชิอิโร่ว่าได้เปลี่ยนไปมากระหว่างตอนนี้กับก่อนเข้ามาในโลกแห่งวิญญาณและเทพเจ้า

   บนรถไฟที่เธอขึ้นมาเธอได้พบกับผู้คนมากมายซึ่งดูเหมือนจะไร้ตัวตนคือไม่มีหน้าเป็นแค่เพียงเงาดำๆ อีกทั้งเด็กผู้หญิงไร้ตัวตนคนหนึ่งยืนอยู่ที่ชานชาลา ฉากนี้อาจตีความเกี่ยวกับระบบทุนนิยมได้ว่าผู้คนมากมายต่างดำรงชีวิตอยู่อย่างไร้ตัวตน ไม่รู้คุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง เพียงแค่มีชีวิตมีเลือดมีเนื้อแต่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ

   สถานีที่เธอเดินทางไปหาเซนิบะคือสถานีก้นบึ่ง เมื่อเธอไปถึงก็ต้องประหลาดใจอีกครั้งหนึ่งที่สถานีก้นบึงนั่นเป็นชนบทที่ดูห่างไกลความเจริญและแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ หากจะตีความถึงชื่อสถานีกับลักษณะของสถานีนั้นอาจตีความได้ว่า ธรรมชาติ ความเป็นชนบท การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเรียบง่ายนั้น คือ ก้นบึง ลึกๆในจิตใจที่ทุกคนล้วนแต่ใฝ่ฝันถึง ในขณะที่ระบบทุนนิยมเข้ามาปิดบังความรู้สึกแท้จริงนั้นไว้ให้หลงใหลไปกับความเจริญ วัตถุ และการบริโภคที่ไม่มีที่สิ้นสุด

   ทางเดินไปสู่บ้านของเซนิบะนั้นต้องเดินทางเข้าไป นกของยูบาบะที่ถูกสาปให้แมลงหมดแรงที่จะออกแรงบินอุ้มเบบี้ที่กลายเป็นหมูตัวอ้วนแล้ว หนูอ้วน( เบบี้) จึงต้องเดินด้วยขาของตัวเองถึงแม้ชิฮิโร่อาสาจะช่วยอุ้มก็ตามแต่เบบี้ก็ยืนกรานที่จะเดินด้วยตัวเอง การกระทำที่เบบี้ทำจะเห็นว่าเบบี้ได้โตขึ้นมาในระดับหนึ่งคือเห็นใจผู้อื่นที่ออกแรงเพื่อตัวเองอีกทั้งอยากทำอะไรด้วยตัวเองบ้างแทนที่จะรอแต่ให้คนอื่นช่วยหรือหามาให้

   การที่ชิฮิโร่ได้เดินทางมาหาเซนิบะในครั้งนี้ การที่เธอได้เห็นการใช้ชีวิตที่แท้จริง ไม่ต้องหลงใหลไปกับเงินทอง และเห็นว่ามีชีวิตที่เรียบง่ายก็มีความสุขดี อาจทำให้รู้ซึ้งคุณค่าแท้จริงในการดำเนินชีวิตต่อไป มาถึงตอนนี้ชิฮิโร่เปลี่ยนจากชิฮิโร่คนเดิมมาก เซนิบะเห็นความดีงามของชิฮิโร่และกล่าวกับเธอว่า “ ชิฮิโร่ ดูแลให้ดีนะ เพราะชื่อนี้มันเป็นของเจ้า ” ชื่อที่เซนิบะบอกให้ชิฮิโร่เก็บไว้ให้ดีๆ ไม่ใช่เป็นเพียงชื่อที่เป็นตัวอักษร แต่คือตัวตนการกระทำ ความเป็นตัวตนที่แท้ ที่กลั่นออกมาเป็นชิฮิโร่ที่เป็นอยู่ต่างหาก ที่เซนิบะอยากให้เธอเก็บไว้ให้คงอยู่ตลอดไป 
   ไร้หน้าซึ่งตอนนี้มีหน้าที่และมีที่อยู่แล้วจึงเป็นไร้หน้าคนใหม่ ไร้หน้าที่มีคุณค่า ไร้หน้าที่หน้าที่ให้การช่วยเซนิบะต่อไป ไม่ต้องอยู่อย่างเดียวดายอีก นอกจากเธอจะเติบโตขึ้นแล้วเธอยังช่วยให้เบบี้ ฮากุ ไร้หน้า ให้เติบโตไปกับเธอด้วย เธอทำให้ฮากุจำชื่อได้และรู้ว่าตัวเองเคยเป็นเทพเจ้าแห่งสายน้ำ เบบี้ที่เคยเอาแต่ใจก็รู้เรื่องขึ้น เลิกงอแงและใช้กำลังของตัวเองในการกลับร่างเป็นเด็กอีกครั้ง

   และในตอนจบยูบาบะได้ให้สัญญาไว้ว่าจะปล่อยให้ชิฮิโร่กลับว่าถ้าทายถูกว่าหมูตัวไหนคือพ่อแม่ของเธอ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีพ่อแม่ของเธอรวมอยู่ในหมูเหล่านั้น เพียงเธอกวาดสายตาแค่เพียงไม่นานเธอก็ตอบได้ว่าไม่มีพ่อกับแม่อยู่ในหมู่เหล่านี้ ยูบาบะจึงจำต้องปล่อยเธอกลับไปสู่โลกของเธอ คำตอบของชิฮิโร่อาจตีความได้ว่า เมื่อเธอได้รู้คุณค่าของความเป็นมนุษย์แล้ว เธอจึงรู้ว่าพ่อและแม่เธอคงไม่ใช่หมูเหล่านี้แน่นอน เพราะพ่อกับแม่ก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเธอ

   ถึงแม้ว่าฮากุจะสัญญาว่าจะเจอกับชิฮิโร่อีก แต่ก็เป็นเพียงเธอและพ่อแม่เท่านั้นที่ได้ออกมาจากโลกแห่งวิญญาณ เมื่อชิฮิโร่ออกมาจากอุโมงค์ก็พบว่าทุกอย่างกลับกลายเป็นเหมือนเดิมแล้ว อุโมงค์ที่เคยสวยงามโบราณบัดนี้ถูกปกคลุมไปด้วยไม้เลื้อย ฉากนี้อาจตีความได้ว่าการเรียนรู้ของเธอนั้น มีเธอเพียงคนเดียวที่จะต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง ประสบการณ์ในโลกแห่งวิญญาณนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้เธอได้เรียนรู้แต่ถึงอย่างไรเธอก็ต้องกลับออกมาเพื่อเผชิญกับชีวิตจริงต่อไปด้วยตัวของเธอเอง สิ่งที่เธอได้มานั่นไม่ใช่ความฝันเพราะยางรัดผมที่เซนิบะให้เธอยังคงส่องประกอบอยู่ที่ผม 
   สังคมที่เปลี่ยนจากความเรียบง่ายมาสู่ความซับซ้อนในปัจจุบันทำให้คนจำนวนมากหลงไปกับสิ่งเร้าเหล่านั้น ระบบทุนนิยมทำให้หลายคนเสียตัวตนและลืมคุณค่าของตัวเองไป Spirited away เป็นอนิเมชั่นเรื่องหนึ่งที่ย้ำเตือนให้ตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้ วิญญาณหายไป อาจไม่ได้มีความหมายแค่วิญญาณ แต่อาจมีนัยถึงจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ของมนุษย์ในปัจจุบันซึ่งกำลังเลือนหายไปเพราะระบบทุนนิยมก็เป็นได้

หรือความเป็นเด็กจะถูกกลืนหาย ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก

หรือความเป็นเด็กจะถูกกลืนหาย

ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก : ความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก

                                                                                        โดย  สมิทธิ อินทร์พิทักษ์





มีเมืองแห่งหนึ่ง
ที่ซึ่งอบอุ่น วัยเด็กของเราอยู่ที่นั่น
นานเหลือเกิน
นานมาแล้ว
ที่พัดผ่านเราไป...
คืนนี้ฉันรีบเดินออกจากบ้าน
ไปสถานีรถไฟ
เข้าแถวซื้อตั๋ว
ครั้งแรกในหนึ่งพันปี
อาจเป็นอย่างนั้น
ขอตั๋วใบหนึ่ง
กลับไปสู่วัยเด็ก


นี่เป็นส่วนหนึ่งของบทกวี เมืองแห่งวัยเด็ก เขียนโดย กวีชาวรัสเซีย รอเบิร์ต รอจเดสเวนกี ซึ่งถูกยกมาปิดท้ายเรื่อง ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก วรรณกรรมรางวัลซีไรต์ปี ๒๐๑๐ จากประเทศเวียดนาม แต่งโดย เหงวียน เหญิต อั๋นห์ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของผู้เขียน(หมุ่ย)และพ้องเพื่อน(ยัยตี๋ฟันหลอ เจ้าฮายแคระ และยัยตุ่น)ในวัยเด็กซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวนิดมุมมองของพวกเด็กๆ และเหล่าบรรดาผู้ใหญ่ที่เด็กๆ ในเรื่องได้พบเจอด้วย

ประเด็นเรื่องความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กถูกยกมากล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งในเรื่อง ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็กก็เช่นกัน เนื้อหาทั้งเรื่องถึงแม้จะถูกเล่าผ่านเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตเด็กแต่ในเนื้อหาก็ได้ทิ้งประเด็นไว้ให้ชวนคิดมากมาย
จากบทกวีที่ยกมาข้างต้นเราจะเห็นได้ว่า มีเมืองแห่งหนึ่งที่อบอุ่นและวัยเด็กของเราอยู่ที่นั่น คืนนี้ฉันซื้อตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก น่าแปลกใจและน่าตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดกันผู้เขียน (ผู้ใหญ่) ถึงอยากกลับไปสู่วัยเด็ก

วัยผู้ใหญ่นั้นมันไม่น่าชื่นชมอภิรมย์ขนาดนั้นเชียวหรือถึงกับขนาดอยากซื้อตั๋วสักใบเพื่อกลับไปสู่วัยเด็ก
เด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ในทางกลับกันผู้ใหญ่ในวันนี้ล้วนแต่เคยเป็นเด็กมาก่อนทั้งสิ้นไม่มีใครลืมตาดูโลกแล้วโตเป็นผู้ใหญ่เลย สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ใหญ่ทุกวันนี้ทำไมถึงลืมความเป็นเด็กที่ตัวเองเคยเป็น มุมมองความคิดทัศนคติต่อโลกในยามที่ตนเองเป็นเด็กหายไปไหนหมดทั้งๆ ที่ผู้ใหญ่ล้วนแต่เคยเป็นเด็กน่าจะจำภาพความเป็นเด็กได้ กลับกันผู้ใหญ่ทุกวันนี้ล้วนแต่เป็นผุ้ใหญ่ที่ไม่มีความเป็นเด็กหลงเหลืออยู่เลยราวกับลืมตาดูโลกแล้วกลายเป็นผู้ใหญ่ทันทีฉันใดฉันนั้น

ที่กล่าวมาข้างต้นมิใช่ต้องการให้ผู้ใหญ่ทุกคนละทิ้งความเป็นผู้ใหญ่และแสวงหาตัวตนความเป็นเด็กกลับคืนมาแต่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีมุมมองแบบผู้ใหญ่และมีมุมมองของเด็กรวมอยู่ด้วยนั้นย่อมมีประโยชน์มากมายอย่างน้อยที่สุดก็เพื่อประสานรอยร้าวหรือความไม่เข้าใจกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ซึ่งเป็นปัญหาที่มักเกินอยู่บ่อยครั้งในปัจจุบันเท่านั้นเอง ถึงอย่างไรก็อดคิดไม่ได้ว่าในบางครั้งเมื่อผู้ใหญ่เจอกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ความคิดหรือมุมมองของเด็กออกมาใช้ให้ “กาล” ถูกก็น่าสนุกไม่น้อย เพราะบางเหตุการณ์ประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้เกิดขึ้นอาจตอบคำถามบางคำถามที่สายตาของความเป็นผู้ใหญ่มืดบอดจนมองไม่เห็น

จากคำนำสำนักพิมพ์ได้มีย่อหน้าหนึ่งกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กไว้ว่า


“ น่าเสียดายที่เมื่อล่วงเข้าสู่วัยผู้ใหญ่บ้าง คุณกลับลืมเลือนประสบการณ์ในวัยเด็กเหล่านั้น
เหมือนรถไฟที่ค่อยๆ แล่นห่างออกไป จนมองไม่เห็นสถานีต้นทาง
เมื่อนึกไม่ออกว่าวันเวลาในวัยเด็กเคยสนุกอย่างไร ผู้ใหญ่ก็เลยทำ
ตัวแบบผู้ใหญ่ มีกรอบความคิดที่ขีดเส้นด้วยหน้าที่ ศีลธรรม กฎเกณฑ์ 
และตำแหน่งทางสังคม
แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มองพฤติกรรม “สร้างสรรค์” ของเด็กว่า
นอกลู่นอกทาง”

                                                           (สำนักพิมพ์เอโนเวล, ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก, หน้า ๕)

จากคำนำนี้จะเห็นว่าผู้ใหญ่มักลืมเลือนประสบการณ์ในวัยเด็กทำให้มองภาพไม่ออกว่าเด็กที่ตัวเองพบเจอนั้นคิดอะไรหรือทำอย่างนั้นได้อย่างไรเช่นตอนที่ตอนที่หมุ่ยชอบกินน้ำจากขวดแทนที่จะกินจากแก้วอย่างที่แม่บอกและหมุ่ยคิดว่าการทำอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่นในบางอย่างนั้นก็เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์และจินตนาการไม่เหมือนใครจากที่เนื้อเรื่องบรรยายไว้ว่า


“ผมยังสังเกตเห็นเด็กหลายคนชอบใช้ปากกามาทำเป็นมีดดาบและพับสมุดแบบฝึกหัดเป็นเรือ มากกว่าใช้ปากกาเขียนลงบนกระดาษสมุดตามปกติเสียอีก ถ้ามีเวลาสำรวจอย่างจริงจัง
ผมเชื่อว่ายังมีเด็กอีกหลายคนชอบกินน้ำจากขวดและกินข้าวจากกะละมัง เรื่องนี้ผมแน่ใจ”

                                                        (เหงวียน เหญิต อั๋นห์, ขอตั๋วใบหนึ่งกลับไปสู่วัยเด็ก, หน้า ๖๓ )


จากตัวอย่างเนื้อเรื่องที่ยกมานั้นก็สนับสนุนการที่ผู้ใหญ่มักมีกรอบความคิดและชอบมาเห็นความสร้างสรรค์ของเด็กเป็นเรื่องนอกลู่นอกทาง ทั้งทีทั้งนั้นตามทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ของ Malcome S. Knowles (1973) ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะชอบการชี้นำด้วยตัวเอง (Self-direction) มักจะให้การตระหนักรู้ถึงเรื่องราวเฉพาะที่มาจากชีวิตจริง ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่นอกเหนือความเป็นจริงในสังคมนั้นเป็นการยากมากที่ผู้ใหญ่จะเข้าใจได้แม้กระทั่งความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ

นอกจากนั้นในการเล่นพ่อแม่ลูกของหมุ่ยนั้นเป็นไปด้วยความสนุกสนานในขณะเดียวกันเด็กๆ ทุกคน
ในช่วงเวลานั้นก็หาความสนุกสนานกับการสมมุตบทบาทความเป็นพ่อแม่ลูกได้เช่นกัน แต่พอโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่กลับเห็นว่าเรื่องพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องสนุกอีกต่อไป จะเห็นได้ว่าผู้ใหญ่ได้ลืมความสนุกในการเล่นแบบเด็กไปแล้วเพราะด้วยเหตุผลกรอบความคิดต่างนานาที่หล่อหล่อมให้คนๆหนึ่งกลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้นั่นเอง ในมุมมองกลับกันจากการสมมุตบทบาทในครั้งนี้ของเด็กๆ ที่เล่นกันคือสมมุตเพียงบทบาทเพียงด้านเดียวในด้านการมีอำนาจและการกระทำระหว่างกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วการเป็นพ่อแม่ล้วนมีหน้าที่ตามมามากมายดังที่ทฤษฎีบทบาทของ Parsons (as cited in Eshleman, 2003) ได้อธิบายบทบาทของครอบครัวไว้ว่า ผู้เป็นบิดา เป็นบุคคลในครอบครัวที่อยู่ในฐานะของผู้ตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ด้วย บทบาทพ่อเป็นบทบาทแบบเป็นเครื่องมือ (instrumental role) เป็นบทบาทเพื่อการยังชีพ บทบาทในการหาเลี้ยงครอบครัว และการจัดการเพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกในครอบครัว และเป็นผู้นำครอบครัว มีอำนาจออกกฎเกณฑ์ ควบคุมระเบียบวินัยภายในครอบครัว และเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจปัญหาสำคัญ ๆ ในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสังคมภายนอกครอบครัว การเป็นตัวแทนทางสังคมภายในครอบครัวและเป็นตัวแทนของครอบครัวในสังคม สำหรับในส่วนมารดามีบทบาทการแสดงออก (expressive role) เป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการแสดงของอารมณ์และจิตใจ การอบรมเลี้ยงดูลูก การแสดงพฤติกรรมที่สนับสนุนให้กำลังใจผู้อื่น เป็นผู้ให้ความอบอุ่นแก่สมาชิกครอบครัว การหัวเราะ การเล่น และการผ่อนคลายอารมณ์ความตึงเครียด บทบาทของมารดาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมภายในบ้านมากกว่า มารดาจึงเป็นศูนย์รวมของระบบครอบครัว ดังนี้ยกทฤษฎีมานี้ก็เพื่อจะให้เข้าใจความเป็นผู้ใหญ่เช่นกันว่า นอกเหนือบทบาทที่แสดงความเป็นพ่อเป็นแม่หรือเป็นลูกที่เด็กๆ เล่นกันนั้น ยังมีหน้าที่และภาระต่างๆ ตามมาด้วยเช่นกัน

นอกจากกรอบความคิดเรื่องความเป็นจริงที่ตัดทอนจินตนาการของเด็กในบางส่วนแล้ว จากเรื่องยังมีการสอดแทรกค่านิยมบางประการให้เด็กการเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็กและที่เครื่องมือรองรับความคาดหวังต่างๆ จากพ่อแม่อีกด้วยจากตอนที่น้องสาวของหมุ่ยถูกแม่สอนให้ทำงานบ้านต่างๆ ตามที่เนื้อเรื่องได้บรรยายไว้ว่า


"ตอนแปดขวบน้องสาวผมหุงข้าวเป็น ทำปลาต้มเค็มได้ กวาดบ้าน ล้างจานและยัง
หัดทำงานบ้านอื่นๆ อีกมากมาย แม่ผมบอกว่า “ลูกผู้หญิงต้องทำเป็นทุกอย่าง
พอโตขึ้น แต่งงานไป คนเขาเห็นว่าลูกทำงานบ้านเก่งหรือทำอะไรไม่เป็นเลย
เขาก็จะรู้ได้เองว่าแม่สอนลูกมาอย่างไร”

                                                               (เหงวียน เหญิต อั๋นห์, ขอตั๋วใบหนึ่งกลับไปสู่วัยเด็ก, หน้า ๔๑)

ถึงแม้ถ้าดูเผินๆ จะเห็นว่าเป็นการดีที่แม่สอนให้ทำงานบ้านและการงานเป็น แต่จุดมุ่งหมายของแม่คือ พอโตขึ้นแต่งงานไป ซึ่งตรงนี้เป็นการคาดหวังที่แม่อยากให้ลูกโตขึ้นไปแต่งงานและเป็นเมียที่ดีซึ่งยังไม่ถึงเวลาที่แม่ควรจะเอ่ยคำพูดเช่นนี้กับเด็กอายุเพียงแปดขวบ ทั้งที่ทั้งนั้นเพราะมุมมองของผู้ใหญ่คือการมองอนาคตล่วงหน้าโดยไม่ได้ใส่ใจว่าตรงกับธรรมชาติและความต้องการของเด็กในวัยนั้นหรือไม่ เพราะถึงแม้เด็ก ๘ ขวบจะเริ่มมีความคิดหาเหตุผลจากนามธรรม รู้จักปัญหาทางสังคมได้บ้าง (David H. Russell, Children Learn to Read, p 51) แต่ก็ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องคู่ครองแต่อย่างใดนอกจากความแตกต่างทางความคิดแล้วภาพอุดมคติในฝันของเด็กและผู้ใหญ่ก็ไม่เหมือนกันอีกด้วย จากเนื้อเรื่องตอนที่หมุ่ยเป็นตัวเองเป็นคนละคนจากที่กลายเป็นคนตั้งอกตั้งใจอ่านหนังสือกลับมาเป็นเป็นหมุ่ยคนเดิมที่เล่นสนุกแบบเด็กทั่วไป จากที่บรรยายเอาไว้ว่า

"จะมีเพียงแต่เจ้าฮายแคระ ยัยตุ่น และยัยตี๋ฟันหลอ ที่ดีใจกับการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือ
เป็นหลังเท้าของผมในครั้งนี้ ในสายตาของพวกมัน การที่ผมตัดสินใจละทิ้งจุดสูงสุดที่เต็ม
ไปด้วยชื่อเสียงเกียรติยศ เพื่อย้อนคืนสู่วันเก่าๆ อันแสนจะมืดมิดนั้น เป็นเรื่องที่กล้าหาญและน่าภูมิใจไม่น้อยไปกว่าขุนนางราชสำนักในอดีต ที่ตัดสินใจบะทิ้งอำนาจราชศักดิ์
เพื่อหวนคืนสู่ชีวิตสามัญทีเดียว ในกรณีนี้ วีรบุรุษในอุดมคติของเด็กคงไม่เหมือนวีรบุรษในความคิดของผู้ใหญ่เสมอไป"

                                                               (เหงวียน เหญิต อั๋นห์, ขอตั๋วใบหนึ่งกลับไปสู่วัยเด็ก, หน้า ๗๖ )

ดังนั้นจึงเห็นว่าการที่หมุ่ยตั้งอกตั้งใจอ่านหนังสือเอาเป็นเอาตาย วันๆ เอาแต่ท่องหนังสือ และได้คะแนนสิบเต็มแทบทุกครั้ง แต่ชีวิตของเขาต้องเวียนวนอยู่กับความน่าเบื่อเช่นนั้นถึงแม้จะเป็นภาพลูกในอุดมคติของพ่อแม่(ผู้ใหญ่)หลายๆ คน แต่สำหรับเด็กด้วยกันแล้วนั้นกลับไม่ได้เป็นภาพในอุดมคติของเขาเลยเพราะธรรมชาติและความต้องการของเด็กคือการได้เล่นสนุกตามวัยไม่ใช่อยู่แต่ในกรอบของความเครียดและตำราเรียนเช่นนี้

การมองเห็นความเป็นไปของโลกของผู้ใหญ่และเด็กนั้นก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากตอนที่เจ้าฮายแคระและยัยตุ่นต่างไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนอายุแปดขวบ แสดงให้เห็นถึงการเข้าหาโลกที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ผู้ใหญ่มักเข้าหาโลกด้วยสมอง แต่เด็กสัมผัสโลกด้วยสัญชาตญาณ (เหงวียน เหญิต อั๋นห์, ขอตั๋วใบหนึ่งกลับไปสู่วัยเด็ก,หน้า ๑๐๐ ) กล่าวคือผู้ใหญ่มีความคิดเสริมเติมแต่งอยู่ตลอดเช่นจะต้องทำให้ตัวเองดูดี น่าเชื่อถือ อาจเป็นเพราะหน้าที่ หรือ ตำแหน่งใดๆ ก็ตามที่มาพร้อมกับความเป็นผู้ใหญ่ ในขนาดเดียวกันเด็กๆ ปฎิสัมพันธ์ต่อโลกตามความเป็นไปของโลกและธรรมชาติของวัยจริงๆ แต่ก็มักโดนขัดขวางจากผู้ใหญ่เสียร่ำไปความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กนั้นถึงแม้จะเป็นเหมือนคู่ขนานโดยยากที่จะมาบรรจบกันก็ตาม แต่ผู้ใหญ่ที่ยังมีความเป็นเด็กก็ยังคงหลงเหลืออยู่บนโลกดวงนี้ไม่น้อย ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการดีที่จะกระเทาะเปลือกของความเป็นผู้ใหญ่ที่ปิดกั้นตัวเองออกจากโลกของเด็กอยู่เสมอได้แตกออกและให้จิตวิญญาณของความเป็นเด็กที่ยังคงจับเกาะแน่นอยู่ภายนอกจิตใจไม่มากก็น้อยได้กลับคืนสู่ที่อยู่เดิมของมัน

เมื่อได้อ่านหนังสือเรื่อง ขอตั๋วใบหนึ่งกลับไปสู่วัยเด็ก จบแล้วก็ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นตั๋วนำทางชั้นดีสำหรับผู้ที่โหยหาความเป็นเด็กอีกครั้ง ไม่ใช่เพียงหนังสือเล่มนี้เป็นเปรียบเสมือนตั๋ว ความทรงจำหรือเพียงสิ่งของบางอย่างอาจนำคุณกลับไปสู่วัยเด็กได้ ของชิ้นนั้นอาจจะเป็น หมอนเปื้อนฝุ่นที่อยู่ในตะกร้ามานาน หรือตุ๊กตาหมีที่อยู่ในตู้เสื้อผ้าที่คุณไม่ได้นำมาเล่นเกือบยี่สิบปีแล้ว ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ขอให้ลองหยิบมันหรือระลึกถึงมันเพื่อที่ว่ามันจะได้พาคุณกับไปสู่ความทรงจำแสนงดงามในวัยเยาว์ได้ก่อนที่จะสายเกินไปดังบทกวี Good Questions. Bad Answers เขียนโดย Wes Magee

Where’s the rattle I shook When I was 1?
Vanished
Where’s the TeddyI hugged When I was 2?
Lost
Where’s the sand boxI played in when I was 3?
Broken up
Where’s the beach ballI kicked when I was 4?
Burst
Where’s the fortI built when I was 5?
Destroyed
Where’s the box of comicsI collected when I was 6?
Missing
Where’s the tin of marbles I had when I was 9?
Swopped
Where’s the bicycle I rode when I was 10?
Sold
What, gone? Everything
Yes, all gone,
all gone . . . .



บรรณานุกรม

พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิพงษ์. (2547). การจัดระเบียบทางสังคม: ความคิดพื้นฐานทางสังคมวิทยา.
กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เหงวียน เหญิต อั๋นห์. (2554). ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก.(แปลโดย มนธิรา ราโท).
กรุงเทพมหานคร : เอโนเวล.

David H. Russell. (1961). Children Learn to Read. New York : Ginn and Company.

Edmunds, C., K. Lowe, M. Murray, and A. Symour (1999). “The Ultimate Educator”, Excerption from the NVAA specialized offering.