วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

The First Journey กับศักยภาพของหนังสือภาพสำหรับเด็ก

The First Journey ศักยภาพของหนังสือภาพสำหรับเด็ก

บทความโดย สมิทธิ อินทร์พิทักษ์


                     หนังสือภาพมีไว้ทำไม หลายคนเข้าใจว่าหนังสือภาพ (ขอใช้ในความหมายเดียวกับ นิทานภาพ หนังสือนิทานภาพ นิทาน ซึ่งมีธรรมชาติและรูปลักษณ์ของการดำเนินเรื่องด้วยการสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างคำและภาพ หรือภาพอย่างเดียวในกรณีของ Wordless Picture book) มีไว้สอนเรื่องราวง่าย ๆ สำหรับเด็ก การนับเลขผ่านตัวละครที่เป็นสัตว์ เช่น เลข ๑ มีนก ๑ ตัว เลข ๒ มีแมว ๒ ตัว หรือสอนเกี่ยวกับสี รูปทรงต่าง ๆ เวลา สิ่งของที่เป็นหมวดหมู่ ซึ่งก็อาจจะนับว่าถูกส่วนหนึ่ง แต่หนังสือภาพลักษณะนี้ เราจะเรียกว่า Concept book ที่นำเสนอความคิดรวบยอดให้กับเด็กเล็ก ๆ ในวัยอนุบาล แต่ในบทความนี้จะพูดถึงหนังสือภาพที่มีความซับซ้อนในระดับของเรื่องเล่า (Narrative) ซึ่งแตกต่างจากวรรณกรรมทั่ว ๆ ไปที่อาศัยแต่ตัวอักษรในการสื่อสาร กล่าวคือ หนังสือภาพใช้ทั้งภาพและคำ

                     หนังสือภาพเรื่อง The First Journey เขียนและวาดภาพประกอบโดยศิลปินชาวเวียดนามคือ  Phung Nguyen Quang และ Huynh Kim Lien  หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล Scholastic Picture Book Award ในปี ๒๐๑๕




       จากภาพหน้าปกคือ ภาพของเด็กชายคนหนึ่งที่กำลังพายเรืออยู่กลางลำน้ำพร้อมทั้งชื่อเรื่องคือ The First Journey (การเดินทางครั้งแรก หรืออยากจะแปลว่า การผจญภัยครั้งแรก ก็ไม่น่าจะผิดอะไร ) อาจชวนทำให้คิดว่าเป็นการเดินทางไปในโลกมหัศจรรย์หรือดินแดนเหนือจริง (Fantasy World) อีกทั้งสีของผืนน้ำที่มีสีดำอมเขียวชวนให้นึกถึงภัยอันตรายที่แอบแฝงอยู่เบื้องล่าง อย่างไรก็ดีภาพของดอกบัวสีชมพูที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ๕ ดอกนั้น ช่วยขับความรู้สึกน่ากลัวออกไปได้บ้าง ทำให้ภาพที่เห็นคงไว้ซึ่งธรรมชาติที่งดงามของลำน้ำ หากไม่มีดอกบัว ๕ ดอกนี้ อารมณ์ของภาพก็ย่อมแตกต่างออกไป แสดงถึงกลวิธีทางศิลปะที่จะช่วยสร้างอารมณ์ให้แก่ภาพและเรื่อง

        ถึงแม้การผจญภัยครั้งแรกครั้งนี้จะดูเหมือนว่าเป็นการผจญภัยไปในโลกเหนือจริง แต่ความจริงแล้ว  The First Journey  เล่าถึงการเดินทางไปในโลกของเรา โดยระบุชัดเจนไว้ท้ายเรื่องว่า ฉากในเรื่องคือดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนามในฤดูน้ำหลาก (Floating Season) ช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ช่วงเวลานี้บ้านเรือนและทุ่งนาจะจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด เด็ก ๆ จำเป็นต้องไปโรงเรียนโดยใช้เรือ พ่อแม่บางคนอาจจ้างคนแจวเรือพาลูกตนไปส่งถึงโรงเรียน แต่ก็มีเด็ก ๆ บางคนที่ต้องพายเรือไปโดยลำพัง แอน (An) ตัวละครเอกของเรื่องคือหนึ่งในนั้น

       
  

"I row lightly through my village, past tree tops and roof tops"


            ภาพของหมู่บ้านจมอยู่ใต้น้ำปรากฏแก่สายตาของแอนและผู้อ่าน แผ่นน้ำอันเวิงว้างจนสุดขอบฟ้าแสดงถึงหนทางข้างหน้าที่ตัวละครจะต้องเดินทางไป แน่นอนว่าผู้อ่านก็จะติดตามตัวละครไปด้วยเช่นกัน สำหรับเด็กหลาย ๆ คนแล้ว ภาพที่ปรากฏตรงหน้าอาจเป็นเรื่องแปลกใหม่ เด็กไทยเองหลายคนอาจจะชินกับภาพดังกล่าวบ้างเนื่องจากวิกฤตทางอุทกภัยในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ธรรมชาติที่คุมไม่ได้กับเด็กที่ยังไม่พร้อมจะช่วยเหลือตัวเอง เป็นความท้าทายที่ผู้อ่านและตัวละครจะต้องฟันฝ่าไป เมื่อธรรมชาติรอบตัวสร้างความขัดแย้งกับสภาพความเป็นอยู่ แต่ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป เด็กน้อยคนหนึ่งจึงคว้าพายพร้อมผจญโลกเบื้องหน้า 




"...to the paddy fields where the rain pours down."

           บางครั้งโชคชะตามักเล่นตลก แม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดก็ยังมีอุปสรรคเข้ามาซ้ำเติม นี่คือความจริงซึ่งทุกชีวิตต้องเจอ สำหรับแอนแล้ว แม้ฝนจะตกกระหน่ำลงมา แต่เขาก็สู้ รับมือ และไม่ท้อถอย เขาเด็ดใบบัวแถวนั้นเพื่อนำมาใช้วิดน้ำออกจากเรือ หลายครั้งที่ความช่วยเหลือจะมาหาผู้ที่สมควรได้รับ เพียงแต่ว่าเราต้องมองหาแล้วลงมือช่วยเหลือตัวเองด้วย
              
           


"The sun has yet to rise, darkness surrounds me. 
What lurks in the water ? What if I fall out of my boat ?  
The deeper I go, the more afraid I am... But I can't turn back."

              แม้ธรรมชาติหรือศัตรูภายนอกจะน่ากลัวแค่ไหน ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่าจิตใจของตัวเราเอง ท้ายที่สุดแล้วหลังจากต่อสู้กับภัยอันตราย ศัตรูคู่แค้น หรือฝนที่กระหน่ำ เราจะพบกับสิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่ไม่ได้อยู่ในถ้ำอันมืดมิดหรือสุสานอันสยองพองเกล้า หากแต่เป็นสิ่งที่อยู่กับเรามาโดยตลอด  นั่นคือความคิดของตัวเราเอง จิตใจที่ปรุงแต่ง มโนคิดที่ท้อถอยซึ่งมักสร้างพลังด้านลบแก่เรา หากวันนั้นมาถึง เราอาจจะต้อง(จำเป็นต้อง) ใช้พลังหรือกำลังอย่างมากเพื่อรับมือกับอำนาจที่ยิ่งใหญ่ซึ่งสร้างมาจากตัวเราเอง




                           
                  หลังจากที่ผจญภัยมาตั้งแต่ตอนจนถึงตอนจบ แน่นอนว่าแอนจะต้องถึงโรงเรียนและพบกับเพื่อน ๆ และครูที่ต่างฟันฝ่าอุปสรรคมาเหมือนกัน  ดังที่ผู้อ่านอย่างเรา ๆ เดากันได้ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนบทความไม่ขอนำภาพตอนจบมาให้ดู รวมถึงภาพอืน ๆ ในเรื่องนี้ด้วย เพื่อหวังว่าผู้อ่านบทความจะหาโอกาสหยิบหนังสือเล่มนี้มาดูด้วยตนเอง อย่างที่รู้กันว่า หนังสือภาพหลาย ๆ เล่มมีสองนัยแห่งความหมาย กล่าวคือนัยที่ผู้อ่านวัยเด็กอ่านก็จะได้อย่างหนึ่ง ผู้อ่านวัยผู้ใหญ่อ่านก็จะได้ความหมายอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นการไม่นำภาพตอนจบจากเรื่องมาให้ชมเพื่ออยากให้ผู้อ่าน อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวเองแล้ว ยังสื่อความอีกนัยหนึ่งว่า เราจะต้องเดินทางในการผจญภัยของตัวเอง ฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านั้น อุปสรรคของเรา เอาชนะจิตใจด้านมืดของเรา สุดท้าย เราจะพบตอนจบนั้นเอง ตอนจบที่เป็นของเราอย่างแท้จริง

สมิทธิ อินทร์พิทักษ์
8/1/2561
                                                                  



วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2561

Picturebook หนังสือภาพ : บทเรียนที่เรียนรู้มากกว่าแค่เรื่องของเด็ก

Picturebook หนังสือภาพ : บทเรียนที่เรียนรู้มากกว่าแค่เรื่องของเด็ก



บทความโดย  สมิทธิ อินทร์พิทักษ์




         คำว่า  หนังสือภาพ นิทานภาพ หนังสือนิทานภาพ หรือ นิทาน นั้น เป็นคำที่มักเข้าใจว่าหมายถึงสิ่งเดียวกันในตลาดหนังสือสำหรับเด็ก ซึ่งมักหมายถึงหนังสือที่มีภาพและคำควบคู่กันไปในการเล่าเรื่อง อย่างไรก็ดี โลกวิชาการในแวดวงวรรณกรรมสำหรับเด็กนั้น มีข้อถกเถียงอยู่พอสมควรของความหมายของคำดังกล่าว และอะไรกันแน่ที่เป็นธรรมชาติของนิทานภาพหรือผู้อ่านวัยใดที่เป็นเจ้าของวรรณกรรมประเภทนี้โดยแท้จริง จากคำถามดังกล่าว อาจแยกเป็นหัวข้อย่อย ๆ ได้ดังนี้

                          ๑. คำที่ควรเรียกใช้วรรณกรรมประเภทนี้ ส่วนมากในภาษาอังกฤษมักจะใช้ต่างกันไปในตำราหลาย ๆ เล่ม เช่น Picture book   Picturebook   Picture-book
                          
                         ๒. ธรรมชาติของหนังสือภาพและการเล่าเรื่องของหนังสือภาพเป็นอย่างไร  ประเด็นนี้ทำให้มีคำศัพท์แตกออกไปอีก เช่น หนังสือภาพ หนังสือภาพไร้ตัวอักษร (ซึ่งหนังสือภาพไร้ตัวอักษรนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอีกว่าจะเรียกว่าหนังสือที่ไร้ตัวอักษรได้หรือไม่ เพราะแท้จริงแล้วมีตัวอักษรปรากฏในหนังสือด้วย เช่น ชื่อเรื่อง คำนำ ข้อมูลสำนักพิมพ์ คำอุทิศ ) หนังสือที่มีภาพประกอบ ฯลฯ

                         ๓. กลุ่มผู้อ่านวัยใดที่เป็นเป้าหมายของวรรณกรรมประเภทนี้ เดิมทีความเข้าใจพื้นฐานของผู้คนทั่วไปน่าจะเป็นเด็กเล็ก ๆ จนถึงเด็กประถม แต่นิทานภาพบางเล่มเมื่ออ่านแล้วกลับพบว่าเนื้อหาและศิลปะของภาพประกอบดูลึกซึ้งเกินกว่าที่เด็กจะอ่านและมีแนวโน้มจะสื่อความหมายบางประการให้กับผู้ใหญ่หรือบุคคลทั่วไป เช่น นิทานภาพเรื่อง The Red Tree ของ Shaun Tan  โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับคนที่อยู่ในสภาวะหดหู่ ซึมเศร้า และในท้ายที่สุดก็ได้พบกับความหวัง



หน้าปกหนังสือเรื่อง The Red Tree

      ในหนังสือภาพเล่มนี้มีตัวหนังสือเพียงเล็กน้อย บางหน้ามีแค่เพียงประโยคเดียว ผู้สร้างได้ใช้กลวิธีทางศิลปะในการถ่ายทอดอารมณ์มาสู่ผู้อ่านได้อย่างดีเยี่ยม



ภาพบางส่วนจากในหนังสือ The Red Tree  

                 จากตัวอย่างภาพที่ยกมาจะเห็นได้ว่า มีคำบรรยายประกอบคือ "Darkness overcomes you" หรือ "ความมืดได้เอาชนะคุณ" ภาพที่เล่าเรื่องควบคู่กันแสดงภาพของปลาตัวขนาดยักษ์ที่ลอยอยู่เหนือตัวละครผู้หญิงผมทองซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่องกำลังเดินก้มหน้าแสดงถึงภาวะความเศร้า หมดหวัง หดหู่ เงาดำขนาดยักษ์ที่โอบล้อมพื้นที่โดยรอบ พร้อมกับตัวละครอื่น ๆ ที่ผู้อ่านไม่สามารถเห็นหน้าได้ มีทั้งหันหลังให้ หันหน้าไปทางอื่น ก้มอ่านหนังสือพิมพ์ สร้างความรู้สึกเพิกเฉย ลำพัง เหงา ให้กับผู้อ่านส่งผลให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี

               หนังสือภาพเรื่อง  Duck, Death and the Tulip ของ Wolf Erlbruch เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่นำเสนอประเด็นที่ลึกซึ้งและค่อนข้างเคร่งเครียด นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับความตาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับเด็กมาตั้งแต่ยุคแรก โดย Wolf Erlbruch เสนอเรื่องผ่านมุมมองที่เบาสมอง เรียบง่าย แต่ยังคงไว้ซึ่งความสะเทือนใจ


ภาพหน้าปกหนังสือภาพเรื่อง Duck, Death and the Tulip

              Duck, Death and the Tulip เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเป็ดที่เริ่มสังเกตเห็นว่าตัวมันกำลังถูกความตายในชุดผ้าคลุมยาวติดตาม 

                                            For a while now ; Duck had had a feeling.
                              "Who are you ? What are you up to, Creeping along behind me ?"

            เป็ดเริ่มรู้สึกกลัวแต่หลังจากลังเลอยู่นาน มันก็เริ่มทำความรู้จักกับความตายและเป็นเพื่อนกัน    ทั้งเป็ดและความตายได้พูดคุยกันถึงเรื่องชีวิตและเรื่องราวหลังความตาย จนในที่สุดสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็มาถึง นั่นคือ เป็ดได้ตายลง  Wolf  Erlbruch ได้นำเสนอภาพการตายนี้อย่างงดงาม มีเสน่ห์และสะเทือนอารมณ์ ผ่านภาษากวีและภาพประกอบที่ส่งผ่านไปยังผู้อ่านอย่างสะเทือนใจ เรียบง่าย ทรงพลัง


 “ความตายลูบขนที่ลู่ไปมาให้เข้าที่เข้าทาง แล้วเขาก็อุ้มเธอไปที่แม่น้ำสายใหญ่”

              

“เขาวางเธอลงอย่างนุ่มนวลลงบนผิวน้ำ และปล่อยให้เธอไปตามทางของเธอเอง”


              ในนิทานภาพเรื่องนี้เราจะเห็นบางอย่างที่แสนจะพิเศษ คือเราได้เห็นการวางภาพและคำที่ลงตัวอย่างมาก ทำให้นิทานภาพเรื่องนี้เป็นหนังสือที่งดงาม ทุก ๆ อย่างที่บรรจงเลือกมาใส่มีความเหมาะเจาะ แม้กระทั้งสีของพื้นหลังที่เป็นสีขาวนวลโทนงาช้าง การวางฉากที่ไม่เยอะนักประกอบกับการวางคำที่น้อยและลื่นไหลไปกับภาพ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ Duck, Death and the Tulip เป็นประดุจงานศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องของความหมายและอารมณ์ที่สามารถส่งผ่านสู่ผู้อ่านผ่านความสัมพันธ์กันระหว่างคำและภาพ

               ความสัมพันธ์ระหว่างคำและภาพได้เคยถูกเสนอมาแล้วจากงานศึกษาของนักวิชาการหลาย ๆ คน เช่น Sipe ในเรื่องเรื่อง How Picture Books Works : A Semiotically Framed Theory of Text-Picture Relationships :1998 ซึ่งเสนอไว้หลายทฤษฎีและคนอื่น ๆ  (Golden 1990; Lewis 1996; Nodelman 1988; Nikolajeva และ Scott 2001; Schwarcz 1982) โดยแต่ละทฤษฎีการมีความหลากหลายเกี่ยวกับนิยามของความสัมพันธ์ระหว่างคำและภาพ

Schwarcz เสนอความสัมพันธ์สองแบบของคำและภาพคือความคล้อยตามกันกับความเบี่ยงเบนหรือไม่สอดคล้องกัน เขาอธิบายความกลมกลืนกันซึ่งแสดงถึงความผสาน ที่สมบูรณ์ระหว่างภาพกับคำซึ่งเติมเต็มกันในหลากหลายหนทาง ซึ่งความผสานกลมกลืนที่ Schwarcz กล่าวมานี้ เราสามารถเห็นได้ชัดในนิทานภาพเรื่อง Duck, Death and the Tulip ซึ่งทั้งภาพและคำมีบทบาทในการเล่าเรื่องทั้งคู่ บางครั้งคำเล่าเรื่องนำภาพ แต่บางครั้งภาพก็เล่าเรื่องนำไปมากกว่าคำแต่สร้างความกลมกลืนในระดับองค์รวมได้ นักวิชาการที่ศึกษาด้านนิทานภาพอีกคนคือ Sinp ได้กล่าวว่า “ทั้งคำและภาพประกอบจะไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์ หากปราศจากการอยู่ด้วยกัน คำและภาพเป็นความสัมพันธ์ที่สมมาตรกันและมีความสัมพันธ์ในแบบองค์รวม ซึ่งผลดังกล่าวไม่ใช่แค่เพียงการผสมผสานกันเท่านั้น แต่จะต้องเข้าใจถึงการปฏิสัมพันธ์กันของทั้งสองส่วนด้วย” 

ในการพิจารณาการเคียงกันของคำและภาพในหนังสือนิทานภาพนั้น นักวิชาการชื่อว่า Stanton กล่าวว่า “ภาพไม่ใช่เป็นเพียงภาพที่ใช้ประกอบคำ และคำก็ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือที่อธิบายภาพ แต่ทั้งคำและภาพนั้นต่างมีอิสระและความหมายในตัวเอง โดยเมื่อมาปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันก็จะทำให้เกิดผลทางความหมายด้วย” ซึ่งกล่าวนี้สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคำและภาพในหนังสือภาพเรื่อง Duck, Death and the Tulip ได้เป็นอย่างดี  ภาพประกอบของเรื่องนั้นนำเสนอเป็ดและความตาย ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ส่วนคำก็นำเสนอบทสนทนาของทั้งคู่ ซึ่งนี่ช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจ การเล่าเรื่อง การดำเนินไปของเรื่องจากความแตกต่างระหว่างสองสื่อกลางในการเล่าเรื่องคือคำกับภาพได้ อย่างเรียบง่ายแต่มีพลังตรึงใจผู้อ่าน
       
        จากตัวอย่างนิทานภาพทั้งสองเรื่องนั้นแสดงให้เห็นว่า หนังสือภาพมีความลึกซึ้งเกินกว่าระดับของเด็กเล็ก ๆ ทั้งนี้ผู้เขียนบทความก็ไม่ได้ทึกทักเอาเอง แต่มีการศึกษาเชิงวิชาการหลายเล่มที่กล่าวถึงความลึกซึ้งของนิทานภาพซึ่งสามารถกลายมาเป็นวรรณกรรมสำหรับทุกช่วงวัยของอายุได้ เช่น หนังสือเรื่อง Crossover Picturebooks : A Genre for All Ages ในหนังสือชุด Children's Literature and Culture  เขียนโดย Sandra Beckett โดย  Beckett ได้เสนอประเด็นของการข้ามช่วงวัยการอ่านหนังสือภาพเนื่องด้วยธรรมชาติและพัฒนาการของหนังสือภาพที่เปลี่ยนไปทั้งด้านรูปลักษณ์ ลักษณะเนื้อหา และประเด็นที่ลึกซึ้งเกินกว่าเด็กจะเข้าใจ เช่น ประเด็นเรื่องอ่อนไหวหรือมุมมองทางปรัชญา 


ภาพปกจากหนังสือเรื่อง Crossover Picturebooks: A Genre for All Ages


           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาหนังสือภาพที่มีเนื้อหาที่เป็นข้อถกเถียงหรือ Challenging and Controversial Picturebooks ในหนังสือเรื่อง Challenging and Controversial Picturebooks: Creative and critical responses to visual texts บรรณาธิการโดย Janet Evans  ซึ่งรวมบทความศึกษาว่าเด็กตอบสนองประเด็นที่ยากหรือประเด็นที่ต้องห้ามเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งเกือบทุกบทความในเล่มนี้ย้ำเตือนว่า เด็กมีศักยภาพเพียงพอที่รับรู้หรือทำความเข้าใจเรื่องที่ยากได้อย่างสร้างสรรค์ ทำให้ผู้อ่านบทความรู้สึกราวกับว่า ผู้ใหญ่ได้วางกรอบ limit ให้กับเด็กเกินไปทั้ง ๆ ที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้เกิน limit นั้น


 ภาพปกหนังสือ Challenging and Controversial Picturebooks: Creative and critical responses to visual texts


       จากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการศึกษานิทานภาพ หนังสือภาพสำหรับเด็กเท่านั้น หากมีเวลาว่าง ๆ จะมาเล่าให้ฟังใหม่ ถึงแม้บทความนี้อาจจะยังไม่จบสิ้นสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ดี ย่อมทำให้ผู้อ่านตระหนักได้ว่า หนังสือภาพไม่ใช่เรื่องเด็ก ๆ อย่างชื่อบทความที่ตั้งไว้ Picturebook หนังสือภาพ : บทเรียนที่เรียนรู้มากกว่าแค่เรื่องของเด็ก........ สวัสดี





สมิทธิ  อินทร์พิทักษ์
3/มกราคม/2561