วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562

สำนึกรัก(ษ์)โลก จากเรื่องสู่ใจ

สำนึกรัก(ษ์)โลก จากเรื่องสู่ใจ


บทความโดย สมิทธิ อินทร์พิทักษ์







นโลกของการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม ไปถึงสังคมแห่งเทคโนโลยี Digital เป็นการเปลี่ยนผ่านของสังคมแบบดั้งเดิมสู่สังคมสมัยใหม่ นั่นหมายถึงความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของมนุษย์ สังคมทุนนิยมที่มองมนุษย์เป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล เมื่อเรามีเทคโนโลยีที่สามารถอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น สิ่งที่เราต้องแลกก็คือความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมหรือแม้กระทั่งชีวมณฑลของโลกใบนี้




การสร้างความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมในสังคมที่มนุษย์ ควรเริ่มทำตั้งแต่เล็ก นั่นหมายความว่าเราควรสร้างสำนึกเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ความตระหนักเกี่ยวกับบุญคุณของแผ่นดินหรือบุญคุณของโลกใบนี้ให้เกิดกับเด็ก สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาในการนำเสนอความคิดเช่นนี้มักถูกมองเป็นประเด็นรองของการศึกษา เช่น การนำวิธีคิดแบบสีเขียวนำไปสู่ห้องเรียนมักจะเป็นเรื่องรองไม่ใช่เนื้อหาหลัก บางครั้งอาจจะเป็นการประยุกต์ให้เข้ากับเนื้อหาต่าง ๆ ทั้งนี้ความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในทางกลับกันควรจะเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังและอยู่ในมโนสำนึกของเด็กเองตั้งแต่เยาว์วัยแล้ว

ปัจจุบันแนวคิดเรื่อง ปัญหาสิ่งแวดล้อมและแนวคิดเชิงนิเวศวิจารณ์ได้เป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาทั้งในเชิงเทคโนโลยี วรรณกรรม เราจะเห็นว่ามีโครงการ แคมเปญ การรณรงค์ หลายเรื่องที่มีความคิดสีเขียว หรือความคิดเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นแกนหลัก วรรณกรรมและวรรณคดีก็มีแนวคิดทฤษฎีวิจารณ์เรียกว่า Ecocriticism  ทำให้แนวคิดการวิจารณ์เชิงนิเวศถูกนำมาพูดถึงในวงเสวนาต่าง ๆ และได้ออกหนังสือมากมายที่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี ความคิดเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและประเด็นเกี่ยวกับนิเวศวิทยาหรือวรรณคดีวิจารณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมดูเหมือนจะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่และนิสิตนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับสังคม ธุรกิจ การตลาด หรือแม้กระทั่งนักศึกษาด้านวรรณคดี แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เด็กมีความคิดเชิงนิเวศตั้งแต่ยังเล็ก สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือการสร้างบุคลาธิษฐานของโลกขึ้นมาในลักษณะของตัวตนของโลกที่มีชีวิตจิตใจ ลักษณะคล้ายกับแนวคิดเรื่อง Gaia โลกมีชีวิต หนังสือเรื่องดังกล่าวคือหนังสือภาพเรื่อง "Hello , Mister World" เขียนเรื่องราวภาพโดย Michael Forman




Hello, Mister World เล่าเรื่องโดยเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง ผู้เขียนเรื่องเสนอภาพเป็นเด็กผู้หญิงผมบลอนด์และเด็กผู้ชายผิวดำซึ่งอาจจะสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมของความเป็นคนผิวขาวและความเป็นคนผิวดำ สวมบทบาทตัวเองเป็นหมอโดยคนไข้ที่มาพบในวันนั้นไม่ใช่คนป่วยอื่นใดนอกจาก "โลกที่มีขาเดินได้" เดินทางมาพบคุณหมอ (หรืออาจจะกลายเป็นว่าคุณหมอทั้งสองเดินทางไปพบคนไข้คือโลกด้วยตนเอง) ทั้งสองใช้คำถามว่า
"Hello, Mister World how are you today"
โลกที่กลายเป็นบุคลาธิษฐานได้ตอบกลับว่า
"Not good I don't feel well"
ด้วยความตระหนกตกใจจากคำตอบของโลก คุณหมอทั้งสองจึงรีบถามกลับไปว่า
"We Are Sorry to hear that does not seem to be the matter ?"  
ในหน้านี้เราจะเห็นโลกมีเฉดสีดำอยู่ด้านหลัง โลกตอบกลับว่า
"I keep getting hot and sweaty I find it hard to breathe"
"Let's check your temperature. Oh you are much too hot hop onto the bed. Please Mr World and we’ll have a closer look." หมอน้อยทั้งสองคนตอบ

จากการวินิจฉัยของหมอน้อย ผลออกมากลายเป็นว่า โลกกำลังร้อนเกินไป คุณโลกเองจะต้องทำตัวให้เย็นลง ตอนนี้มีบางส่วนที่เป็นน้ำแข็งกำลังละลาย ดูเหมือนว่าตอนนี้คุณโลกนี้กำลังร้อนมากขึ้นกว่าเดิมอีก หมอน้อยต้องการที่จะตรวจสอบและวินิจฉัยให้ละเอียดยิ่งขึ้น หมอน้อยใช้แว่นขยายส่องไปเห็นบรรดาสัตว์ตกอยู่ในอันตรายไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลายหรือการเกิดพายุฝนฟ้าคะนองจากสภาวะอากาศที่แปรปรวนทำให้สัตว์หลาย ๆ ชนิดตกที่นั่งลำบาก



"What else is wrong"  เป็นคำถามจากโลกที่สงสัยสิ่งที่เกิด
ขึ้นภายในตัวเอง ในโอกาสนี้หมอน้อยได้เอกซเรย์เพื่อตรวจดูให้แน่ชัดจึงพบว่าปัญหาสุขภาพที่แย่ลงของโลกเกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ควันไฟ



บรรดาสัตว์ต่างถามว่า "แล้วเราจะทำยังไงดีที่เราช่วยโลกนี้ให้ดีขึ้นได้" สัตว์ทุกตัวพร้อมที่จะร่วมมือกันช่วยฟื้นฟูโลกใบนี้อีกครั้ง ในหน้าสุดท้ายเป็นรูปของบรรดามนุษย์ทุกคนวิ่งกรูกันออกมาและสัญญาว่า
"And We will too ! We are the future Mr. Wolrd  and We will Look After You"









จากเรื่องดังกล่าวทำให้นึกถึงนิทานโบราณของจีนเรื่องหนึ่งที่ถึงวันที่โลกกำลังล่มสลาย บรรดาสัตว์ทุกตัวต่างวิ่งหาทางรอดชีวิต แต่มีนกอยู่ตัวหนึ่งไม่ยอมวิ่งไปไหน มันนอนราบกับพื้น ใช้ขาทั้งสองข้างชี้ขึ้นบนฟ้า บรรดาเพื่อนสัตว์ต่าง ๆ สงสัยในสิ่งที่เจ้านกกำลังทำอยู่ จึงถามว่า "นั่นเจ้าทำอะไรน่ะ" เจ้านกตอบว่า "วันนี้ฟ้าจะถล่มลงมา ฉันไม่รู้จะทำอย่างไร ฉันก็เลยนอนแล้วเอาขาชี้ฟ้าไว้ เพื่อว่าเมื่อฟ้าถล่มลงมา จะได้ค้ำฟ้าไว้" เพื่อน ๆ สัตว์ได้แต่หัวเราะในสิ่งที่นกกระทำ แต่นกก็ยังตั้งใจอย่างแรงกล้าแล้วตอบกลับไปว่า "นี่คือสิ่งที่ฉันทำได้ ณ ตอนนี้ แล้วพวกเธอล่ะ ทำอะไรได้บ้าง" บรรดาสัตว์ต่างมองหน้ากันเลิ่กลั่กเพราะไม่รู้จะอะไรได้บ้าง พวกมันไม่คิดที่จะช่วยอะไรเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่พยายามจะเอาตัวเองรอดเท่านั้น นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าชวนขันเรื่องหนึ่งแต่ก็แฝงไว้ด้วยจิตสำนึกสาธารณะซึ่งอาจจะสะท้อนถึงวิถีชีวิตในปัจจุบันที่เราต้องกลับมานั่งย้อนคิดว่า ลำพังเพียงเราหนึ่งคน เราสามารถช่วยโลกได้มากแค่ไหน


สมิทธิ อินทร์พิทักษ์
๑๘ เมษายน ๒๕๖๒
ในวันที่อากาศร้อนมาก ๆ


วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562

Sense of Wonder สิ่งเล็กที่ยิ่งใหญ่ในวรรณกรรมสำหรับเด็ก

Sense of Wonder สิ่งเล็กที่ยิ่งใหญ่ในวรรณกรรมสำหรับเด็ก


บทความโดย   สมิทธิ  อินทร์พิทักษ์



  

  ดอกไม้ที่อยู่ตามทางเท้า ดอกไม้ธรรมดาที่ไร้คุณค่าในสายตาของผู้ใหญ่หลาย ๆ คน อาจเป็นสิ่งมหัศจรรย์เล็ก ๆ ของเด็กผู้หญิงตัวน้อยในหนังสือภาพเรื่อง Sidewalk Flowers เขียนและวาดภาพประกอบโดย JonArno Lawson และ Sydney Smith


      Sidewalk Flowers ดำเนินเรื่องผ่านเด็กหญิงตัวน้อยที่เห็นความงดงามของความธรรมดาจากดอกไม้ที่ขึ้นอยู่ริมทางเท้า  ดอกไม้เหล่านี้ได้สร้างคุณค่ามากมายผ่านสายตาของเด็กน้อย ภาพของเมืองสีทึมเทากลับกระจ่างสดใสด้วยสีสันที่สวยสดงดงามซึ่งเป็นการย้ำเตือนและสร้างความหมายที่พิเศษของดอกไม้จ้อย ๆ เหล่านี้  

        ผ้าคลุมสีแดงของหนูน้อยราวกับจงใจที่จะแสดงสหบทกับนิทานพื้นบ้านเก่าแก่อย่างหนูน้อยหมวกแดง (Little Red Riding Hood) แต่คราวนี้กลับไร้วี่แววของหมาป่าร้าย อย่างไรก็ตามหนูน้อยยังต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ มากมายในชีวิตจริงของสังคมสมัยใหม่ที่อาจอันตรายกว่าเดิม แต่เนื่องด้วยการเน้นภาพความสวยงามของดอกไม้ข้างทาง ปมขัดแย้งหรือสถานการณ์ที่หนูน้อยต้องเจอกลับเรื่องสามัญในชีวิตระหว่างการเดินทางตามรอยเท้าคุณพ่อที่ไม่ชวนให้ขนลุกมากนัก




          ภาพแห่งความประทับใจแต่กลับสะเทือนใจในขณะเดียวกัน คือภาพของความสวยงามขัดกับประเด็นต้องห้ามและอ่อนไหวในวรรณกรรมสำหรับเด็กคือความตายและการสูญเสีย เมื่อเด็กน้อยเจอซากนกนอนแน่นิ่งอยู่ตรงหน้า 


               การสูญเสียมักมาในลักษณะของสีทึมเทาเพื่อสร้างอารมณ์เหงา เศร้า แต่ดอกไม้เล็ก ๆ จากมือเด็กน้อยกลับสร้างความสวยงามแห่งสีสันให้กลับมาสดใสอีกครั้ง ราวกับว่าสิ่งมหัศจรรย์เล็ก ๆ ได้เกิดขึ้นและขับความหม่นหมองออกไปได้ การมองโลกผ่านสายตาของเด็กน้อยนี้ แม้เป็นการกระทำเล็ก ๆ แต่กลับสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ จากดอกไม้ไร้ค่ากลายเป็นสิ่งแสดงความอาลัยที่สร้างความสว่างไสวในโลกน้อย ๆ ของเด็กหญิง

           การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความมหัศจรรย์และการเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ในโลกที่อาจดูเหี่ยวเฉาในมุมมองของใครหลาย ๆ คน  การศึกษาเกี่ยวกับเด็กและวัยเด็กได้ยืนยันถึงสิ่งที่เด็กมีแตกต่างจากผู้ใหญ่คือ SENSE OF WONDER  หรือในภาษาไทย อาจถอดความหมายได้ว่า ความรู้สึกถึงความมหัศจรรย์ในโลกรอบตัว  หากจะลองยกตัวอย่างง่าย ๆ อาจอธิบายได้ว่า เมื่อตอนเราเป็นเด็ก เราอาจจินจนาการว่า ในพุ่มไม้หน้าบ้านอาจจะมีเสือกระโจนออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เมื่อโตขึ้น สายตาของผู้ใหญ่ทำให้เราคิดว่าไม่มีทางที่เสือจะโผล่มาจากพุ่มไม้งี่เง่านั้นแน่ ซึ่งการมองโลกในมุมมองที่คิดถึงความเป็นไปได้เป็นหลักบวกกับการยึดยงหลักทางตรรกะที่ปราศจาก Sense of Wonder นั้น อาจทำให้เราพลาดโอกาสทางนวัตกรรมไปอย่างน่าเสียดาย  จะเกิดอะไรขึ้นหากสองพี่น้องตระกูลไรต์คิดตามตรรกะที่ว่า นกมีปีกบินได้  มนุษย์ไม่มีปีก  = มนุษย์บินไม่ได้  อาจกล่าวได้ว่าการคิดในกรอบของเหตุผลที่ขาดความเชื่อและจินตนาการอาจไม่ใช่คำตอบของความจริงทั้งหมด



        ในหนังสือภาพเรื่อง Not a Box เขียนและวาดภาพประกอบโดย Antoinette Portis  เล่าถึงกระต่ายตัวหนึ่งที่ยืนอยู่ข้างวัตถุสี่เหลี่ยมซึ่งตามชื่อเรื่องแล้วน่าจะเป็นกล่อง หากแต่ชื่อเรื่องได้ปฏิเสธผู้อ่านตั้งแต่วินาทีแรกคือ "มันไม่ใช่กล่อง" (Not a box) เมื่อเปิดอ่านไปเรื่อย ๆ จะเห็นความมหัศจรรย์ของจินตนาการของเด็ก  จากรูปทรงสี่เหลี่ยมที่ผู้ใหญ่คิดว่ามันคือกล่องนั้น สามารถกลายเป็นอย่างอื่นได้มากมาย เช่น ตึก  รถ  เรือ  ภูเขา  หุ่นยนต์  ฯลฯ   สำหรับเด็กนั้นเป็นเรื่องตื่นเต้นมาก แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่ไร้ Sense of Wonder  ก็คงไม่ต่างอะไรกับเรื่องธรรมดา ๆ เรื่องหนึ่ง







       Sense of Wonder นั้นไม่ได้ยึดยงกับเรื่องของจินตนาการเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อและพลังของความเชื่อด้วย อาจจะกล่าวได้ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับ Amendment เรื่อง the concept of fate and destiny กล่าวคือ ความเชื่อและความศรัทธาในการทำบางสิ่งบางอย่างที่คิดอยู่บนพื้นฐานว่า "ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้หากเรามีความพยายามมากพอ ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้" ซึ่งความคิดดังกล่าวมักสะท้อนอยู่ในธรรมชาติของเด็ก นั่นคือความศรัทธาและไม่กลัวในสิ่งที่ตัวเองทำว่าจะล้มเหลว  ดังที่  Ruth Krauss ได้เขียนอยู่ในหนังสือของเขาโดยมี Crockett Johnson  วาดภาพประกอบ คือ เรื่อง The Carrot Seed (มีแปลเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อว่า เมล็ดแครอต)




      The Carrot Seed เล่าถึงเด็กชายตัวน้อยที่หยอดเมล็ดแครอตลงไปในดิน โดยที่พ่อ แม่ และพี่ของเขาบอกอยู่เสมอว่า "ปลูกไปก็ไม่ขึ้นหรอก" สภาวการณ์ดูจะเป็นไปเช่นนั้น แต่เด็กชายไม่เคยท้อถอย เขายังคงคอยรดน้ำและพรวนดินอยู่เสมอโดยไม่มีท่าทีลังเลและสงสัยในสิ่งที่ตัวเองทำ จนในที่สุดต้นแครอตก็งอกงามขึ้นมา อย่างที่เด็กชายเชื่อมาตลอด "Just as the little boy had known it would."





     หนังสือภาพที่วางอยู่บนชั้นหนังสือสำหรับเด็กที่ดูไม่ได้สลักสำคัญอะไร อาจสะท้อนสิ่งเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งหลายคนอาจมองข้าม หนังสือเล่มน้อยเหล่านั้น อาจเป็นขุมคลังของพลัง ความฝัน ความหวัง ที่หลายคนอาจจะสูญเสียไปเพื่อแลกกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่  วันนี้อาจจะยังไม่สายเกินไป หากเราจะเดินทางย้อนกลับไปในฐานะผู้ใหญ่ แต่ใช้หัวใจและสายตาของเด็ก หยิบหนังสือเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่เหล่านี้มาเปิดอ่านเพื่อค้นพบแง่มุมที่ซ่อนอยู่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อปลอบประโลมใจ เพื่อลุกขึ้นสู้กับโลกอันวุ่นวายที่เรากำลังเผชิญอยู่  




๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒
สมิทธิ  อินทร์พิทักษ์
พุทธมณฑลสายสี่ กรุงเทพมหานคร