วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ตุ๊กตาตัวเดียวในความคาดหวังของระบบทุนนิยม


ตุ๊กตาตัวเดียวในความคาดหวังของระบบทุนนิยม


                                                                                               บทความโดย สมิทธิ อินทร์พิทักษ์





ในสังคมทุนนิยมอย่างเช่นปัจจุบันมักเต็มไปด้วยค่านิยมที่พ่อแม่อยากให้ลูกๆทำงานในระดับสูงๆ ได้ผลตอบแทนมากๆ ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้เป็นไปดังที่กล่าวนั้นคือการศึกษา การศึกษาเป็นตัวกำหนดหน้าที่การงานของลูกๆในอนาคต พ่อแม่จึงมัก          คาดหวังให้ลูกของตัวเองเรียนอย่างจริงจังและมากเกินเพื่อที่จะได้ตอบสนองความหวังของพ่อแม่โดยมิได้คำนึงถึงความสามารถและศักยภาพของลูกตามช่วงวัยที่เหมาะสมด้วยความไม่เข้าใจ ความคาดหวังที่มากเกิน หรือแม้กระทั้งการไม่รู้จักคุณค่าที่แท้จริงของลูก อาจจะจบลงด้วยความเศร้า แบบในตุ๊กตาตัวเดียว จากหนังสือ รวมเรื่องสั้นของโบตั๋น ชุดรักวัวให้ผูกรักลูกให้... ก็เป็นได้

       เรื่องตุ๊กตาตัวเดียว เล่าถึง จอย เด็กวัยเจ็ดขวบซึ่งอยู่ในครอบครัวที่อยู่ในฐานะร่ำรวย แต่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ จอยอยู่กับพี่เลี้ยงชื่อ พี่คำ ซึ่งคอยดูแลจอยและคอยสอนจอยมาเกือบสามปีแล้ว สมัยที่จอยยังอยู่โรงเรียนอนุบาลจอยเรียนหนังสือได้ดีมาก แต่พอเธอย้ายโรงเรียนการเรียนก็แย่ลงเนื่องจากบ้านไกล เหลือเวลาให้กับตัวเองน้อย มิหน่ำซ้ำแม่จะให้เธอเรียนหนักจนแทบไม่มีเวลาพัก ทุกครั้งที่เธอท่องคำศัพท์ผิด แม่มักด่าทอเธอเสมอ เวลาที่เธอได้พัก เธอมักเล่นตุ๊กตาซึ่งในห้องนั่งเล่นรับแขกของคุณแม่มีตุ๊กตาหมูกระเบื้องเคลือบอยู่ตัวหนึ่ง เธอใฝ่ฝันอยากนำเจ้าตุ๊กตาหมูตัวนี้มาเล่นเป็นอย่างมากแต่กลัวแม่จะว่าเอาในความคิดของเธอแม่รักตุ๊กตาตัวนี้มากกว่าเธอเสียด้วยซ้ำ แล้ววันหนึ่งเมื่อเธอโดนด่าทอเรื่องเรียนหนักเข้าในจังหวะที่เธอนำตุ๊กตาหมูออกมาเล่นก็เกิดความน้อยอกน้อยใจแม่ จอยจึงเหวี่ยงตุ๊กตาลงกับพื้นจนแตกกระจายและเมื่อแม่มาเห็นจึงทั้งด่าทั้งตีจอย จอยรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก จึงจบชีวิตที่แสนน่าเบื่อของตัวเองโดยการกินยาฆ่าแมลง

     จากเรื่องจะเห็นถึงความเป็นเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนของจอยเริ่มจากการย้ายโรงเรียน เพราะว่าก่อนที่เธอจะย้ายโรงเรียนนั้นเธอเรียนได้ดีมากจากเนื้อเรื่องที่บรรยายไว้ว่า


“ตอนอยู่อนุบาลหนูจอยเรียนหนังสือได้ดีมาก สอบได้ที่หนึ่งเสมอ
ก็ตอนอยู่ตอนอนุบาลนั้นโรงเรียนอยู่ไม่ไกลนัก หนูจอยตื่นนอน
หกโมงครึ่ง อาบน้ำแต่งตัว รับประทานอาหารเช้า รถโรงเรียน
จะมารับที่หน้าบ้านเวลาเจ็ดโมงครึ่ง มีเวลาถมเถ
 ตอนบ่ายรถโรงเรียนก็มาส่งถึงหน้าประตู เวลาสี่โมงเย็น
 มีเวลาเล่นและทำการบ้าน ดูการ์ตูนได้ด้วย”

                                                                    ( โบตั๋น, ตุ๊กตาตัวเดียว, หน้า 107 )


     จะเห็นได้ว่าที่หนูจอยเรียนได้ดีตอนอนุบาลนั้นเพราะบ้านอยู่ใกล้ ทำให้จอยมีเวลามากขึ้น อีกทั้งยังมีเวลาดูการ์ตูนซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็กๆทุกคนควรมีตามช่วงวัยคู่ไปกับการเรียนรู้มิใช่ว่าเอาแต่ร่ำเรียนเคร่งเครียดแต่หลังจากที่เธอย้ายโรงเรียนทุกอย่างก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่นเธอต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อไปโรงเรียนพร้อมกับแม่อีกทั้งช่วงเวลารอแม่แต่งตัวเธอต้องมานั่นท่องศัพท์อีก ท่องสูตรคูณ เมื่อเธอท่องผิดก็โดนแม่ว่าอีกทั้งยังเอาเธอไปเปรียนเทียบกับลูกคนอื่น จากเนื้อเรื่องที่ว่า
             
“บทสนทนาง่ายๆ แค่นี้ก็ท่องไม่ได้ โตขึ้นจะไปทำมาหากินอะไร โธ่เอ๊ย
ลูกคุณอ้อยที่ทำงานแม่น่ะเขาท่องได้หมดเล่มเลย”

                                                                ( โบตั๋น, เล่มเดิม, หน้า 106 )
  
     จากคำพูดแม่ของจอยในครั้งนี้นอกจากจะแสดงถึงความคาดหวังในตัวลูกแล้วยังแสดงถึงความไม่เข้าใจเด็กและศักยภาพและคุณค่าของลูกตัวเองอีกด้วยในขณเดียวกันก็จะทำให้จอยรู้สึกมีปมด้อยที่ไม่เก่งเท่าลูกคนอื่นนอกจากนั้นเธอยังให้จอยเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนและทุกบ่ายวันเสาร์จนจอยไม่มีเวลาจะพักอีกด้วย 

      เมื่อกล่าวถึงความคาดหวังของแม่ที่มีต่อลูกนั้นจะเห็นว่าเป็นการคาดหวังที่มากเกินและเป็นการคาดหวังภายใต้อำนาจของทุนนิยมหรือเงินเป็นใหญ่จะเห็นจากคำพูดมากๆที่แม่พูดกับจอยเช่น อีกหน่อยจะได้ทำงานบริษัทฝรั่งดีๆ ได้เงินเดือนแพงๆอย่างคุณแม่หรือตอนที่แม่รู้ว่าจอยเรียนวิชางานฝีมือหรือการเกษตร ไม่รู้จะเรียนไปทำไมเสียเวลา เสียสมอง ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยและ ไอ้งานชาวนาชาวสวนนี่ไม่รู้จะเรียนทำไม เราไม่ได้จะให้ลูกไปทำสวนสักนิด เป็นต้น จะเห็นได้ว่านี่คือความคาดหวังซึ่งแม่ของจอยนั้นเรียนเพื่อจบไปทำงานที่ได้เงินมากๆ จึงอยากให้เรียนแต่วิชาภาษาหรือคำนวณเท่านั้น

   เมื่อถึงวันประกาศผลสอลไล่ ผลที่ออกมาคือ จอยสอบตกถึงห้าจุดประสงค์ผลที่ตามมาคือเธอโดนแม่ด่าว่าต่างๆนานาจนเธอเสียใจมากจนไม่อยากเป็นลูกของแม่อีกต่อไปแล้วเธอนึกในใจว่าเป็นลูกคนครัวข้างบ้านยังดีเสียกว่า ลูกของคนครัวข้างบ้านชื่อจุก ถึงแม้จะไม่ร่ำรวยแต่จุกก็มีความสุขได้วิ่งเล่น ดูการ์ตูน ปั่นจักรยาน ซึ่งประเด็นนี้จะเห็นว่า มีเงินไม่ได้แปลว่าจะมีความสุขเสมอไปจนเมื่อจอยน้อยใจและทำตุ๊กตาหมูกระเบื้องเคลือบแม่แตก เธอโดนด่าและทุบตีโดยที่แม่เธอตีราคาของที่ทำแตกว่าราคาตัวละสองหมื่นซึ่งตลอดเรื่องแม่ของจอยมักจะกล่ายเรื่องเงินเสมอซึ่งสะท้อนให้เห็นทาสของระบบทุนนิยมที่เด่นชัด และสุดท้ายจอยก็จบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายเพื่อหลุดพ้นจากความวุ่นวายและน่าเบื่อนั่นคือการถูกแม่กำหนดให้ทำตามแบบที่แม่วางไว้โดยไม่นึกถึงความรู้สึกของเธอบ้าง จากเนื้อเรื่องตอนที่หนูจอยเหวี่ยงตุ๊กตาลงพื้นจนตุ๊กตานั้นแตกและคุณแม่มาพบที่บรรยายไว้ว่า

          “ลูกล้างลูกผลาญ ตุ๊กตาของฉันตัวละสองหมื่น 
           เอามาเล่นแตกหมด      พังพินาศหมด 
          ลูกสารเลว เรียนก็สอบตก โล่แล้วยังล้างผลาญอีกด้วย                                                   โอ๊ย ทนไม่ไหวแล้ว ทนไม่ไหวแล้ว ทำไมถึงมีลูกไม่ได้ดังใจยังงี้ 
ทำไมถึงโง่เง่า ล้างผลาญ ไม่ไหวแล้ว ทนไม่ไหวแล้ว 
ฉันจะเอาเลือดชั่วๆ ของแกออกมาให้หมด”                
พี่คำวิ่งเข้ามาห้ามทัพ แย่งเอาตัวหนูจอยไปไว้ในห้องของพี่คำเอง 
แล้วก็ออกมารับหน้า                    
“คุณจะฆ่าลูกหรือยังไงคะ จะฆ่าเด็กหรือยังไง 
ตีเอาๆ แบบนี้ ตุ๊กตานั่นมีราคา                     
กว่าชีวิตลูก  คุณหรือไงคะ”

                                                                ( โบตั๋น, ตุ๊กตาตัวเดียว, หน้า 119)


   จากตอนที่ยกมาแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังกับลูกมากเกินไปจากประโยคที่ว่า “ทำไมถึงมีลูกไม่ได้ดังใจยังงี้” อีกทั้งยังเอาราคาของตุ๊กตามากล่าวโทษลูกอีกด้วยซึ่งขนาดพี่เลี้ยงเองยังเข้ามาห้ามปราบว่าเธอเห็นค่าของตุ๊กตามากว่าลูกแท้ในไส้ของเธอเช่นนั้นหรือ

    จะเห็นว่าเรื่องทั้งหมดมีปัจจัยหลายอย่างเช่น เวลา ความคาดหวัง แต่ที่สุดแล้วล้วนเกิดมาจากความไม่เข้าใจในเด็กซึ่งเริ่มจากเรื่องๆเล็กเช่นการจำศัพท์ไม่ได้ ผลการเรียนที่ตกต่ำลง จนกระทั่งการทำตุ๊กตากระเบื้องตกแตกจนกลายเป็นเรื่องใหญ่จนบทเรียนที่ได้มาต้องแลกด้วยชีวิต จากชื่อเรื่องตุ๊กตาตัวเดียว จะสื่อถึงตุ๊กตาหมูกระเบื้องที่แตกแล้วนั้น อาจจะยังมีนัยว่า ลูกไม่ใช่เพียงตุ๊กตาของแม่ที่จะอยากจะให้ลูกทำอะไรก็ได้แล้วแต่ใจพ่อแม่ แต่ลูกก็มีชีวิต ความต้องการ ที่พ่อแม่ควรเข้าใจและให้ความรัก 
มิใช่เพียงแค่คาดหวังหรือบังคับอยากให้ลูกทำโน่นเป็นนี่ เพราะว่าเด็กก็คือเด็กไม่ใช่เป็นเพียง ตุ๊กตาตัวเดียวตัวหนึ่ง ของพ่อแม่

    ในปัจจุบันถึงแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า เงิน เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิต แต่จิตใจและความรู้สึกของมนุษย์ย่อมมีความสำคัญมากกว่าโดยเฉพาะความรู้สึกของคนที่เป็นลูก ถึงแม้การกระทำทั้งหมดจะเป็นเพียงแค่ความเป็นห่วงหรือหวังอยากให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นคนเก่งหรือฉลาดในอนาคต แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเด็กจะต้องมีความสุขด้วย ดังนั้นเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควนไตร่ตรองให้ดีว่าเราควรจะเลี้ยงลูกแบบไหนในยุคทุนนิยมอย่างทุกวันนี้




-->

ความลับของเลนเชน: ความแตกต่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในวรรณกรรมสำหรับเด็ก

เด็ก ผู้ใหญ่และความเข้าใจในความลับของเลนเชน

                                                                                                     บทความ  โดย  สมิทธิ อินทร์พิทักษ์




ผู้ใหญ่กับเด็กมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนนอกจากความแตกต่างทางด้านร่างกาย เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ “ตัวเล็ก” ดังนั้น ความนึกคิดภายในจิตใจ ประสบการณ์ ธรรมชาติและความต้องการของเด็กจึงแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ทั่วไปโดยสิ้นเชิง
เมื่อเด็กและผู้ใหญ่มีความแตกต่างกันเช่นนี้จึงมักเกิดความขัดแย้งกันอยู่เสมอ จากเรื่องสั้น ความลับของเลนเชน (Lenchens Geheimnis ) ในหนังสือเรื่อง โรงเรียนคาถาวิเศษ ( Die Zauberschule Und Andere Geschichten ) แต่งโดย มิฆาเอ็ล เอ็นเด้ ได้นำเสนอเรื่องราวของ เลนเชน ซึ่งเป็นเด็กน้อยที่เพิ่งเริ่มหัดอ่านหนังสือ ได้เดินทางไปตามหาแม่มดเพื่อใช้คาถาช่วยเธอจัดการกับพ่อแม่ที่มักขัดใจเธอเป็นประจำและการเดินทางตามหาแม่มดของเธอในครั้งนี้เอง ทำให้เธอและพ่อแม่เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น เริ่มเรื่องด้วยการบรรยายถึงลักษณะของเลนเชนว่า

“เลนเชนเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ 
คนหนึ่งปกติแล้วเธอเป็นเด็กที่น่ารัก 
หรืออย่างน้อยตราบเท่าที่พ่อกับแม่ของเธอ
ทำตัวมีเหตุผลและยอมทำตามที่เธอต้องการ”

    (มิฆาเอ็ล เอ็นเด้, ความลับของเลนเชน : โรงเรียนคาถาวิเศษ, หน้า 56 )

    จากข้อความที่ยกมานี้ทำให้เรารู้ว่าเลนเชนจะทำตัวน่ารักเมื่อพ่อแม่ทำตามสิ่งที่เธอต้องการ ซึ่งความต้องการของเธอและพ่อแม่นั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะตรงกันเสมอไปและแน่นอนความต้องการของเธอนั่นบ่อยครั้งที่ตรงข้ามกับพ่อแม่จากเนื้อเรื่องตอนที่เธอคุยกับพ่อและแม่ว่า
                               

เมื่อใดที่แม่หนูน้อยบอกกับพ่อของเธอว่า      
“พ่อขอสักห้ามาร์กสิ 
หนูจะเอาไปซื้อไอติมกินให้จุใจเลย !” 
พ่อของเธอจะตอบว่า “พอได้แล้ว 
ลูกกินไอติมไปตั้งสามแท่งแล้ว                                                
กินไอติมมากๆเดี๋ยวก็ปวดท้องหรอก”           
หรือเวลาที่เลนเชนพูดกับแม่อย่างประจบประแจงว่า            
“แม่คะขัดรองเท้าให้หนูหน่อยสิ!” 
แม่ของเธอจะตอบว่า 
 “ทำเองสิจ๊ะ ลูกน่ะโตพอที่จะทำอะไรๆ ได้เองแล้ว”

                  (มิฆาเอ็ล เอ็นเด้, ความลับของเลนเชน : โรงเรียนคาถาวิเศษ, หน้า 56 )

    จากเนื้อเรื่องที่ยกมานี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เลนเชนต้องการซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่พ่อแม่ตอบสนองต่อเธอนั้น ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ขัดใจเธอโดยไม่มีเหตุผล การที่เลนเชนขอเงินพ่อไปซื้อไอติมแล้วไม่ได้นั้น ไม่ใช่เพราะว่าพ่อต้องการขัดใจเธอ แต่พ่อกลัวว่าเธอจะปวดท้องเพราะกินไปแล้วตั้งสามแท่ง    ซึ่งเธออาจไม่เข้าใจความหวังดีของพ่อ    หรือถ้ามองในอีกมุมหนึ่งการที่พ่อตามใจเธอโดยให้เธอกินไอติมไปก่อนหน้านี้แล้วตั้งสามแท่ง 
แต่เมื่อเธอขออีกพ่อกลับปฏิเสธด้วย สาเหตุนี้เองเธอจึงอาจคิดว่าพ่อไม่มีเหตุผล
เอาเสียเลย เรื่องที่เธอขอให้แม่ขัดรองเท้าให้ก็เช่นกัน การที่แม่ไม่ยอมขัดรองรองเท้าให้เธอเพราะว่าเธอโตพอที่จะทำเองได้แล้ว แต่เลนเชนอาจไม่เข้าใจถึงหน้าที่ที่มาพร้อมกับการเติบโตของเธอ เมื่อเธอยังเป็นเด็กแม่อาจจะขัดรองเท้าให้ แต่เมื่อเธอโตขึ้นเธออาจจะคิดว่าแม่ก็ยังต้องขัดให้เธอเหมือนเดิมและพอแม่ไม่ทำให้ในความคิดของเธอ
ความหวังดีของแม่อาจจะแปรเปลี่ยนเป็นการกระทำที่ขัดใจเธอก็เป็นได้

      จุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอต้องเดินทางออกตามหาแม่มดเพื่อจัดการกับเรื่องขัดใจของพ่อแม่คือ เรื่องที่เธอตัดสินใจว่าปิดเทอมนี้เธอจะไปเที่ยวทะเล แต่พ่อแม่กลับตอบเธอว่า พ่อกับแม่ตั้งใจจะไปเที่ยวภูเขาความไม่ลงตัวกันครั้งนี้ถือว่าไม่มีเหตุผลสำหรับเธอ
ในเมื่อพ่อแม่ไม่มีข้อสนับสนุนในการไปเที่ยวภูเขาแทนที่จะไปทะเลตามที่เลนเชนตั้งใจไว้

      เมื่อเธอเริ่มออกเดินทางเธอก็ได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจในการตามหาแม่มดโดยตำรวจได้บอกเธอให้ไปที่ถนนสายฝน เลขที่ 13 ห้องใต้หลังคาซึ่งเป็นที่อยู่ของแม่มด ฟรานซิสกา เครื่องหมายคำถาม ซึ่งรับปรึกษาปัญหาชีวิต เลนเชนก็ได้เดินทางไปตามนั้นและเมื่อถึงบ้านเลขที่ 13 เธอก็ได้พบว่าบ้านเลขที่ 13 เป็นบ้านที่มีเพียงบันไดเพียงอย่างเดียว      ไม่มีเสาหรือคานและทอดยาวไปถึงห้าชั้นซึ่งบันไดนั้นไปหยุดอยู่ที่ประตูห้องใต้หลังคา      เมื่อเธอเปิดประตูเข้าไปก็พบว่าหลังประตูนั้นเป็นทะเลสีฟ้าสดใส มีเรือให้เธอพายไปยังเกาะข้างหน้า     เมื่อเธอขึ้นเรือไปเธอแทบไม่ออกแรงพายด้วยซ้ำและเมื่อเธอไปถึงเกาะแห่งนั้นเพียงชั่วครู่เกาะก็กลายเป็นห้องซึ่งปูด้วยพรมเอาไว้และที่นั่นเองที่เธอได้พบกับแม่มดฟรานซิสกาเธอได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับพ่อแม่ให้ฟังและยังกล่าวถึงปัญหาของเธอว่า

                            “ปัญหาก็คือพวกเขามีจำนวนมากกว่าหนู” 
                           เลนเชนเล่าต่อ”พ่อแม่มักจะเออออกันอยู่สองคน                                                            หนูก็เลยเหลือตัวคนเดียว”  
                           “แถมทั้งสองคนนั้นยังตัวใหญ่กว่าหนูอีก”

                       (มิฆาเอ็ล เอ็นเด้, ความลับของเลนเชน : โรงเรียนคาถาวิเศษ, หน้า 62 )

       จากเนื้อเรื่องแสดงให้เห็นปัญหาของเธอสองอย่างคือ พ่อแม่มีจำนวนมากกว่าเธอและพ่อแม่ตัวใหญ่กว่าเธอ ปัญหาของเธอนั้นไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาของเธอคนเดียวแต่เป็นปัญหาของเด็กหลายคนเมื่อมีเรื่องขัดแย้งกับพ่อแม่และไม่มีคนเข้าข้างมิหนำซ้ำพ่อและแม่ยังจะเข้าข้างกันอีก การที่พ่อแม่ตัวใหญ่กว่าก็เช่นกันเมื่อมีปัญหากันเด็กจะเห็นว่าความตัวใหญ่ของพ่อแม่นี้คือการคุกคามหรือมีอำนาจเหนือกว่าเธอ

แม่มดฟรานซิสกาตัดสินใจมอบน้ำตาลวิเศษให้เลนเชนสองก้อนเพื่อให้พ่อกับแม่กินและเมื่อใดที่พ่อกับแม่ขัดใจเธอ พ่อแม่ก็จะตัวเล็กลงครึ่งหนึ่งทุกครั้งไป โดยแม่มดมีข้อเสนอว่าครั้งนี้จะช่วยเหลือฟรีโดยไม่มีคิดค่าตอบแทนแต่ครั้งต่อไปจะคิดค่าตอบแทนที่แพงทีเดียว เลนเชนรับข้อเสนอนั้น ทันใดนั้นก็มีเสียงดัง “ฟลุบ!”และเลนเชนก็กลับมายืนอยู่ที่ห้องนั่งเล่นในบ้าน เลนเชนนำน้ำตาลให้พ่อและแม่กินจนสำเร็จ และแล้วก็เกิดเรื่องขึ้นเมื่อพ่อเธอต้องการจะดูข่าวแต่เลนเชนอยากดูการ์ตูน ความขัดแย้งนี้เองทำให้พ่อของเธอตัวเล็กลงครึ่งหนึ่ง แม่ของเธอก็ตัวเล็กลงเช่นกันเนื่องจากแม่ต้องการไปตามหมอมาดูอาการที่พ่อตัวเล็กลงแต่เลนเชนไม่ต้องการให้ตามหมอมาจากนั้นก็มีเรื่องขัดใจกันอีกหลายเรื่องจนพ่อกับแม่เธอตัวเล็กลงเหลือเพียง 10 และ 11 เซนติเมตรเท่านั้น

เช้าวันรุ่งขึ้นเธอต้องหาข้าวเช้ากินเองเพราะพ่อแม่ตัวเล็กเกินไปที่จะจัดแจงหาอาหารมาให้เธอกินเหมือนแต่ก่อน เมื่อเธอกลับมาจากโรงเรียน เลนเชนต้องการหาอาหารกินเธอจึงเปิดปลากระป๋อง แต่ว่าเกิดพลาดโดนปากกระป๋องบาด จากตอนนี้เองทำให้เห็นความรักของพ่อแม่ที่แม้เลนเชนจะทำกับพ่อแม่จนตัวเล็กลงมาก       แต่พ่อแม่ก็ยังเป็นห่วงเธอจากที่เนื้อเรื่องบรรยายไว้ว่า

“เลนเชนพยายามจะเปิดปลากระป๋องกินเป็นอาหารกลางวัน
แต่ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยในที่สุดเธอก็พลาดโดนปลากระป๋อง                           บาดเข้านิ้วจนเลือดไหลเธอเอาแต่ร้องไห้แล้วก็วิ่งตะโกนว่า
“พ่อ! แม่!” ไปมาอยู่ในห้อง เธอกลัวว่าเลือดจะไหลออกจากแผลไม่หยุด   
 ในที่สุดแม่ก็ค่อยๆเดินออกมาจากที่ซ่อนตัวหลังชั้นวางหนังสือ            
พ่อก็เดินตามออกมาด้วยโดยเว้นระยะห่างพอสมควร           
ทั้งสองคนทนได้ยินเสียงลูกสาวของตัวเองร้องไห้ไม่ได้             
“เจ็บมากมั้ยลูก” แม่ถาม

(มิฆาเอ็ล เอ็นเด้, ความลับของเลนเชน : โรงเรียนคาถาวิเศษ, หน้า 75 )
               
เรื่องราวดำเนินต่อไปโดยเกิดปัญหาต่างๆ มากมายเมื่อพ่อและแม่ของเธอตัวเล็กลง เช่น พ่อแม่ของเธอเกือบโดนแมวของมักซ์ซึ่งเป็นเพื่อนของเลนเชนทำร้าย ทำให้เลนเชนตัดสินใจเดินทางไปหาแม่มดฟรานซิสกาอีกครั้งเพื่อแก้ไขเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ครั้งนี้ปรากฏว่าที่อยู่ของแม่มดเปลี่ยนไป อีกทั้งหนทางไปสู่แม่มดยังเปลี่ยนไปอีกด้วยจากเนื้อเรื่องที่บรรยายไว้ว่า

          “ทะเลสาบที่เธอเคยเห็นเมื่อคราวที่มาหาแม่มดครั้งแรกก็ยังอยู่เหมือนเดิม                       ต่างกันแต่ว่าคราวนี้มันกลายเป็นน้ำแข็งไปหมดแล้วเจ้าเรือลำน้อยก็ยังอยู่                    แต่ว่ามันโดนพื้นน้ำแข็งยึดเอาไว้จนแน่นที่นี่คงกำลังอยู่ในช่วงฤดูหนาว                          ดังนั้นทุกแห่งจึงมองเห็นแต่หิมะขาวโพลน ด้วยเหตุนี้เลนเชนจึงต้องเดิน                  ไปที่เกาะด้วยตัวเอง ซึ่งระยะทางมันก็ไกลโขอยู่ ที่ยากกว่านั้นก็คือเธอต้องเดิน           แต่ละก้าวด้วยความระมัดระวังไม่ใช่เพียงเพราะเธอกลัวลื่น เท่านั้น แต่เพราะเธอ 
ไม่มั่นใจว่าน้ำแข็งจะแข็งเท่ากันทุกที่และมันจะทานน้ำหนักเธอได้หรือเปล่า
บางครั้งเสียงของพื้นน้ำแข็งฟังดูน่ากลัวคล้ายกับจะแตกออกจากกัน”

     (มิฆาเอ็ล เอ็นเด้, ความลับของเลนเชน : โรงเรียนคาถาวิเศษ, หน้า 90 )

     จะเห็นว่าครั้งแรกที่เธอไปหาแม่มดนั้นสุดแสนจะสบายแต่เมื่อเธอรู้ว่าการที่เธอทำกับพ่อแม่ตามที่เธอขอความช่วยเหลือจากแม่มดครั้งก่อนนั้นไม่ถูกต้อง การที่จะแก้ไขในสิ่งที่เธอทำตามใจตัวเองในครั้งนี้ต้องแลกด้วยความลำบากให้สมกับที่เธอเคยเลือกเดินผิดทางไป
     เมื่อพบกับแม่มด   แม่มดก็ยื่นข้อเสนอให้คือเธอต้องเป็นคนกินน้ำตาลวิเศษที่ทำให้ตัวหดเล็กลงไปแทน และเมื่อเธอขัดใจพ่อแม่ เธอก็ต้องตัวหดเล็กลงอย่างเช่นที่พ่อแม่ของเธอเคยเป็น ถึงอย่างไรก็ตามแม่มดฟรานซิสกาก็เคารพการตัดสินใจของเธอโดยพูดกับเธอว่า
                               
“ฉันไม่ได้อยากจะให้เธอทำตามที่ฉันบอกนะ” 
แม่มดยืนยันหนักแน่น“เธอต้องตัดสินใจเอง 
เธอต้องเลือกทำในสิ่งที่เธอคิดว่ามันถูกต้อง   
ที่ฉันพูดไปทั้งหมดก็เพราะต้องการบอกให้เธอรู้ว่า
ผลของมันจะเป็นยังไงเท่านั้นเองเธอเข้าใจมั้ย”

                  (มิฆาเอ็ล เอ็นเด้, ความลับของเลนเชน : โรงเรียนคาถาวิเศษ, หน้า 92 )

   นี้แสดงถึงการให้ตัวเลือกแก่เลนเชนซึ่งเป็นการกระทำที่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ในที่สุดเลนเชนก็เลือกที่จะกินน้ำตาลแทนพ่อแม่ เมื่อเวลาย้อนกลับไปเธอจึงเป็นคนกินน้ำตาลเข้าไปเองและเธอก็พยายามที่จะทำตามที่พ่อแม่สั่งทุกอย่างจนพ่อแม่ของเธอผิดสังเกตจึงถามว่า

                   “มันต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่ง” แม่พูด 
                   “อะไรสักอย่างที่ทำให้ลูกเปลี่ยนไปขนาดนี้ลูกดูแปลกไปมาก 
                   จนไม่เหมือนกับเลนเชนคนเดิมเลย” 
                “เด็กทั่วๆ ไปต้องดื้อบ้างเป็นบางครั้ง”พ่อพูดต่อ
              “นี่ลูกไม่มีความเป็นตัวของตัวเองแล้วเหรอ”“ไม่มีค่ะพ่อ” 
               “พ่อกับแม่กังวลเรื่องของลูกมากนะ”แม่บ่น
               “พ่อกับแม่อยากให้ลูกดื้อบ้าง อยากให้เถียงพ่อแม่บ้าง 
                พ่อกับแม่จะได้สบายใจว่าลูกไม่มีอะไรผิดปกติ แม่ขอแค่นี้ได้มั้ย”
                                                            
                    (มิฆาเอ็ล เอ็นเด้, ความลับของเลนเชน : โรงเรียนคาถาวิเศษ, หน้า 96 )

  จากคำพูดของพ่อแม่นี้เองทำให้เห็นว่าธรรมชาติของเด็กต้องดื้อบ้างเป็นธรรมดา เป็นการสอนพ่อแม่ไปในตัวว่าตามปกติแล้วเด็กต้องมีเถียงพ่อแม่บ้างเป็นครั้งคราว 
เมื่อเลนเชนทำตัวเรียบร้อยและเชื่อฟังไปเสียทุกอย่างพ่อแม่จึงรู้สึกไม่สบายใจ
               
      ในที่สุดเมื่อเลนเชนเล่าความจริงทั้งหมดให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่ก็เห็นใจเธอเป็นอย่างมาก ประสบการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้เลนเชนได้เรียนรู้ถึงบทเรียนที่เธอทำกับพ่อแม่ ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ได้เรียนรู้ความรู้สึกของลูกที่ต้องตัวเล็กและธรรมชาติต่างๆของเด็กมากขึ้น

   เป็นไปได้ยากทีเดียวที่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กเพราะพื้นฐานประสบการณ์ มุมมอง ความต้องการระหว่างสองวัยนี้มีความแตกต่างกันมาก แต่ถ้าหมั่นเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เข้าใจกัน เพียงเท่านี้ความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นก็คงลดน้อยลงเป็นแน่ สุดท้ายแทบไม่มีวิธีใดเลยที่จะลดความขัดแย้งกันนอกจาก “ เข้าใจเขา เข้าใจเรา” ไม่ใช่เป็นเพียงหลักที่จะใช้ได้ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ไม่ว่าวัยใด              ถ้าหัดเข้าใจกัน ย่อมไม่เกิดความขัดแย้งอย่างแน่นอน







-->

วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ความบริสุทธิ์บ่อเกิดแห่งความพิเศษ : ความเป็นสากลของความพิเศษของเด็ก

ความบริสุทธิ์บ่อเกิดแห่งความพิเศษ (ความเป็นสากลของความพิเศษของเด็ก)

                                                                                                 บทความโดย สมิทธิ อินทร์พิทักษ์

    ความเป็นเด็กมักมีลักษณะเฉพาะ เช่น ตัวเล็ก น่ารัก น่าเอ็นดู ใสซื่อบริสุทธิ์ จนเป็นที่รักใคร่
และให้ความสนใจต่อผู้คนทั้งหลายในยุคปัจจุบัน  เมื่อสมัยก่อนเด็กไม่ได้ดูน่ารักเหมือนในสมัยนี้ 
เพราะสมัยก่อนนั้นเด็กไม่ได้มีวัยเฉพาะของตนเอง แต่เด็กกลับถูกมองว่าเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็ก 
จึงต้องทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ตามศักยภาพของผู้ใหญ่ตัวเล็กคนหนึ่ง ใส่ชุดแบบผู้ใหญ่ 
ทำงานแบบผู้ใหญ่เป็นต้น แต่บางความเชื่อมักให้ความสำคัญแก่เด็กว่าเด็กยังเป็นวัยที่มี
ความพิเศษเฉพาะ

รูป เด็กในยุคกลางที่แต่งตัวและทำงานเหมือนผู้ใหญ่

เป็นวัยที่ได้รับความคุ้มครองของเทพ เทวดา ตัวอย่างหนึ่งของความเชื่อนี้คือความเชื่อเรื่องแม่ซื้อ 
โดยเชื่อว่าเด็กยังเป็นวัยที่บริสุทธิ์ ใสสะอาด ดังนั้นจึงมีเทพเทวา ภูตผีคุ้มครองอยู่ หนึ่งในนั้นคือแม่ซื้อ แม่ซื้อจะคอยคุ้มครองเด็กตลอดจนเด็กคนนั้นจะมีจริตและไร้ความบริสุทธิ์แล้ว เช่น ทารกแรกเกิดในช่วงเดือนแรกที่ส่วนใหญ่เอาแต่นอนหลับอย่างเดียวเท่านั้น จะมีร้องไห้บ้าง เมื่อรู้สึกหิวหรือขับถ่าย ในที่นี้ไม่รวมถึงยามเด็กไม่สบาย และเมื่อใดที่ทารกน้อยไร้เดียงสานอนหลับ อาการต่างๆ มักจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น อาจมีการผวา หรืออาจนอนยิ้มอย่างมีความสุข อาการนี้คนโบราณเชื่อว่าเด็กจะเล่นกับแม่ซื้อ และมีแม่ซื้อคุ้มครองอยู่  เด็กที่ตกจากที่สูง เช่น ที่นอนหรือเตียง มักจะไม่ค่อยได้รับอันตรายมากเพราะมีแม่ซื้อคอยรองรับ จนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ยังคงมีความเชื่อในเรื่องนี้อยู่ทั้งๆที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้   

รูป 2รูปวาดแม่ซื้อประจำวันเกิด ตามจินตนาการ
นี้เป็นเพียงความเชื่อความเชื่อหนึ่งเท่านั้นเกี่ยวเด็ก อีกความเชื่อหนึ่งเกี่ยวกับเด็กก็คือ ความเชื่อเรื่อง ตาของเด็กนั้นสามารถมองเห็นสิ่งที่คนอื่นนั้นมองไม่เห็นได้ กล่าวกันว่าเด็กมีความบริสุทธิ์และดวงจิตยังไม่ได้รับการปรุงแต่ง ดังนั้นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการรับรู้โดยทั่วไปของคนเด็กจึงสามารถมองเห็นได้ เช่น อาการโคลิค ( Colic ) ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่า เด็กที่มีอาการนี้จะร้องไห้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของวันและร้องไม่ยอมหยุดจนกว่าจะครบช่วงเวลานั้น ร้องซ้ำ ๆ เป็นประจำทุกวันในช่วงเวลาเดิมโดยมากจะเป็นช่วงกลางดึกถึงรุ่งสาง กล่าวกันว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเด็กได้เห็นวิญญาณของคนที่ตายไปแล้วมารบกวน แต่ในทางการแพทย์เชื่อว่า เป็นอาการที่เป็นปกติที่จะเกิดขึ้นได้กับเด็กอาจเป็นเพราะรู้สึกไม่สบายตัวหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ยังหาข้อสรุปได้ไม่แน่ชัด แต่ถ้าพ้นระยะเวลา 3 เดือนไปแล้วจะหายเป็นปกติ แต่มีหลายคนที่เดียวแม้จะอายุ 3 ขวบ 4 ขวบแล้วอาหารดังกล่าวก็ยังคงไม่หายไป

รูป 3ภาพยนตร์เรื่อง โคลิค เด็กเห็นผี ซึ่งสร้างมาจากความเชื่อดังกล่าว

นอกจากนั้นยังมีความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับเด็กมากมายอีกด้วยเช่น เด็กที่ยังบริสุทธิ์เท่านั้นจะสามารถทำให้การบูชายัญเป็นผล จะให้สาวแก่ แม่หม้าย มาเป็นเครื่องบูชายัญไม่ได้ เด็กสามารถทำอะไรที่คนอื่นทำไม่ได้เช่นสามารถเข้าไปในโลกอีกโลกหนึ่งได้โดยที่ผู้ใหญ่ทำไม่ได้ เด็กมีพรสวรรค์พิเศษบางประการซึ่งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วความสามารถพิเศษนี้จะหายไป มีความเชื่อหนึ่งในทวีปยุโรปใน       คริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือยุคพิวริตัน ( Puritans ) เชื่อว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาล้วนมีบาป จึงมักเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็กๆ และเพื่อช่วยให้เด็กๆมีชีวิตที่ยืนยาว จึงพยายามสั่งสอนอมรบเด็กให้เกิดความหวาดกลัวต่อบาปและนรก หนังสือในยุคนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความน่าหวาดกลัวต่างๆ เรียกหนังสือในยุคนี้ว่า Good Godly Books ความเชื่อเกี่ยวกับเด็กนั้นมีหลากหลาย มีทั้งดีและไม่ดี พิสูจน์ได้บ้างไม่ได้บาง แต่อย่างไรก็ดีความเชื่อเหล่านี้มีส่วนในการกำหนดทิศทางเกี่ยวกับเด็กและรูปแบบวรรณกรรมสำหรับเด็กได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะงานเขียนมักจะมีความเชื่อเป็นองค์ประกอบหรือหน่วยย่อยของเรื่องเสมอ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่วรรณกรรมสำหรับเด็กจะมีความเชื่อเรื่องความพิเศษของเด็กแทรกอยู่

ความพิเศษของตัวละครเด็กในงานวรรณกรรมสำหรับเด็ก

ตัวละครเด็กที่มีความพิเศษมักปรากฏในวรรณกรรมประเภทแฟนตาซี ตัวละครที่เป็นเด็กมักได้รับความพิเศษแตกต่างกันไปมากมาย ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างเพียงคร่าวๆเกี่ยวกับตัวละครเด็กที่มีความพิเศษที่ปรากฏให้เห็นในงาน เริ่มจาก โมโม่ ( Momo ) แต่งโดยมิชาเอ็ล เอ็นเด้ ตัวละครเอกคือ โมโม่ เด็กหญิงความพิเศษคือเป็นผู้มีทักษะการฟังที่ดี การฟังของเด็กสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้พบคำตอบของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้ จากในเนื้อเรื่องที่บรรยายไว้ว่า

  พอได้พูดต่อหน้าโมโม่ คนโง่กลับมีความคิดดีๆขึ้นมา ได้ ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เธอพูดหรือถามไถ่จนเขาคิดขึ้นมาได้ เธอเพียงแต่นั่งฟังผู้นั้นพูดด้วยความตั้งใจและเอาใจใส่ ในขณะที่เธอมองเขาด้วยนัยน์ตาดำขลับ คนพูดก็จับความคิดขึ้นมาได้ ซึ่งเขาก็ไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่ในหัวสมองของเขาเอง  

                                                                                 ( มิชาเอ็ล เอ็นเด้, โมโม่, หน้า 18 )
จากการฟังที่ดีของเธอที่ไม่มีผู้ใหญ่คนใดมีเหมือน ทำให้เธอเป็นที่รักของเพื่อนบ้าน และมีประโยคพูดกับติดปากเมื่อใครสักคนต้องการความช่วยเหลือว่า  “  ไปหาโมโม่สิ ”

เรื่องต่อมาคือเด็กที่มีความสามารถพิเศษในการปลูกต้นไม้ นั้นก็คือเด็กชายติสตู ตัวละครเอกจากเรื่อง ติสตู นักปลูกต้นไม้ ( Tistou les pouces verts )




รูป 4 ติสตูกับลุงมุสตาชผู้เป็นแรงบันดาลใจในพรสวรรค์การปลูกต้นไม้ของเขา
ติสตูมีพรสวรรค์ ( Charisma ) ในการปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เกิด เขาเป็นคนที่จัดว่าเป็นพวกที่เรียกว่า หัวแม้โป้งเขียว ( Green finger ) พวกที่จะปลูกต้นไม้ได้ดีมากเป็นพิเศษ และนี้นับเป็นความพิเศษอย่างหนึ่งของเด็กคนนี้ และภายหลังเขาได้ใช้ความพิเศษนี้สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้คนได้มากทีเดียว
ติสตูเป็นเด็กที่ได้พบความสามารถพิเศษในการปลูกต้นไม้ของเขาจากแรงบันดานใจที่ดี              นั่นคือลุงมูสตาซ จนนำมาใช้ได้อย่างมีประโยชน์กับสังคมได้ ครั้งหนึ่งที่ติสตูได้ไปเที่ยวคุกกับคุณตรูนาดิสที่สอนเรื่องกฏระเบียบให้แก่เขา และเห็นความน่ากลัวของคุก จากเนื้อเรื่องบรรยายไว้ว่า

“ ทั้งสองเดินเลียบกำแพงไปเรื่อยจนถึงหน้ารั้วเหล็กสูงสีดำ ตรงปลายแหลมคมหลังรั้วเหล็กนี้เราจะเห็นรั้วเหล็กสีดำอีกหลายชั้น เบื้องหลังสุดเป็นกำแพงทึมๆ ชั้นแล้วชั้นเล่า บนกำแพงทุกแนวและบนรั้วเหล็กทุกรั้วมีเหล็กปลายแหลมเสียบไว้โดยรอบ “ทำไมเขาจึงเสี้ยมปลายแหลมน่าเกลียดอย่างนั้นไว้ทั่วไปเล่าครับ ติสตูถาม “เอาไว้ทำไมครับ” “เพื่อกันไม่ให้นักโทษหลบหนี” “ถ้าคุกน่าเกลียดน้อยกว่านี้” ติสตูพูด “บางทีนักโทษคงไม่อยากหนีเท่าไหร่” ”

                                                                  ( โมรีส ดรูอง, ติสตู นักปลูกต้นไม้, หน้า 61 -63)

และเมื่อติสตูเห็นว่าการทำให้คุกอยู่ในสภาพแบบนี้แล้วจะทำให้ผู้ที่ติดคุกกลับกลายเป็นคนดีนั่นคงเป็นไปได้ยาก วันหนึ่งติสตูได้ใช้ความพิเศษของเขาช่วยเหลือคุกแห่งนี้ โดยได้ทำให้เกิดสวนดอกไม้ขึ้นรายล้อมคุกทำให้สภาพที่น่ากลัวของคุกดูสดใสรื่นรมย์ขึ้นทันตา

นอกจากนี้ติสตูก็ได้ช่วยทำให้ไม่เกิดสงครามขึ้นด้วยโดยทำให้ปืนใหญ่และอาวุธในการรบการศึกยิงออกมาเป็นกระสุนดอกไม้ วันหนึ่งลุงมูสตาซได้จากติสตูไปในดินแดนแห่งความตาย ทำให้ติสตูเศร้าใจมากทำให้วันหนึ่งติสตูก็ได้จากไปไกลลิบ..........(ไปไหนต้องให้หามาอ่านกันเอง...)

โมโม่เป็นอีกหนึ่งในตัวละครที่ถือว่าเป็นฮีโร่สำหรับเด็กๆ โมโม่ เป็นตัวละครเอกจากเรื่อง โมโม่ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ โมโม่ เป็นเด็กหญิงเร่ร่อนคนหนึ่งที่ไม่มีครอบครัว ไม่มีญาติ บ้านของเธอคือโรงละครร้างในเมืองเล็กๆ ทุกคนในเมืองนั้นชอบมาหาโม่โม่ ผู้ใหญ่ชอบมาเล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้ฟัง เพราะเธอมีความสามารถในการฟังที่ดี เด็กๆ ชอบมาจับกลุ่มเล่นกับโม่โม่ แต่เมื่อผู้ชายสีเทาเข้ามาในเมือง ทุกคนรอบข้างโมโม่ก็เปลี่ยนไป ผู้ชายสีเทาเข้ามายุยงให้ผู้คนพักผ่อนน้อยๆ ทำงานหนักๆ เลิกเสียเวลาติดต่อพูดคุยกับคนอื่น โมโม่ก็เลยโดดเดี่ยวขึ้นเรื่อยๆ เขารับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงว่ายิ่งมนุษย์พยายามจะประหยัดเวลามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีเวลาน้อยลงเท่านั้น เธอเลยพยายามช่วยเหลือให้สภาพสังคมแบบเดิมกลับมา ก่อนที่โลกนี้จะไม่เหลือเวลาให้คนได้พูดคุยกันอีกเลย เธอได้รับความช่วยเหลือจากท่านโฮร่า และ เต่าชื่อ  คัสซีโอเพย่า โดยนำดอกไม้ชั่วโมงมาคืนแก่มนุษย์ทุกคนและทำให้ผู้ชายสีเทาสลายหายไปในที่สุด

รูป 5 โมโม่ถูกล้อมโดยผู้ชายสีเทา

ความพิเศษของเธอหรือความสามารถในการฟังที่ดีของเธอราวกับมีพลังวิเศษ ในตอนหนึ่งที่ผู้ชายสีเทามาคุยกับเธอและเธอใช้ความสามารถในการฟังนี้ทำให้ผู้ชายสีเทาคลายความลับออกมาและความลับนี้เองทำให้เธอสามารถจัดการพวกเขาได้ในที่สุด และเมื่อผู้ชายสีเทาคนดังกล่าวผู้ลงโทษ เขาได้เล่าให้ผู้ตัดสินคดีความเรื่องการเปิดเผยความของเขา ดังที่เนื้อเรื่องบรรยายไว้ว่า 
“ ใช่ครับ แต่ผมใคร่จะให้ศาลสูงลดหย่อนผ่อนโทษให้ผม
โดยคำนึงถึงเหตุผลแวดล้อมที่ว่า ผมถูกมนตร์คาถาโดยป้องกันตัวไม่ได้ 
โดยวิธีที่เด็กคนนี้ใช้ฟังผม ทุกอย่างมันได้ออกมาจากผมเอง 
ผมไม่สามารถอธิบายได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร 
แต่ผมสาบานได้ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ”
                                        ( มิชาเอ็ล เอ็นเด้, โมโม่ , หน้า 138 )

จะเห็นว่าความสามารถพิเศษนี้ยิ่งใหญ่มากซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยเพื่อนมนุษย์ของเธอจากการขโมยเวลาของผู้ชายสีเทา

 ตัวอย่างทั้งสองเรื่องนี้ทำให้ได้เห็นว่าตัวละครเด็กมักถูกเลือกให้มีความสามารถพิเศษบางอย่างเพื่อที่จะกระทำอะไรบางสิ่ง มีหลายเรื่องที่เมื่อได้ทำอะไรบางสิ่งแล้วความสามารถพิเศษหรือความพิเศษนั้นจะหายไป และอีกหลายเรื่องเหมือนอันที่ความพิเศษนั่นยังอยู่ และอีกหลายเรื่องที่ตัวละครเอกที่ดีแบบนี้จะต้องจากไปไกลลิบอย่างเช่น ติสตู 

ความพิเศษต่อมาที่มักเป็นสากลของเด็กเลยก็ว่าได้คือการเข้าไปสู่โลกอีกโลกหนึ่งได้เฉพาะเด็กที่เห็นได้ชัดคือจากหนังสือชุดนาร์เนีย ( Narnia ) เรื่อง เก้าอี้เงิน ( The Silver chair) โดย ซี.เอส.ลูอิส  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าไปในดินแดนแห่งนาร์เนียซึ่งในนาร์เนียนั้นเวลาเดินเร็วกว่าโลกแห่งความจริงมาก ก่อนเรื่องเก้าอี้เงินนี้เคยมีเรื่องก่อนหน้านี้แล้ว คือพวกเด็กๆสกุล พีเวนซี ได้เข้าไปในดินแดนแห่งนาร์เนียมาก่อนแล้ว แต่ในตอนนี้พวกเขาไม่สามารถกลับเข้ามาได้อีก โดยที่อัสลาน สิงโตผู้สร้างนาร์เนียได้กล่าวไว้กับ ยูสตาส เด็กหนุ่มที่ยังอายุน้อยและยังเข้ามาในดินแดนของนาร์เนียได้อยู่ จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่าเมื่อความเป็นเด็กจางหายไป ความพิเศษที่จะได้เข้าไปดินแดนนี้ก็จะหายไปด้วย อาจตีความได้ว่าเมื่อเราโตขึ้นโลกแห่งจินตนาการในตัวเราก็จะลดลงเช่นกัน

ต่อมาคือเรื่อง The Polar Express เป็นเรื่องของเด็กกลุ่มหนึ่งที่ได้เดินทางไปขั้วโลกโดยรถไฟขบวนพิเศษ แต่สาระสำคัญที่เราจะพูดคือเมื่อตอนกลับมาจากการผจญภัยของพวกเขานั้น เขาได้รับกระดิ่งอันหนึ่งซึ่งส่งเสียงไพเราะ
เป็นกระดิ่งที่พ่อแม่ของเขาไม่ได้ยินเสียง มีแต่ซาร่าน้องของเขาและเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเท่านั้นที่ได้ยิน แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีเพียงเพียงเขาคนเดียวที่ได้ยินเสียงนั้น ดังที่ในภาพยนตร์ได้กล่าวไว้ว่า
            “  ในช่วงหนึ่งเพื่อนส่วนใหญ่ของผมได้ยินเสียง 
                แต่หลายปีผ่านไป พวกเขาก็ไม่ได้ยินเสียงมัน 
                แม้แต่ซาร่าเองก็ไม่ได้ยินเสียงกรุ๋งกริ๋งของมัน 
                ถึงผมจะโตขึ้นกระพรวนยังดังสำหรับผม เช่นเดียวกับทุกคนที่เชื่อจริงๆ  ”
                                                ( บทพากย์จากภาพยนตร์ The Polar Express )

      รูป 6 ภาพยนตร์เรื่อง The polar express

ต่อมาคือเรื่อง แม่มด เขียนโดย โรอัลด์ ดาห์ล ซึ่งในเรื่องพวกแม่มดเกลียดพวกเด็ก ๆ มาก  พราะเด็กมีความพิเศษคือมีกลิ่นเหม็นราวกับขี้หมา ทำให้พวกแม่มดจะต้องกำจัดเด็กพวกนี้ไปให้สิ้น ซาก เรื่องสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือเรื่อง ซากุระ มือปราบไพ่ทาโร่ ( Card captor sakura ) ซึ่งเป็นการ์ตูนอนิเมชั่นฉายเป็นตอนๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับไพ่ทาโร่ที่ถูกสร้างโดยโคล์วลีดถูกปลดผนึกออกไปทำเรื่องเลวร้ายต่างจน ซากุระต้องทำการผนึกไพ่พวกนั้น

รูป 7 ซากุระกับไพ่ทาโร่

จากเรื่องซากุระเองที่เป็นคนปล่อยไพ่ทาโร่จะผนึกโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่คนธรรมดาจะไม่สามารถเปิดผนึกได้ แสดงว่าเธอต้องมีพลังวิเศษดังที่ คาราเบรอส ภูติรักษาไพ่ทาโร่ได้กล่าวไว้ว่า

“ การที่เธอเปิดหนังสือนี่ออกได้ ก็แปลว่าเธอต้องมีพลังเวทย์
อยู่พอตัวเหมือนกันนั่นแหละน่า”
                                      ( คาราเบรอส จากเรื่อง ซากุระมือปราบไพ่ทาโร่ )

จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้ทำให้ได้เห็นถึงความพิเศษต่างๆของตัวละครเด็กในวรรณกรรมสำหรับเด็กชนิดต่างๆ ว่ามันสงวนได้ให้เด็กเสมอ เพื่อที่จะให้เด็กมีบทบาทสำคัญและเป็นที่น่าติดตามของผู้อ่าน กลับกันก็สามารถช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้แก่ผู้อ่านวัยเด็กได้อย่างดีอีกด้วย

ในความหลากหลายของตัวละครในหนังสือสำหรับเด็กนั้น มักมีความพิเศษที่มอบไว้ให้เด็ก         อาจจะเป็นเพราะความเชื่อที่ว่าเด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือ มีความสะอาด มีจิตสะอาดกว่าผู้ใหญ่ การที่เด็กมีความพิเศษและเป็นตัวดำเนินเรื่องในวรรณกรรมสำหรับเด็กนั้น ทำผู้อ่านที่เป็นเด็กนั้นมีอารมณ์ร่วมเพราะตัวละครอยู่ในวัยเดียวกัน และยังส่งเสริมจินตนาการอีกด้วยเพราะเมื่อมีความพิเศษแล้ว วรรณกรรมดังกล่าวมักจะกล่าวถึงอะไรที่อยู่เหนือธรรมชาติ มนต์วิเศษ เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่วรรณกรรมพวกนี้จะได้รับความนิยมในหมู่เด็กวัยเดียวกัน ความพิเศษที่เป็นสากลในเด็กนี้มักหยิบยื่นให้เด็กมีสิทธิ์อะไรมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งอยู่เหนือเงือนไขปกติเช่น มีความพิเศษที่จะทำอะไรสักอย่างที่ผู้ใหญ่ทำไม่ได้ เห็นอะไรที่ผู้ใหญ่มองไม่เห็น ได้รับอนุญาตให้ไปในดินแดนอื่น (ตามทฤษฎีคาร์นิวัลที่เคยเขียนให้อ่านไปแล้วในอีกบทความหนึ่ง) เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้เติบโตและเปลี่ยนผ่านประสบการณ์จากความพิเศษและการผจญภัยของพวกเขานั่นเอง


บรรณานุกรม

Lurie, Alison. Don't Tell the Grown-Ups: The Subversive Power of Children's Literature.
    New York: Back Bay Books,1998.

Nikolajeva, Maria. The Aesthetic  Appoaches to Children’s Literature: An Introduction.  
    Maryland:Scarecrow,2005.

Nikolajeva, Maria . Power, Voice and Subjectivity in Literature for Young Readers.
    New York: Routledge,2010.

Stephens, John. Language and Ideology in Children’s Fiction. London: Longman,1992

กุหลาบ มัลลิกะมาส. คติชาวบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร : สมาคมหนังสือแห่งประเทศไทย, 2516.

กล่อมจิตต์ พลายเวช. หนังสือสำหรับเด็ก. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2526.

ปราณี เชียงทอง. วรรณกรรมสำหรับเด็ก. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2526.

มิชาเอ็ล เอ็นเด้. โมโม่. แปลโดย ชินนรงค์ เนียวกุล.พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ : แพรวเยาวชน, 2547.

โมรีส ดรูอง. ติสตู นักปลูกต้นไม้. แปลโดย อำพรรณ โอตระกูล. กรุงเทพฯ : ผีเสื้อ, 2539.

ลูอิส, ซี. เอส. เก้าอี้เงิน. แปลโดย สุมนา บุณยะรัตเวช. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : ผีเสื้อ, 2549.
















-->